ป่าชุมชนในประเทศไทยขณะนี้มีอยู่ประมาณ 12,000 แห่ง โจทย์ใหญ่คือจะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจสูงสุด? ออกมาบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2562 ผ่านมา 4 ปียังไม่มีงานวิจัยเพื่อเพิ่มองค์ความรู้ในการบริหารจัดการป่าชุมชนเลย

เมื่อ 75 ปีก่อน ประเทศไทยมีพื้นที่ป่า 171 ล้านไร่ คิดเป็น 54% ของพื้นที่ประเทศ ต่อมาปี 2562 สำรวจพบพื้นที่ป่าเหลือแค่ 102.4 ล้านไร่ ลดลงถึง 32% ภาคเหนือมีป่ามากที่สุด คิดเป็นป่า 40% ของพื้นที่ป่าทั้งประเทศ โดย 5 จังหวัดภาคเหนือที่มีสัดส่วนพื้นที่ป่ามากที่สุดได้แก่ จ.แม่ฮ่องสอน มีพื้นที่ป่า 85.51% จ.ตาก มีพื้นที่ป่า 71.98% จ.ลำปาง มีพื้นที่ป่า 70.04% จ.เชียงใหม่ 69.59% จ.แพร่ 64.84%

การมีพื้นที่ป่าไม้ส่งผลดีแน่นอนในแง่ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ แต่ในอีกมิติหนึ่งก็เกิดปัญหาทำให้คนไม่มีที่ดินทำกิน เช่น จ.แม่ฮ่องสอน เหลือพื้นที่การเกษตรน้อยมาก กลายเป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศ (คิดจากจีดีพีจังหวัด) ขณะที่ จ.แพร่ ก็ยากจนเป็นอันดับ 2 ของภาคเหนือ

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการจ้างชาวอังกฤษเข้ามาสำรวจทรัพยากรไม้สักใน 8 จังหวัดมณฑลพายัพ พบว่า ไม้สักไทยมีคุณภาพดีเยี่ยมเนื้อไม้แข็ง ทนน้ำ เพรียงไม่เกาะ ทำให้มีบริษัทต่างชาติหลายเจ้าเข้ามาขอสัมปทานไม้ เช่น บริษัทบอมเบย์เบอร์มา บริษัทบริติช บอร์เนียว บริษัทอีสต์เอเชียติก มีการส่งออกไม้สักไปยุโรปเพื่อทำเรือ เกิดเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

...

เมื่อธุรกิจเฟื่องฟูก็มีการตั้งสถาบันการศึกษาเพื่อผลิตบุคลากรมาป้อนตลาด ปี 2458 รัฐบาลไทยตั้ง โรงเรียนสอนวิชาการป่าไม้ แห่งแรก ที่วังใหม่สระปทุม กรุงเทพฯ แต่เปิดได้แค่ 3 ปีก็ยุบไป จนถึงปี 2478 บริษัทอีสต์เอเชียติกหมดสัญญาสัมปทานป่าไม้ ได้มอบสถานที่และอาคารที่ทำการของบริษัทที่ จ.แพร่ให้กรมป่าไม้ใช้เป็น กองโรงเรียนป่าไม้ หรือ โรงเรียนการป่าไม้

หลังจากนั้นมีการเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนวนศาสตร์ ต่อมายกฐานะเป็น วิทยาลัยวนศาสตร์ แล้วก็เป็น คณะวนศาสตร์ สังกัดมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ โดยย้ายสถานที่จาก อ.เมืองแพร่ มาอยู่ที่ ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน ต่อมาปี 2499 กรมป่าไม้ได้เปิด โรงเรียนการป่าไม้แพร่ ขึ้นอีกครั้ง เป็นหลักสูตรอบรมประกาศนียบัตรวิชาการป่าไม้ 2 ปี จนถึงปี 2536 โรงเรียนการป่าไม้แพร่ได้ปิดตัวอย่างถาวร ช่วงปี 2499-2536 มีผู้จบการศึกษา 36 รุ่น จำนวน 6,080 คน

คณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา เล็งเห็นความสำคัญของป่าชุมชน เศรษฐกิจในผืนป่า และปัญหาความยากจนในพื้นที่ ซึ่งยังไม่มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมมาช่วยยกระดับ จึงได้เข้าไปช่วยผลักดันเพื่อให้เกิดสถาบันความรู้ด้านการจัดการป่าไม้ขึ้นมาอีกครั้ง

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้มีพิธีลงนาม เอ็มโอยูว่าด้วยความร่วมมือจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมด้านป่าไม้จังหวัดแพร่ ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจภายใต้ผืนป่า Economy Under the Forest ระหว่างกรมป่าไม้ จังหวัดแพร่ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ วิทยาลัยชุมชนแพร่ อบจ.แพร่ และเทศบาลเมืองแพร่ โดยมีคณะกรรมาธิการฯเป็นสักขีพยาน

ส.ว.อภิชาติ โตดิลกเวชช์ กรรมาธิการฯ เผยว่า เป้าหมายในการจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมด้านป่าไม้คือ 1.สร้างเครือข่ายภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ และประชาชนเพื่อจัดการด้านป่าไม้และทรัพยากรป่าไม้แบบใหม่ 2.วิจัยและพัฒนานวัตกรรม แก้ปัญหาตอบสนองความต้องการของประเทศ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมด้านนวัตกรรมป่าไม้ กลุ่มทรัพยากรสิ่งแวดล้อม กลุ่มอุตสาหกรรมบริการการท่องเที่ยวและเชิงสุขภาพ กลุ่มทรัพยากรมนุษย์ 3.ถ่ายทอดผลงานวิชาการในพื้นที่ เช่น หลักสูตรป่าชุมชน ผลิตผู้ประกอบการอาชีพอิสระ ธุรกิจครอบครัว หรือผู้ประกอบการขนาดเล็ก

เท่าที่ผมทราบข้อมูลเบื้องต้น ตามไทม์ไลน์การจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมด้านป่าไม้จังหวัดแพร่น่าจะเสร็จภายใน 1 ปี และในอนาคตสามารถพัฒนาไปเป็นโรงเรียนนานาชาติด้านการป่าไม้ สถาบันเฟอร์นิเจอร์ไม้สักแห่งชาติ และชุมชนงานคราฟต์ระดับประเทศ.

ลมกรด