ดร.ชัยอนันต์ ดำรงรัตน์ ทีมวิจัยการเข้าใจเสียงและข้อความ กลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) เปิดเผยว่า ทีมวิจัยได้พัฒนาแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ “สนทนา (Sontana)” ให้บริการตอบคำถามแบบอัตโนมัติ เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์รวดเร็ว เกิดความประทับใจต่อองค์กร โดยนำแพลตฟอร์ม 3 รูปแบบที่เปิดให้บริการแล้วอย่าง “พาที (Partii)” ระบบบริการถอดความเสียงภาษาไทย “อับดุล (Abdul)” ระบบบริการโต้ตอบอัตโนมัติและ “วาจา (VAJA)” ระบบบริการสังเคราะห์ภาพและเสียงภาษาไทยผ่านอินเตอร์เน็ต มาผนวกรวมกับเทคโนโลยีการสร้างอวทาร์ เพื่อให้ได้ “อวทาร์” สำหรับทำหน้าที่ตอบ FAQ ตามชุดข้อมูลที่ผู้ว่าจ้างกำหนด ด้วยสีหน้า ท่าทาง และน้ำเสียงที่สุภาพ ตอบคำถามได้รวดเร็วภายในเวลาไม่เกิน 5 วินาที โดยจุดแข็งของ “อวทาร์สนทนา” ไม่ได้มีแค่เรื่องการตอบ FAQ ได้รวดเร็วจนผู้ใช้บริการประทับใจเท่านั้น การแสดงสีหน้าและท่าทางได้อย่างสมจริงและมีชีวิตชีวาก็ดึงดูดความสนใจจากผู้ใช้บริการได้ไม่แพ้กัน

ด้าน ดร.อัษฎางค์ แตงไทย ทีมวิจัยฯเนคเทค กล่าวว่า นอกจากการตอบ FAQ ได้ทันใจแล้ว อวทาร์สนทนายังมีจุดแข็งเรื่องการแสดงสีหน้าและท่าทางได้อย่างสมจริงมีชีวิตชีวา เพราะทีมวิจัยได้นำ Shapes มากถึง 52 แบบ และพรีเซตสระของ ภาษาอังกฤษ (A-E-I-O-U) มาใช้ในการขยับส่วนต่างๆ บนใบหน้าด้วยเทคโนโลยี Blendshapes ขณะนี้ “สนทนา (Sontana)” พร้อมให้บริการแก่กลุ่มธุรกิจ กลุ่มบริษัทซอฟต์แวร์เฮาส์ องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนแล้ว สนใจใช้บริการติดต่อฝ่ายกลยุทธ์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี เนคเทค สวทช. อีเมล business@nectec.or.th

...

ขอบคุณภาพประกอบจาก : https://www.nectec.or.th/ace2022/sontana/index.html