โจทย์ใหญ่ของรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 หมอกและควัน ยิ่งแก้ก็ยิ่งหนักขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะประเทศไทย ขึ้นอันดับ 1 ฝุ่นละอองพิษทางอากาศ ติดต่อกันมาหลายสัปดาห์แล้ว สื่อเผยแพร่ข่าวไปทั่วโลกและมีการเตือนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้่ามาเที่ยวในประเทศไทยให้ระมัดระวัง โดยเฉพาะภาคเหนือ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย รวมทั้ง กทม. ดังนั้นการยกปัญหานี้ขึ้นเป็น วาระแห่งชาติ น่าจะสายเกินไป
การแก้ปัญหาต้องวางแผนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ปัญหาหมอกควันไม่ได้เกิดจากการเผาป่าหรือไฟป่าในช่วงนี้เท่านั้น แต่ PM 2.5 และหมอกควันมาจากทั้งภายในครัวเรือน และนอกครัวเรือน การใช้พลังงาน การปล่อยของเสียจากภาคอุตสาหกรรม การขนส่ง การเกษตร และการกำจัดของเสีย รวมทั้งฝุ่นละอองตามธรรมชาติ
เรามักจะมุ่งไปที่ปัญหา การเผา ของภาคการเกษตรหรือแม้แต่ไฟไหม้ป่าตามธรรมชาติและฤดูกาลและผลักภาระเป็นความผิดของบริษัทที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผลผลิตดังกล่าว โดยไม่ได้ดูว่า ต้นกำเนิดเป็นอย่างไร วิธีการถูกต้องหรือไม่ ใครเป็นคนดูแลและควรมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดแค่ไหน ภาครัฐจะควบคุมอย่างไรเครื่องมือมีเพียงพอหรือไม่ ต้องยอมรับว่า ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศคือเกษตรกร ภาคการเกษตรยังเป็นสินค้าหลักของประเทศ โดยเฉพาะ ข้าวและอ้อย เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ และวิถีการเกษตร ไทยก็ยังเป็นวัฒนธรรมดั่งเดิม โดยที่เกษตรกรไม่มีทางเลือกอื่น
การบูรณาการแก้ปัญหาทั้งระบบ กลายเป็นการลูบหน้าปะจมูก และเป็นการ แก้ปัญหาแบบไฟไหม้ฟาง มาโดยตลอดมีหลากหลายความเห็น อาทิ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผอ. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ระบุการแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องใช้เวลา จะต้องมีการติดตามปัญหารวบรวมข้อมูลในแต่ละพื้นที่ และช่วงเวลา เพื่อวิเคราะห์สู่เป้าหมายของการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง
...
หรือนักวิชาการอิสระ อัปสร พรสวรรค์ มองว่า การออกมาวิจารณ์เรื่องฝุ่นละอองพิษ แต่ไม่มีนวัตกรรมความคิดแก้ปัญหาให้ครบวงจร ขณะที่ภาครัฐยังคงตามหลังปัญหาในรูปแบบเดิมๆ คือรอธรรมชาติบำบัด รอจับคนเผาที่ปลายเหตุ ปัญหาก็เป็นวงจรอุบาทว์ไปแบบนี้ สุดท้ายภาคการเกษตร กลายเป็น ผู้ร้าย ไปฉิบ
ยกตัวอย่าง ไฟป่าบริเวณ เขาชะพลู จ.นครนายก ลามไปเขาแหลม ขยายวงไปเป็นบริเวณ 500 ไร่จากพื้นที่ทั้งหมด 700 ไร่ ใช้่เวลา สามวันสามคืน ยังควบคุมไม่ได้ ไปเกิดที่ เขาตะแบก ที่ติดกับเขาแหลมอีก ปัญหาแรกคือความพร้อมของ
เครื่องมือและอุปกรณ์ การที่ต้องบูรณาการผนึกกำลังของทุกฝ่ายในการแก้ปัญหาทั้งภาครัฐและประชาชน การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลต่างๆ สุดท้ายคือการจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอ
ฝุ่นพิษ ไม่ใช่แค่ทำร้ายร่างกายและสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจเท่านั้น มี PM 2.5 แล้วยังมี PM 0.1 ตามมาอีก สามารถที่จะทะลวงผ่านถุงลมเข้าสู่ระบบเลือด นำไปสู่เส้นเลือดอุดตัน หัวใจวาย เส้นเลือดตีบในสมอง และยังทำลายเศรษฐกิจของประเทศ แบบตายผ่อนส่งด้วย.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th