สถานการณ์การระบาดไวรัส “โควิด-19”...ข้อมูลรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 30 เมษายน–6 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ป่วยที่นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 1,699 คน เสียชีวิต 10 คน มีผู้ป่วยปอดอักเสบ 219 คน...เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 39.5%

และต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 113 คน...เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 43%

คาดประมาณจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวัน อย่างน้อย 12,136-16,856 คน

อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่น่าสนใจและควรติดตามไปควบคู่กันคือ ข้อมูลจากสาธารณสุขจังหวัดชลบุรีในช่วงสัปดาห์เดียวกัน ชี้ให้เห็นว่า... มีจำนวนผู้ป่วยเข้านิยามโรคโควิด-19 จำนวน 7,544 คน มีผู้ป่วยปอดอักเสบรายใหม่ 9 คน และผู้ป่วยต้องใส่ท่อช่วยหายใจรายใหม่ 11 คน

และ...มีคนเสียชีวิต 2 คน (คิดเป็น 1/5 ของทั้งประเทศ)

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ บอกว่า ข้อมูลจากระดับจังหวัดนี้เพียงแค่จังหวัดเดียว มีประโยชน์มาก ช่วยสะท้อนสถานการณ์การระบาดให้เราตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันตัวระหว่างการใช้ชีวิต ประจำวัน เพราะมีแนวโน้มที่จำนวนการติดเชื้อจริง

...

และ...จำนวนผู้ป่วยจริงอาจสูงกว่าคาดการณ์และที่เห็นในระบบรายงานประจำสัปดาห์

“ด้วยสถานการณ์ระบาดตอนนี้ มีการติดเชื้อกันมากรายรอบตัว การติดเชื้อแต่ละครั้งเสี่ยงที่จะทำให้ป่วย ป่วยรุนแรง เสียชีวิต และ มีภาวะผิดปกติระยะยาวอย่างลองโควิดได้ด้วย ควรใช้ชีวิตประจำวัน โดยฝึกตนเองให้หมั่นสังเกต ประเมินตนเอง ลูกหลาน คนในครอบครัว คนในที่ทำงาน หรือคนรอบข้างที่รู้จักมักจี่”

ย้ำว่า...หากมีอาการไม่สบายก็แนะนำให้ไปตรวจรักษาให้เร็ว และปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง ป้องกันการแพร่เชื้อติดเชื้อในที่นั้นๆ เพื่อช่วยตัดวงจรการระบาดเป็นกลุ่มก้อน

“ควรใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ลดพฤติกรรมหรือกิจกรรมเสี่ยง เลี่ยงสถานที่เสี่ยงการใส่หน้ากากป้องกันตัวเวลาใช้ชีวิตนอกบ้าน จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก”

อัปเดตโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย “XBB.1.16.x” ข้อมูลล่าสุดจาก GISAID (Cr: Rajnarayanan R) พบว่า มีการตรวจพบเพิ่มขึ้นเป็น 50 ประเทศทั่วโลก...เน้นย้ำเรื่องข่าวลวงเกี่ยวกับ “ลองโควิด”

...เป็นที่ทราบกันทั่วโลกว่า การติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นไม่ใช่จบแค่ชิลๆแล้วหาย แต่การติดเชื้อแต่ละครั้งนั้น เสี่ยงต่อการป่วย ป่วยรุนแรง เสียชีวิต หรือทำให้เกิดผลกระทบระยะยาวอย่างลองโควิด ที่จะบั่นทอนคุณภาพชีวิต สมรรถนะการใช้ชีวิตประจำวันได้

ทั้งในเรื่องสมอง ระบบประสาท ทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินอาหาร หรือแม้แต่ระบบต่อมไร้ท่อ เช่น เบาหวาน

ช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีการแพร่ข่าวลวงด้วยความเชื่องมงาย เล่นกับความกลัว ทำให้คนหลงติดกับดักไปซื้อหาหรือหลงไปใช้สิ่งต่างๆ ที่ถูกอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงหรือก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกสิ่งเสพติด กัญชา ตลอดจนกัญชง อาหารเสริม สมุนไพร ยาผีบอกต่างๆ

“ลองโควิด” ในยุค “โอมิครอน” มีโอกาสเกิดราว 10.4%

ย้ำอีกครั้งว่า ด้วยความรู้ทางการแพทย์จากการศึกษาวิจัยตามมาตรฐานเป็นขั้นเป็นตอนนั้น “ลองโควิด” ก็ยังไม่มีวิธีการรักษามาตรฐาน การป้องกันที่ทำได้ดีที่สุดคือ การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อหรือไม่ติดซ้ำ

การลดความเสี่ยงที่จะเกิดลองโควิดที่ผ่านการวิจัยทางการแพทย์มาแล้ว ได้แก่ การรับวัคซีน การได้ยาต้านไวรัส Paxlovid หรือ Molnupiravir หรือ Ensitrelvir รวมถึงยา Metformin

การฉีดวัคซีนครบเข็มกระตุ้นจะช่วยลดเสี่ยงลองโควิดได้ 43%...ยา Metformin ช่วยลดได้ 42%...ยา Ensitrelvir ช่วยลดได้ราว 30–40%...ยา Paxlovid ช่วยลดได้ 26% และยา Molnupiravir ช่วยลดได้ 14%

...

ย้ำดังๆ ว่า “กัญชา กัญชง อาหารเสริม สมุนไพร รวมถึงสิ่งเสพติด ยาผีบอกต่างๆ ยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ที่เชื่อถือได้ และไม่ควรหลงไปซื้อหาหรือนำมาใช้”

เหลียวมองประเทศ “ญี่ปุ่น” เมื่อปรับโควิด-19 เป็นโรคติดเชื้อกลุ่ม 5 ซึ่งได้หยุดรายงานสถานการณ์โควิด-19 มาตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2566 ให้ประชาชนและแต่ละกิจการพิจารณาดำเนินมาตรการป้องกันด้วยดุลพินิจของตนเอง ทั้งนี้ได้ออกคำแนะนำในการปฏิบัติตัว โดยเน้นย้ำว่า...

“การใส่หน้ากาก ล้างมือ ปรับสภาพแวดล้อมให้ระบายอากาศดี เป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแพร่เชื้อ”

อีกแคมเปญกระตุ้นเตือนประชาชนเรื่อง “ลองโควิด” ที่น่าสนใจเกิดขึ้นในรถไฟ BART ของเมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เริ่มมีโปสเตอร์เพื่อกระตุ้นเตือนประชาชนให้ตระหนักถึงผลกระทบจากการติดเชื้อโควิด-19 ที่ทำให้เสี่ยงต่อภาวะผลปกติระยะยาวอย่าง “ลองโควิด” ได้

โดยจะบั่นทอนคุณภาพชีวิต สมรรถนะในการใช้ชีวิต รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามมาทั้งต่อผู้ป่วยเองและครอบครัว

...

ถึงตรงนี้คงต้องย้ำต่อไปเรื่อยๆว่า ด้วยสถานการณ์สังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน การเดินทางท่องเที่ยวไม่ว่าจะไปประเทศใด ที่ใด ควรตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ

อีกทั้งนโยบายให้ “หยุดงาน” เมื่อป่วยจะลดการระบาดในที่ทำงานได้มาก โดย Kurogi K และคณะจาก University of Occupational and Environmental Health เผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยที่เมืองฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ในวารสารวิทยาศาสตร์ Heliyon (3 พ.ค.2566)

ทำการศึกษาตั้งแต่ปี 2020–2021 ในพนักงานที่ทำงานในสถานประกอบการต่างๆ จำนวน 11,982 คน พบว่า สถานที่ทำงานที่มีนโยบายให้พนักงานที่มีอาการป่วยงดมาปฏิบัติงาน จะช่วยลดความเสี่ยง ของการติดเชื้อแพร่เชื้อโรคโควิด–19 ในที่ทำงานได้ถึง 44%

ผลการศึกษาข้างต้น ตอกย้ำให้เราเห็นความสำคัญของนโยบายของสถานที่ทำงาน ที่จะช่วยดูแลเอาใจใส่สวัสดิภาพและความปลอดภัยของลูกจ้าง โดยให้หยุดงานหากมีอาการป่วย รวมถึงการทำงานที่บ้าน ผ่านออนไลน์ ก็จะเกิดประโยชน์ทั้งต่อตัวลูกจ้างเอง เพื่อนร่วมงาน ครอบครัว และลดความเสี่ยงของกิจการด้วย

...

...จะได้ไม่เกิดการ “ป่วย” พร้อมกันจำนวนมากจากการระบาดเป็นกลุ่มก้อน

อีกทั้ง “ลองโควิด” ยังสัมพันธ์กับการคงค้างของไวรัสในร่างกายระยะยาว ทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 และมีอาการผิดปกติคงค้างระยะยาวตามมา เช่น ทำให้เกิดจากการอักเสบเรื้อรัง การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ รวมถึงระบบควบคุมการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เกิดลิ่มเลือดขนาดเล็กอุดตัน ฯลฯ

“การติดเชื้อแต่ละครั้งจึงไม่ได้จบแค่ชิลๆ แล้วหาย แต่ป่วยได้ ป่วยรุนแรงได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อภาวะผิดปกติระยะยาวลองโควิดได้ด้วย ดังนั้นการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด... ควรใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวเสมอ”.