"เฉลิมชัย" รมว.เกษตรฯ เผยกรมชลประทาน เตรียมพร้อมรับมือฤดูแล้งปี 66 กําหนดวางแผนบริหารจัดการน้ำ ทั้งแผนหลักและแผนสํารอง ผันน้ำให้ชาวนาชาวไร่อย่างทั่วถึงเพียงพอ ปรับรอบส่งน้ำเพาะปลูก ให้เก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนฤดูน้ำหลาก และช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง อีกทั้งมีแผนใช้งบฯ 5,336 ล้านบาท เสริมรายได้จ้างเกษตรกรทํางานช่วงว่างเว้นทําการเกษตรช่วงฤดูร้อน
กระทรวงเกษตรฯ วางแผนจัดการน้ำรับมือฤดูแล้งปี 66 เปิดเผยขึ้นเมื่อวันที่ 2 เม.ย. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เพื่อรองรับฤดูแล้งปี 66 อาจเกิดสถานการณ์ภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรทั่วประเทศ กระทรวงเกษตรฯ เตรียมความพร้อมมอบหมายให้ทุกหน่วยงานในสังกัด ดําเนินการตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้ง 2565/2566 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงปี 66 ตามที่ ครม.ได้เห็นชอบ เมื่อ 1 พ.ย. 65 พร้อมเกินร้อย ในการรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง มุ่งมั่นตั้งใจทําแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างรัดกุม ใช้ระบบชลประทานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมท้ังเตรียมช่วยเหลือด้านเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ที่จําเป็น กรณีมีพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และภาคเกษตรต้องเดือดร้อนจากภัยแล้งให้น้อยที่สุด
นายเฉลิมชัย กล่าวถึง การวางแผนจัดสรรน้ำว่า กรมชลประทานได้กําหนดปริมาณจัดสรรน้ำไว้ 43,740 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นสนับสนุนในช่วงฤดูแล้งประมาณ 27,685 ล้าน ลบ.ม. หรือ 63% ของแผนฯ ส่วนที่เหลือสํารองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝน ประมาณ 16,055 ล้าน ลบ.ม. หรือ 37% ของแผนฯ เฉพาะลุ่มเจ้าพระยาวางแผนจัดสรรน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก รวม 14,074 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นสนับสนุนในช่วงฤดูแล้ง ประมาณ 9,100 ล้าน ลบ.ม. หรือ 62% ของแผนฯ และอีก 5,474 ล้าน ลบ.ม. หรือ 38% ของแผนฯ สํารองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝน นอกจากนี้กําหนดแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรังไว้ทั้งประเทศ ประมาณ 10.42 ล้านไร่ ปัจจุบันข้อมูลล่าสุด 31 มี.ค.ที่ผ่านมา เพาะปลูกไปแล้ว 10.14 ล้านไร่ หรือ 97% ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา วางแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรังไว้ 6.64 ล้านไร่ เพาะปลูกไปแล้ว 6.37 ล้านไร่ หรือ 96% ของแผนฯ
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน รายงานถึงแผนว่า มีน้ำใช้เพียงพอทุกกิจกรรม เพราะวางระบบจัดสรรน้ำแบบประณีต จัดรอบเวรการส่งน้ำ ปรับปฏิทินการเพาะปลูก เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวได้ก่อนฤดูน้ำหลาก เช่น โครงการบางระกําโมเดล เริ่มส่งน้ำตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. เพื่อให้เก็บเกี่ยวได้ภายในเดือน ส.ค. พื้นที่ลุ่มต่ำ 10 ทุ่งเจ้าพระยาตอนล่าง จะเริ่มส่งน้ำตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย. ให้เกษตรกรได้ทําการเพาะปลูก 1 พ.ค. เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ช่วงต้นเดือน ก.ย. ช่วยลดความสูญเสียของผลผลิตทางเกษตรช่วงฤดูน้ำหลาก ติดตามตรวจสอบ ซ่อมแซมอาคาร และ ระบบชลประทานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยปีที่ผ่านมา ทําให้จัดการน้ำและส่งน้ำในฤดูแล้งได้เต็มศักยภาพ รวมทั้งร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์ข้อมูลสถานการณ์น้ำผ่านช่องทางต่างๆ ให้เกษตรกรและประชาชน รับรู้และเข้าใจ” นายเฉลิมชัย กล่าว
รมว.เกษตรฯ กล่าวด้วยว่า กรมชลประทานเตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ รถยนต์บรรทุกน้ำ เครื่องจักร กลสนับสนุนอื่นๆ อีก 5,382 หน่วย อีกทั้งช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้เสริมในช่วงฤดูแล้ง เช่น การจ้างแรงงาน ซ่อมแซม บํารุงรักษา ขุดลอก ปรับปรุงงานชลประทาน เป็นต้น เป็นรายได้ทดแทนจากการว่างเว้นการทําเกษตร ปี 66 มีแผนจ้างแรงงานวงเงิน 5,336 ล้านบาท จํานวนแรงงาน 86,000 คน ระยะเวลา 3-10 เดือน วงเงินเฉลี่ย 26,100-87,000 บาทต่อคน ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการว่าจ้าง ปัจจุบันมีการจ้างแรงงานไปแล้วกว่า 54,000 คน การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ถือเป็นหัวใจในการแก้ไขปัญหาฤดูแล้ง ปีนี้กระทรวงเกษตรฯ พร้อมรับมือดูแลเกษตรกรทุกคนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น.