เบบี้บูมเมอร์คนหนึ่งทบทวนให้ฟัง... “เชียงใหม่” เมื่อ 4 ทศวรรษก่อนหลังช่วงหนาวปลายปีข้ามช็อตปีใหม่ นักท่องเที่ยวจากที่ไหนๆ จะแห่ขึ้นไปเที่ยวดอยอินทนนท์ ดูพระอาทิตย์ขึ้นกลางเมฆหมอกไอหนาวกับดงกุหลาบพันปี...แล้วลงมาผ่อมาแอ่วรอบๆ เวียง

พอหนาวจากไป...ร้อนมาเยือนเตรียมรับมหกรรมสงกรานต์ประจำปี ทำเอาเมืองแทบแตก เพราะใครๆก็อยากมาม่วนสงกรานต์กับ “แม่ญิง” ย่านท่าแพรอบแจ่งหัวเวียง...

แต่ช่วงนั้นจะมีหมอกควันอันเกิดจากการเผาป่าบนดอยสูง ยามค่ำคืนจะแลเห็นไฟป่าสีแดงโชนลุกโหมอยู่บนดอยสุเทพจนชินตา

ด้วยรู้ว่าวิถีชาวเขาจะเผาป่าเตรียมพื้นที่ยะไร่ยะนายามฝนมา

“คนเมืองหรือคนเมืองใต้...ที่หมายถึงคนอยู่ใต้ลงไปจากเชียงใหม่ ถ้าใส่เสื้อผ้าสีนวลจะถูกฝุ่นผงจากเขม่าไฟป่าปลิวใส่เลอะเทอะเปรอะเปื้อน จึงนิยมใส่สีเข้มกันฤดูกาลนี้”

ปัจจุบัน...บ่ใช่แต่เปิ้นชาวเขาแต่เกษตรกรชาวเราในพื้นที่ราบมีกฎหมายห้ามเผาป่าเด็ดขาด หรือที่เกิดเองโดยธรรมชาติกับมือมนุษย์ขี้ยาทิ้งก้นยามวน รัฐจึงได้จัดชุดพิชิตและควบคุมไฟป่าไว้รับมือ...

...

ทว่าปัญหาฝุ่นมหาภัยยังมีที่เกิดจากหลายปัจจัย อาทิ ฝุ่นควันจากโรงงานอุตสาหกรรม การแอบเผาป่าบนที่สูงหรือที่ราบการเกษตร รถยนต์แล่นเผาผลาญพลังงานเชื้อเพลิง ฝุ่นจากการก่อสร้างกลายเป็นฝุ่นพิษอณูเล็กๆ ไร้น้ำหนักลอยกลางอากาศ

มนุษย์สูดดมเข้าไปพร้อมจะทำลายอวัยวะภายใน...ป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจจะช้าหรือเร็วตายวันตายพรุ่งย่อมได้...ปรากฏการณ์เยี่ยงนี้เกิดขึ้นทั่วโลกในเอเชียที่รุนแรงอย่างปากีสถาน บังกลาเทศ มิจำเพาะแต่นครพิงค์เชียงใหม่...ทางวิชาการฮ้องมันว่า “พีเอ็ม 2.5” มีขนาดจิ๋วไม่เกิน 2.5 ไมครอน

...คือเล็ก 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่าศูนย์กลางเส้นผมหรือขนจมูก

“เชียงใหม่” โชคร้ายคุณภาพอากาศสูงเกินค่ามาตรฐาน... ถ้าไม่เกิน 0-25 ไมครอน ใช้สัญลักษณ์สีฟ้าถือว่าปกติ หากระดับ 26-37 สีเขียว 38-50 สีเหลืองอยู่ขั้นปานกลาง

ส่วน 51-90 สีส้มมีผลกระทบ...91 ไมครอนขึ้นไปสีแดง-สีม่วง สวดมนต์เลยกระทบสุขภาพแน่นอน!

เชียงใหม่อยู่ในขั้นทำลายสถิติโลกเกิน 500 ไมครอน ครองที่ 1 ติดต่อกันหลายวันสลับกับปากีสถานและบังกลาเทศ ฝุ่นเพชฌฆาตนี้ยังกระจายไปจังหวัดต่างๆ 23 แห่งทั่วเหนืออีสานในแหล่งที่มีภูเขา ทำลายบรรยากาศท่องเที่ยวที่เคยคึกคักเมื่อหนาวสู่โหมดวิกฤติ...

ปรับคีย์เวิร์ดให้อุทยานแห่งชาติหลายแห่งต้องปิดตัวเอง... งดสร้างรายได้ให้กรมเป็นการชั่วคราว?

ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย สะอื้นไห้กับทัศนวิสัยย่ำแย่ จนชาวบ้านต้องออกมาถือป้ายบอกนายอำเภอให้เร่งแก้ปัญหา...อำเภอเชียงแสน สามเหลี่ยมทองคำต้องระงับทัวร์ล่องโขงชม 3 แผ่นดิน เพราะควันไฟป่าในประเทศเพื่อนบ้านลอยมาแยงจมูกคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ

สถานการณ์เช่นนี้ขบวนการรัฐได้นำปัญหาดังกล่าวไปหารือในเวทีอาเซียน แต่ดูเหมือนจะถูกเผาไหม้ไปกับไฟป่า ด้วยยังไม่มีความคืบหน้าใดๆออกมาให้เห็น

ปมเหตุทั้งหมดข้างต้นเหล่านี้กูรูท่องเที่ยวมองว่า...เมื่อรัฐทำท่าขึงขังจะใช้ “ท่องเที่ยว” เป็นแม่เหล็กดึงเงินตราต่างประเทศ และล้วงเงินบาทจากคนไทยให้กระพือไปทั่ว ก็ควรจะรีบหามาตรการแก้ไข “ทันควันไฟป่า” ขึ้นแท่นวาระแห่งชาติ แทนพ่นน้ำลายการเมืองดับไฟป่าเป็นไหนๆ

...

หน่วยงานท่องเที่ยวที่ทับซ้อนกันอยู่ภายใต้ร่มกระทรวงการท่องเที่ยวฯ อย่ามัวแต่พุ่งเป้าไปกับ “เส้นทางคนโสด #ล้อเล่นความเหงา” องค์กรเอกชนซอฟต์เพาเวอร์มาร์เกตทัวร์ก็เถอะ ต้องขับเคลื่อนซีนาริโอนี้ผ่านไปให้ได้ อย่าลืม...“ท่องเที่ยว” หยุดวันใดหมายถึงหยุด “หายใจ” วันนั้น

ฉายภาพต่อไปในพื้นที่ “ภาคใต้” ที่เคยอ่วมจากหางเลข “เอลนีโญ” เมื่อเคยเกิดเขม่าไฟป่าจากเกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย วันนี้หมดไปแล้วและปักษ์ใต้บ้านเรามีฝนตกชุก “ท่องเที่ยว” จึงเดินไปได้อย่างคงเส้นคงวา

...

ครั้นพอเหลียวหันกลับไปมอง “พัทยา”...สีสันตะวันออก ซึ่งมีนักท่องเที่ยวปีละ 18 ล้านคนมาก่อน คุณภาพอากาศที่นี่ปลายมีนาคมถึงต้นเมษายนปานกลาง 38 ไมครอน ซีนาริโอท่องเที่ยวราบรื่น...

สุพจน์ ประกิจจานุรักษ์ ผู้จัดการทั่วไป อมารี พัทยา และเครืออมารีภาคตะวันออก อดกล่าวไม่ได้ว่า

“พัทยาเป็นเมืองชายทะเลมีลมพัดผ่านตลอด เวลานี้อย่าว่าแต่คนเหนือหรืออีสานมีปัญหาฝุ่นพิษเลย คนกรุงเทพฯเองก็กลัวอากาศที่ค่าสีส้มบางแห่งบางวัน ไม่ควรออกทำกิจกรรมกลางแจ้งถ้าไม่จำเป็นให้อยู่แต่ในบ้านติดเครื่องฟอกอากาศ จึงพากันหนีมาพัทยาแทน”

สุพจน์ ประกิจจานุรักษ์
สุพจน์ ประกิจจานุรักษ์

พัทยาจัดอีเวนต์ต่อเนื่องอย่างสงกรานต์ “อินเตอร์เนชั่นแนล มิวสิคัล” 18 ถึง 20 เมษายน “วันไหล” เริ่มที่นาเกลือ พัทยา บางเสร่ ต่อด้วยกิจกรรมฉายหนังกลางแปลงแบบไทยๆสมัยก่อน ทำให้นักท่องเที่ยวมีทั้งคนไทย คนยุโรป รัสเซีย เกาหลี อินเดีย ไต้หวัน สิงคโปร์ เวียดนาม กลุ่มพรีเมียม แห่มากระจุกตัวมากขึ้น

...

น่าสนใจว่า....โรงแรมถูกจองเต็มหมดในช่วงนี้

ด้าน “สวนนงนุชพัทยา” สวนสวย 1 ใน 10 ของโลกพื้นที่ 1,700 ไร่ กัมพล ตันสัจจา ประธานสวนนงนุช เสริมว่า คุณภาพอากาศภายในสวนไม่มีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะสวนพฤกษศาสตร์มีต้นไม้คอยดูดซับฝุ่นผงโดยธรรมชาติ นอกจากช่วยขจัดคาร์บอนฯ คายออกซิเจน...

ถึงฝนจะไม่ตกแต่ก็ได้น้ำรดต้นไม้ช่วยกำจัดฝุ่นได้อย่างดี คนมาเที่ยวจึงไม่ห่วง

“อยากฝากพ่อแม่ช่วยปลูกฝังเด็กไทยให้รักษ์ต้นไม้ช่วยกันปลูกป่า สร้างสมดุลธรรมชาติกับสังคมมนุษย์ ปัญหามลพิษจะได้ไม่เกิดหรือเกิดก็เพียงส่วนน้อย สวนนงนุชฯทำทุกอย่างเพื่อลดโลกร้อนและฝุ่นพิษ ขยะที่เกิดขึ้นทุกวันก็ใช้วิธีขุดฝังแทนการเผาที่เกิดปัญหาเรื่องควัน”

กัมพล ตันสัจจา
กัมพล ตันสัจจา

กัมพล ย้ำว่า การปลูกป่าก็น่าจะคำนึงถึงต้นไม้ที่จะเจริญพันธุ์ ควรหลีกเลี่ยงพืชประเภทเศรษฐกิจเพราะจะถูกแอบตัดเมื่อโตเหมือนในป่า มาปลูกจำพวกยึดดินดี เช่น ต้นไทร ขุดถอนยากคนไม่ลักลอบตัด มันช่วยสร้างประโยชน์ลดปัญหามลพิษได้อีกด้วย

“หมอกควัน”...เมืองไทยยังเป็นอุปสรรคมหากาพย์ และยังคงวนเวียนซ้ำปีแล้วปีเล่าอยู่ในอ่าง ด้วยวิธีเหมือนกับว่าสั่งแล้วทิ้งใส่ทุกหน่วยงานให้รับไปดำเนินการ แต่ไร้การติดตาม

คนไทยจึงประสบชะตากรรมซ้ำ...ครั้งแล้วครั้งเล่า เช่น ครั้งใหญ่สุดเชียงใหม่ เชียงราย ปีนี้ที่กระทบเป็นลูกระนาดถึงวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คน

นับรวมไปถึงมิติทางเศรษฐศาสตร์มหภาค “ท่องเที่ยว” ของประเทศอีกด้วย.