ถึงฤดูนี้มีปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 ทุกปี... ตัวการหนึ่งที่มักจะถูกพาดพิงเสมอ นั่นคือการเผาอ้อย

การศึกษาวิจัยเรื่อง “การบริหารจัดการชีวมวลอ้อยที่เหมาะสมของเกษตรกร” โดย สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) น่าจะให้คำตอบใช้เป็นแนวทางแก้ปัญหาได้ไม่น้อย

“จากการจัดเก็บข้อมูลการผลิตอ้อย ปี 2564/65 ได้กลุ่มตัวอย่าง 1,080 ราย จากภาคเหนือ 3 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด ภาคกลาง 4 จังหวัด และภาคตะวันออก 1 จังหวัด พบว่า เกษตรกรชาวไร่อ้อยร้อยละ 64.17 ใช้แรงงานคนตัดอ้อยสด ส่วนที่เหลือร้อยละ 35.83 เกษตรกรใช้รถตัดอ้อยสด

หลังจากที่เกษตรกรตัดอ้อยสดเรียบร้อยแล้ว เกษตรกรร้อยละ 50.83 ใช้วิธีการนำใบและยอดอ้อยไปคลุมดินหรือไถกลบในช่วงเตรียมดิน เกษตรกรร้อยละ 32.87 จะเผาใบและยอดอ้อยทิ้ง ร้อยละ 13.43 จะใช้วิธีขายใบและยอดอ้อยส่งขายโรงไฟฟ้าชีวมวล ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 2.87 ขายเพื่อนำไปแปรรูปเป็นปุ๋ยและอาหารสัตว์ และแจกฟรี”

...

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยอีกว่า วิธีการใช้ใบและยอดอ้อยคลุมดินเพื่อเป็นธาตุอาหารเพิ่มความอุดมสมบูรณ์และความชุ่มชื้นให้แก่ดินเป็นวิธีที่เหมาะสม เนื่องจากต้นทุนการจัดการต่ำ ให้ประโยชน์ในการบำรุงดินและอ้อยที่ยั่งยืน ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนปัจจัยการผลิต ค่าปุ๋ย และยากำจัดวัชพืช ส่วนการขายใบและยอดอ้อยเพื่อเป็นเชื้อเพลิงให้แก่โรงไฟฟ้าชีวมวล ถือเป็นทางเลือกที่ดีเช่นกัน เนื่องจากมีความคุ้มค่าและเหมาะสมกับเกษตรกรที่ต้องการเอาใบอ้อยออกจากแปลง จึงควรผลักดันให้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อบริหารจัดการชีวมวลอ้อยที่เหมาะสมกับพื้นที่ พัฒนาเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ขาดแคลนและให้มีผู้ให้บริการด้านเครื่อง จักรกลจัดการชีวมวลอ้อยทดแทนแรงงาน เพื่อลดการเผา

ฉันทานนท์ วรรณเขจร
ฉันทานนท์ วรรณเขจร

“สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการเผาก่อนการเก็บเกี่ยวมาจากต้นทุนที่ใช้ในการเก็บเกี่ยว ถ้าเกษตรกรมีต้นทุนน้อยจะเลือกวิธีเผาแล้วตัด ทำให้ไม่สามารถลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ได้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากอ้อยไฟไหม้ตัดง่ายกว่าและรายได้ดีกว่า อีกปัจจัยที่เอื้อต่อการเผา ระบบการเพาะปลูกและสภาพพื้นที่ของแปลงอ้อยไม่เหมาะสมต่อการใช้เทคโนโลยีทั้งการปลูกและการเก็บเกี่ยว การขาดแคลนแรงงานรวมทั้งขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีผลิตอ้อย เช่น คนขับรถตัดอ้อย คนขับรถอัดใบอ้อย ปัจ จัยสุดท้ายที่เอื้อให้เกษตรกรเลือกใช้วิธีเผา เนื่องจากพื้นที่ขาดแคลน เครื่องจักรที่เหมาะสมสำหรับเก็บเกี่ยวอ้อยทำให้ต้องตัดอ้อยไฟไหม้ รถตัดอ้อยมีไม่เพียงพอและไม่เหมาะสมกับพื้นที่เก็บเกี่ยว”

สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร สศก. ยังได้ให้ข้อเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมการ บริหารจัดการชีวมวลอ้อยที่เหมาะสมของเกษตรกร ควรดำเนินการ 1) ผลักดันการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน/กลุ่มเกษตรกร/สหกรณ์/ สมาคม เพื่อบริหารจัดการชีวมวลอ้อยที่เหมาะสมกับพื้นที่และบริบทชุมชน 2)กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ สำหรับการบริหารจัดการชีวมวลอ้อย จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน โรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวล สมาคมชาวไร่อ้อย เกษตรกรชาวไร่อ้อย และชุมชน

...

3) สนับสนุนและส่งเสริมการบริหารจัดการชีวมวลอ้อยที่ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 4) การบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน กำหนดบทบาทให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง.

ชาติชาย ศิริพัฒน์