ปัจจุบันประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ “บัตรทอง” หรือ “บัตร 30 บาท”...ที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายและจำเป็นต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต มีสิทธิรับการรักษา โดยไม่ต้อง “เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น” ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการรักษา
ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดทำเส้นเลือดแบบชั่วคราวและถาวร ยารักษาภาวะซีดขณะฟอกไต หรือการทานยากดภูมิคุ้มกันเพื่อรับการปลูกถ่ายไต ฯลฯ เหล่านี้สิทธิประโยชน์ครอบคลุมหมด
นพ.วุฒิเดช โอภาศเจริญสุข นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย บอกว่า ระบบการเข้าถึงบริการการรักษาของผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง โดยเฉพาะกับประชาชนสิทธิบัตรทองนับว่าภาครัฐดำเนินการมาได้อย่างดี ทำให้ ประชาชนเข้าถึงสิทธิการรักษาได้มากขึ้น และยังสามารถเลือกรับการรักษาที่เหมาะสมกับบริบทของผู้ป่วยได้

“การรักษาโรคไตระยะสุดท้าย ทั้งการล้างไตผ่านช่องท้องและการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมมีทั้งข้อดี...ข้อเสียที่แตกต่างกัน การล้างไตผ่านช่องท้องจะสะดวกที่ทำได้เองที่บ้าน แต่ข้อเสียสำหรับบางคนคือต้องทำทุกวันและต้องมีสภาพแวดล้อมที่สะอาด เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อ”
...
ขณะนี้ สปสช.ก็มีสิทธิประโยชน์การล้างไตด้วยเครื่องอัตโนมัติ โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องคอยเปลี่ยนน้ำยาด้วยตนเอง สามารถทำได้
ในเวลาพักผ่อนตอนกลางคืนได้
ส่วนการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ผู้ป่วยต้องได้รับการผ่าตัดทำเส้นเลือดเทียม และเส้นเลือดถาวรเพื่อการฟอกไต จากนั้นไปยังหน่วยบริการเพื่อฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง

ข้อดีคือไม่ต้องทำเอง แต่ก็ต้องเสียเวลาฟอกเลือดนานครั้งละ 4 ชั่วโมง รวมถึงมีค่าใช้จ่ายแฝงด้วย โดยเฉพาะค่าเดินทางที่ต้องไปฟอกเลือดยังหน่วยบริการ
แน่นอนว่า การเลือกวิธีการรักษาของผู้ป่วยไตวาย ที่ไม่ปรึกษากับแพทย์ที่เชี่ยวชาญเพื่อพิจารณาหาทางที่เหมาะสมด้วยกันก็จะมีปัญหาตามมาอย่างเช่น ร่างกายของผู้ป่วยที่เลือกวิธีฟอกเลือด อาจทำให้ความดันตก มีภาวะแทรกซ้อนตามมา ทำให้ได้รับการรักษาไม่เต็มที่ตามประสิทธิภาพ
สุดท้าย...ก็พบว่าเปลี่ยนวิธีการรักษาอยู่บ่อยครั้ง เมื่อเป็นเช่นนั้น นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยแนะนำว่า การเลือกแนวทางการรักษาร่วมกับแพทย์ เพื่อพิจารณาร่วมกันว่าแนวทางไหนที่เหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด เพื่อให้เกิดการรักษาที่มีประสิทธิภาพ

สำหรับแนวทางเบื้องต้นที่จะช่วยให้ประชาชนหลีกไกลจากโรคไตได้นั้น นพ.วุฒิเดช แนะว่า หากยังไม่ป่วยเป็นโรคไต ต้องใส่ใจกับสุขภาพ อาหารที่บริโภค เพิ่มการออกกำลังกายให้ตัวเองมากขึ้น ที่สำคัญคือต้องหลีกเลี่ยงอาหารเสริมหรือสมุนไพรที่ไม่จำเป็นกับร่างกาย
ส่วนคนที่ป่วยไปแล้วและต้องได้รับการรักษาก็ต้องคุมและรักษาโรคให้ดี มากไปกว่านั้น ก่อนการตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาขอให้พิจารณาและปรึกษาร่วมกันกับแพทย์ หากรักษาได้ดี มีความต่อเนื่อง ก็อยู่ได้นับสิบๆปีเช่นกัน
ย้อนไปเมื่อต้นปี 2565 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ที่มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุขในขณะนั้นเป็นประธานฯ มีมติเดินหน้านโยบายให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายสามารถเลือกวิธี
การบำบัดทดแทนไต (ล้างไต) ที่เหมาะสมกับบริบทของตนร่วมกับแพทย์ได้ด้วย
โดยมี 2 วิธีด้วยกัน ได้แก่ 1.การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และ 2.การล้างไตผ่านช่องท้อง ที่ผู้ป่วยสามารถทำได้เอง รวมถึงการล้างไตผ่านเครื่องล้างไตอัตโนมัติหรือ APD
อย่างไรก็ดี นั่นทำให้มีผู้ป่วยรายใหม่กว่า 30% ที่ไม่สะดวกในการบำบัดรักษาด้วยวิธีล้างไตผ่านช่องท้อง เลือกวิธีการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมแทน ซึ่งต้องรับการรักษาที่สถานพยาบาลเท่านั้นและส่งผลให้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งกังวลว่าจะทำให้เกิดความแออัดมากขึ้น
...
นพ.สุชาย ศรีทิพยวรรณ อุปนายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย มองว่า สถานพยาบาลในเขตเมืองโดยเฉพาะในกรุงเทพฯและปริมณฑลนั้นมีเพียงพอต่อการรองรับ ส่วนในบางจังหวัดอาจยังมีปัญหาอยู่บ้าง จึงขอแนะนำว่าให้ผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง โดยสามารถเลือกการล้างไตผ่านช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติได้

ซึ่งผลการรักษาไม่แตกต่างจากการฟอกเลือด และไม่มีค่าใช้จ่ายของค่าเดินทางที่ต้องเสียในกรณีที่ต้องเดินทางไปฟอกเลือดสัปดาห์ละ 2–3 ครั้ง
รวมถึงทาง สปสช. ก็ได้เห็นถึงภาวะความหนาแน่นของผู้ที่ต้องการรับการรักษาเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน จึงมีการสนับสนุนให้มีสถานพยาบาลเอกชนเพิ่มขึ้นในการผ่าตัดทำเส้นเลือดถาวร และสร้างเป็นเครือข่ายกับโรงพยาบาลรัฐ เพื่อที่จะลดขั้นตอนที่ประชาชนต้องไปรอคิวรักษาจากโรงพยาบาลให้มากที่สุด
ส่วนกรณีมีความกังวลเรื่อง “การล้างไตผ่านช่องท้อง” ด้วยตนเองนั้น นพ.สุชาย ยืนยันว่า ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เนื่องจาก
ประเทศไทยมีองค์ความรู้ในวิธีการล้างไตทางช่องท้องเป็นอย่างดี อีกทั้งเครื่องมือที่ใช้ก็มีคุณภาพมาตรฐานและได้รับการยอมรับในระดับโลก
...
ตลอดจนทาง สปสช. ก็ได้ให้สิทธิการรักษานี้แก่ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองมากว่า 16 ปีแล้วด้วย เพราะฉะนั้นจึงมั่นใจได้แน่นอน
“อยากให้ประชาชนเข้าใจว่าการฟอกเลือดและการล้างไต ทั้งสองวิธีนี้ไม่มีวิธีไหนดีกว่ากันเพียงแต่ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับตัวผู้ป่วยมากที่สุด ผมเข้าใจดีว่าการล้างไตเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตไปมาก แต่นี่เป็นวิธีที่จะทำให้พวกเขาสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ใกล้คนที่ไม่ป่วยได้มากที่สุดในปัจจุบัน”

ท้ายที่สุดแล้วแม้ “ประเทศไทย” จะมีระบบบริการสุขภาพและสิทธิการรักษาที่รองรับ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการ “ป้องกัน” ไม่ให้เกิดโรค...ไม่ใช่การรักษา
สปสช.ได้ริเริ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้ามามีส่วนร่วมในการให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP) ผ่านการใช้ “กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.)” ที่จัดสรรให้หน่วยงานในท้องถิ่นสามารถจัดทำโครงการเพื่อป้องกันปัจจัยเสี่ยงของการเกิด “โรคไต” ได้
...
โดยเฉพาะปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง การเป็นโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง รวมถึงการใช้ยาโดยไม่ปรึกษาเภสัชกร โดย
ที่ผ่านมาพบว่าไตของผู้ป่วยจำนวนหนึ่งเกิดการเสื่อมไปเพราะพิษของยาที่ทาน
เช่น ยาสมุนไพรที่ไม่ได้มาตรฐาน ยาชุด หรือแม้กระทั่งยาแก้ปวด ซึ่งเมื่อเป็นแล้วมักจะรู้ตัวอีกทีก็คืออาการเริ่มเด่นชัดขึ้น และนั่นหมายถึงภาวะของไตเสื่อมไปถึงระยะสุดท้ายแล้ว
“เราตั้งเป้าไว้ว่าหลังจากนี้จะมีการให้ท้องถิ่นดำเนินโครงการดังกล่าวทุกปี เพราะเราต้องการที่จะลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ให้ได้ในเร็ววัน เพราะนั่นหมายถึงสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน”

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ฝากทิ้งท้ายด้วยว่า นอกจากบริการเชิงรุกจาก สปสช. ที่ร่วมกับท้องถิ่นแล้ว ทางสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยและสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทยยังได้พยายามสื่อสารแนวปฏิบัติต่างๆให้กับทั้งประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์
เพื่อ “ลดปัจจัยเสี่ยง” ที่จะนำไปสู่การเกิด “โรคไต”.