ทุเรียนพื้นบ้านเริ่มหาสายพันธุ์แท้ได้ยากขึ้นทุกวัน บางสายพันธุ์แทบไม่ได้พบเห็นกันแล้ว ขณะที่บางสายพันธุ์กำลังถูกลืมเลือนไปจากสังคมไทย
เพราะหันไปปลูกพันธุ์การค้าที่ทำกำไร ไม่ว่าจะเป็นหมอนทอง ชะนี หรือก้านยาว ส่วนบางสายพันธุ์ที่พอมีศักยภาพทางเศรษฐกิจก็สุ่มเสี่ยงกลายพันธุ์จากหลายปัจจัย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) จึงได้สนับสนุนการศึกษาการขยายพันธุ์ทุเรียนในสภาพปลอดเชื้อด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจนสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก ในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อทุเรียน
“เรามุ่งเน้นการขยายพันธุ์ทุเรียนด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อการอนุรักษ์พันธุกรรมทุเรียนหลงลับแล หลินลับแล และทุเรียนพื้นเมืองคุณภาพดีในเขตภาคเหนือตอนล่าง เพื่อให้ได้ทุเรียนที่มีลักษณะตรงตามสายพันธุ์อย่างแท้จริง และสามารถให้ผลผลิตที่มีคุณภาพตามต้นแม่พันธุ์ ป้องกันการสูญหายของสายพันธุ์ต่างๆ โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ไม่ใช่พันธุ์การค้า ที่เกษตรกรไม่นิยมปลูก อันจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขยายพันธุ์ทุเรียนในอนาคต และได้คุณภาพด้านรสชาติที่ตรงตามความต้องการผู้บริโภค”
...
รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เล่าถึงที่มาของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อทุเรียนสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก
เริ่มจากการคัดเลือกสายพันธุ์ทุเรียนที่มีอัตลักษณ์ในแต่ละพื้นที่ พันธุ์ทุเรียนที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจในอนาคต นอกจากนี้ยังมีพันธุ์การค้าที่มีชื่อเสียง โดยทุเรียนที่ทำการทดลองมี 3 สายพันธุ์ ได้แก่ หลงลับแล หลินลับแล และพันธุ์พื้นเมือง และคุณลักษณะทางการเกษตรที่ดีและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค เพื่อนำมาขยายพันธุ์ด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ทำให้การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพียงคราเดียว สามารถเพิ่มปริมาณได้อย่างทวีคูณ อันจะส่งผลให้ทุเรียนมีคุณภาพดีสม่ำเสมอ เกษตรกรผู้ปลูกและผู้ประกอบการได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ขั้นตอนต่อมาเมื่อได้สายพันธุ์ที่คัดเลือกแล้ว ก็ตัดชิ้นส่วนของทุเรียนที่ต้องการ ล้างด้วยสารชำระล้างให้สะอาด จากนั้นนำมาแช่สารละลายกรดซิตริก 150 มก./ลิตร ร่วมกับสารละลายกรดแอสเคอร์บิก 100 มก./ลิตร นาน 15 นาที ฟอกฆ่าเชื้อด้วย NaOCL ร่วมกับสารจับใบนาน 10 นาที จากนั้นตัดแบ่งตายอด พร้อมนำลงอาหารแข็ง สังเกตการพัฒนาของเนื้อเยื่อ และบันทึกผลทุกสัปดาห์เป็นเวลา 8 สัปดาห์ จะเริ่มเห็นยอดอ่อนเริ่มแตก
สำหรับประโยชน์ที่เกษตรกรหรือผู้ประกอบการจะได้รับในการขยายพันธุ์ทุเรียนด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ รศ.ดร.พีระศักดิ์ อธิบายว่า จะทำให้ได้ทุเรียนที่มีลักษณะตรงตามสายพันธุ์ 100% ที่ให้ผลผลิตมีคุณภาพตามต้นแม่พันธุ์ เช่น ลักษณะของเนื้อ รสชาติ คงอัตลักษณ์ทุเรียนชนิดนั้นๆ ขณะเดียวกันยังสามารถตอบสนองความต้องการของเกษตรกรที่มีความต้องการเพาะปลูกทุเรียนที่มีปริมาณมากในท้องตลาดได้ พร้อมไปกับส่งเสริมภาคธุรกิจทุเรียนที่มีอัตลักษณ์ในแต่ละพื้นที่ให้มีการเติบโตมากขึ้นกว่าเดิม และสามารถสร้างผลิตผลของทุเรียนได้ตรงตามสายพันธุ์ และได้คุณภาพด้านรสชาติที่ตรงตามความต้องการผู้บริโภค
ดร.พีระศักดิ์ บอกในตอนท้ายว่า “เทคโนโลยีนี้จะเป็นประโยชน์กับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อไม้พันธุ์อื่นเพื่อการอนุรักษ์ โดยเฉพาะกับไม้หายาก ไม้เศรษฐกิจ เพื่อป้องกันการกลายพันธุ์ และสูญพันธุ์ ขณะเดียวกันก็ได้ไม้ที่มีคุณภาพ ทำให้ผู้บริโภคได้ไม้ตรงกับความต้องการอย่างแท้จริง”.
...
กรวัฒน์ วีนิล