ภาพถ่าย “หลวงพ่อโบ้ย” ติดกรอบแขวนบูชาเด่นเป็นสง่าภายในร้าน “ป.ไส้เนื้อ” ต.บางปลาม้า อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี เจ้าของมีศรัทธาเชื่ออย่างมากยิ่งในพุทธคุณ...เมตตามหานิยม ค้าขายดีคล่อง แล้วก็เรื่องแคล้วคลาด

หลวงพ่อโบ้ย แฟ้มประวัติระบุว่าเกิดที่บ้านสามหมื่น ต.บางปลาม้า อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี เมื่อพุทธศักราช 2434 ท่านชอบเข้าวัด ฟังธรรม ฟังเทศน์ พร้อมช่วยเหลือการงานต่างๆภายในวัดมาตั้งแต่เด็กแล้ว เมื่อถึงอายุบวชเรียนก็ได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดมะนาว ต.ทับตีเหล็ก อ.เมือง

ศึกษาพระธรรมวินัยจนแตกฉานครบ 3 พรรษาได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม) จ.ธนบุรี ในสมัยนั้น...และศึกษาด้านวิปัสสนากรรมฐานที่วัดอัมรินทร์โฆษิตาราม ทั้งยังได้ฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงพ่อปาน วัดบางนมโคเป็นระยะเวลาถึงหนึ่งปีเต็ม ก่อนจะกลับมาจำพรรษาที่วัดมะนาว

“วัดมะนาว” ถือเป็นวัดเก่าแก่ ระบุหลักฐานการสร้างโบสถ์ วิหาร เจดีย์ก่อนจะทำการบูรณะใหม่ระหว่างปี 2508-2518 โดยหลวงพ่อโตขณะนั้น พิจารณาแล้วน่าเชื่อได้ว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรี อยุธยา ด้วยลักษณะชุมชนที่คล้ายกับชุมชนอื่นๆในแถบแม่น้ำท่าจีนที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าอยู่ในร่วมสมัยอยุธยา

...

จากบันทึก “ตำบลทับตีเหล็ก” มีข้อมูลที่เล่าสืบต่อๆกันมาด้วยว่า สมัยที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ทรงยกทัพมาทำยุทธหัตถีที่อำเภอดอนเจดีย์ ได้มาหยุดตั้งค่ายเตรียมรบอยู่ที่อำเภอศรีประจันต์

ทรงเลือกบ้านวัดมะนาวเป็นสถานที่สร้างสมอาวุธ โดยให้ทหาร...ประชาชนช่วยกันนำเหล็ก ทองเหลือง มาหลอม มาตีเป็นมีด... ดาบ...ขอ...ง้าว จึงได้มีนามเรียกติดปากว่า “บ้านทับตีเหล็ก”

@@@@

“ยันต์ตรีนิสิงเห พุทธคุณ หลวงพ่อโบ้ย วัดมะนาว” อีกหนึ่งเครื่องรางของขลังที่สะท้อนศรัทธาความเชื่อของคนในชุมชนใกล้เคียงที่นำมาถวายไว้ให้คนรุ่นหลังได้เห็น ณ วิหารหลวงพ่อโบ้ย

“ยันต์ตรีนิสิงเห” มักจะนำไปติดไว้ที่เสาบ้านเพื่อความสิริมงคล ยันต์...หมายถึงลายเส้น ตัวเลข อักขระ รูปภาพ เขียน...สักหรือแกะสลักบนแผ่นผ้า ผิวหนัง โลหะ ไม้ อาจมีการลงคาถากำกับ ถือเป็นเครื่องรางของขลังที่ศักดิ์สิทธิ์ พึงบูชาให้เกิดความสุขความเจริญ

ซึ่ง...ยันต์ต่างแบบก็มีความหมายต่างกันไปตามคติความเชื่อของแต่ละกลุ่มคน

สำหรับองค์ความรู้เกี่ยวกับ “ตรีนิสิงเห” นั้น...เป็นชื่อคัมภีร์ที่มีมาแต่โบราณ เป็น 1 ใน 5 เล่ม คัมภีร์แม่แบบ โดย “ยันต์ตรีนิสิงเห” ใช้ชุดเลขกล 3 ตัวที่รวมกันแล้วได้เท่ากับ 15 จำนวน 4 ชุด ได้แก่ 3 7 5 , 4 6 5, 1 9 5 และ 2 8 5 ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการคำนวณตามคัมภีร์

พร้อมทั้งเสก “คาถาตรีนิสิงเห” กำกับขณะลงเลขยันต์แต่ละตัว ว่า...

“มะอะอุ ตรีนิสิงเห สะธะวิปิปะสะอุ สัตตะนาเค อาปา มะจุปะ ปัญญจเพชรฉลูกัญเจวะ นะมะ พะทะ จัตตุ เทวา ปะทะนะทะสะมะ ฉะอิทธิราชา อาปามะจุปะ ปัญจอินทรานะเมวะจะ มิ เอกะยักขา อะสังวิสุโลปุสะ พุภะ นะวะเทวา สะหะชะฏะตรี ปัญจพรหมาสหัมบดี พุทโธ ทะเวราชา พามานา อุกะสะนะทุ อัฏฐอรหันตา นะโมพุทธายะ ปัญจพุทธานะมามิหัง”

ยันต์ตรีนิสิงเหโดยทั่วไปพบว่ามีรูปแบบสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประกอบด้วยช่องสี่เหลี่ยมและสามเหลี่ยมรวม 12 ช่อง ในแต่ละช่องบรรจุตัวเลขอัตราตรีนิสิงเหต่างๆ ซึ่งการลงตัวเลขแต่ละช่องนั้นสามารถทำได้หลายแบบ จึงทำให้เลขยันต์ตรีนิสิงเหมีการวางตัวเลขได้หลายแบบ

...

น่าสนใจด้วยว่า...ผู้จะเขียนเลขยันต์ได้ต้องเรียนให้เชี่ยวชาญก่อนจึงจะไปเรียนเขียนเลขยันต์อื่นๆต่อไป ทำให้เลขยันต์ตรีนิสิงเหเป็นยันต์ครูที่นิยมกันมากและมักนำเลขยันต์ตรีนิสิงเหมาประกอบในยันต์ที่มีความสำคัญ

ในอดีตโบราณจารย์ยังได้นำเลขยันต์ตรีนิสิงเหมาใช้ประกอบกับยันต์อื่นๆด้วย เช่น ยันต์โสฬสมหามงคล ยันต์ตรีนิสิงเหใหญ่ ยันต์พระพุทธเจ้าห้ามพระญาติวงศ์ นอกจากนี้เลขยันต์และคาถาตรีนิสิงเหยังปรากฏในคัมภีร์สำคัญต่างๆในอดีตของไทย ได้แก่ คัมภีร์มหาศาสตราคม ตำราพิไชยสงคราม

 กล่าวได้ว่า...ยันต์ตรีนิสิงเหได้รับความนิยมในหมู่ชาวไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนานจนถึงปัจจุบัน ทำให้ยันต์ถูกสร้างขึ้นในหลายลักษณะ ทั้งเขียน พิมพ์ลงบนผ้ายันต์ จารบนแผ่นโลหะ...เพื่อทำเป็นตะกรุด พิมพ์บนพระเครื่องทั้งเหรียญและพระเนื้อผง

@@@@

“ความเชื่อ” เกิดจากความต้องการในการตอบสนองต่อคำถามที่ยากตอบเกี่ยวกับสิ่งที่เราไม่รู้หรือไม่เข้าใจอย่างแน่นอน ว่ากันว่า...ศรัทธาจะเกิดขึ้นเมื่อเราพยายามให้ตัวเองมีความหมาย และเป็นทางเลือกในการตอบสนองความสงสัย ความกลัว หรือความต้องการหาความหมายในชีวิต

...

“ความเชื่อสามารถเกิดขึ้นจากประสบการณ์ส่วนบุคคล การพบเห็นหรือสัมผัสสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยวิธีการวิทยาศาสตร์หรือตรรกะ อาจเป็นประสบการณ์ที่มีลักษณะเชิงจินตนาการ ศรัทธายังสามารถเกิดขึ้นจากการรับฟังเรื่องราว ตำรา หรือคำสอนที่ถูกสืบทอดมาจากผู้ที่เราเคารพหรือถือเป็นที่เคารพ”

นอกจากนี้แล้ว ความเชื่อยังเกิดขึ้นจากผลกระทบของสังคม วัฒนธรรม และคุณค่าทางสังคมที่ถูกสืบทอดต่อๆกันมา อย่างไรก็ตามความเชื่อก็เป็นเรื่องส่วนบุคคลและสามารถแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล การเกิดความเชื่อมั่นจึงขึ้นอยู่กับประสบการณ์และมุมมองของแต่ละบุคคลเช่นกัน

ที่สำคัญ...ความเชื่อนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามเวลา ประสบการณ์ใหม่ และสิ่งที่เรียนรู้ได้ในชีวิต

คำอธิษฐานจิต “หลวงพ่อโบ้ย”

...

“ยอกรศิโรราบ ก้มลงกราบแทบบาทา หลวงพ่อโบ้ยโปรดเมตตา ประทานพรทุกทุกคน หวังลาภให้ได้ลาภ อิ่มเอิบอาบดวงกมล หวังยศเฉลิมพล ให้ยศเพิ่มเฉลิมชัย หวังให้คนนิยม คนชื่นชมกันทั่วไป

...หวังสุขทั้งกายใจ ให้สุขสันต์นิรันดร”

“ศรัทธา”...นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่อโปรดอย่าได้...“ลบหลู่”.

รัก-ยม