“ถ้าครูไม่ห่วงประโยชน์ที่ควรจะห่วง หันไปห่วงอำนาจ ห่วงตำแหน่ง ห่วงสิทธิ์ และห่วงรายได้กันมากเข้าๆแล้ว จะเอาจิตเอาใจที่ไหน มาห่วงความรู้ ความดี ความเจริญของเด็ก ความห่วงในสิ่งเหล่านั้นก็จะค่อยๆบั่นทอนทำลาย
ความเป็นครูไปจนหมดสิ้น จะไม่มีอะไรเหลือไว้ พอที่ตัวเองจะภาคภูมิใจ หรือผูกใจใครไว้ได้ ความเป็นครูก็จะไม่มีค่าเหลืออยู่ให้เป็นที่เคารพบูชาอีกต่อไป”
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระราชทานแก่ครูอาวุโส โอกาสเข้าเฝ้าฯ วันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม 2521 “ทีมการศึกษา” ขออัญเชิญมาเตือนใจแม่พิมพ์ของชาติได้นำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องในโอกาส “วันครู” 16 มกราคม 2566
สำหรับวันครูปีนี้จะมีการจัดงานวันครู ครั้งที่ 67 ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “พลังครู คือหัวใจของการพลิกโฉมคุณภาพการศึกษา” Teacher’s Power is the Heart of Trans forming the Educational Quality โดยจัดทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคพร้อมกันทั่วประเทศ ในรูปแบบผสมผสาน ทั้ง Onsite และ Online ซึ่งส่วนกลางจัดงานระหว่างวันที่ 16-17 ม.ค.2566 ที่หอประชุมคุรุสภา และสนามหญ้าหน้ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รูปแบบ Online จัดงานผ่าน www.วันครู.com รวมถึงถ่ายทอดสด และ Face book FanPage คุรุสภา ตั้งแต่เวลา 09.30 น.
...
“วันครูปีนี้สิ่งที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงจากครู คือ การยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนการสอน ซึ่งเบื้องต้นคงต้อง Set มาตรฐานกลางขึ้นก่อน เพื่อควบคุมคุณภาพของการจัดการเรียนการสอนให้ภาพรวมทั้งระบบมีมาตรฐาน หลังจากนั้นค่อยพัฒนาต่อ โดยดูว่าครูคนไหนยัง ขาดอะไร แล้วเสริมจุดที่ยังขาดไปตามความแตกต่างของแต่ละคน ซึ่งก็ต้องจัดให้มีการอบรมให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอเรื่อยๆ ซึ่งวิธีการพัฒนาครูสามารถทำได้ตั้งแต่การนำระบบ PLC มาใช้ หรือกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หา content มาเติมความรู้ทักษะด้านต่างๆให้ครู นอกจากนี้ก็สามารถสอน PCK เติมความรู้เฉพาะทางเฉพาะสาขาของครูสาขานั้นๆ เช่น ครูวิทยาศาสตร์ที่สอนเนื้อหาด้านชีววิทยา ก็เสริมความรู้ชีววิทยาเข้าไปโดยตรง เป็นการอัปเดตเนื้อหาความรู้อยู่ตลอดเวลาด้วย
...อีกเรื่องคือการพัฒนาครูตามนโยบายหรือจุดเน้นของ ศธ. เช่น การเน้นการสอนวิชาประวัติศาสตร์ก็ต้องมีการพัฒนาครูสังคมที่อาจไม่ได้จบการสอนประวัติศาสตร์มาทุกคน แต่ก็พัฒนาครูให้สามารถสอนวิชาประวัติศาสตร์ให้มีคุณภาพได้ รวมถึงการพัฒนาครูให้รู้จักเรื่องการประเมินแนวใหม่ ที่ไม่ใช้การวัดผลด้วยข้อสอบ ก. ข. ค. แต่เปลี่ยนเป็นการวัดผลด้วยการลงมือปฏิบัติ Assess ment Learning โดยเฉพาะวิชาด้านดนตรี กีฬา การงาน เช่น ร้องเพลง กีฬา ฯลฯ ท้ายที่สุด คือ การอบรมเสริมสร้างจิตสำนึกและความตระหนักในเรื่องเสริมที่นอกเหนือจากเนื้อหาวิชาการในการเรียนการสอน โดยเราเชื่อว่าครูทุกคนมีความตระหนักในวิชาที่สอนอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ครูยุคปัจจุบันควรเพิ่มเติมจากวิชาที่สอน เช่น การมีจิตสำนึกของความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น หรือการมี empathy ต่อเด็ก เพื่อเข้าถึงตัวเด็กที่เสี่ยงต่อการเป็นอาการซึมเศร้า หัวใจสำคัญที่สุดคือ การสร้างนิสัยใฝ่รู้ใฝ่ขวนขวายด้วยตนเอง ซึ่งจะทำให้ได้ครูที่เป็นผู้กระตือรือร้นพัฒนาตนเองอยู่เสมอ และจะส่งผลให้คุณภาพของครูมีการพัฒนาอยู่ตลอดและย่อมช่วยพัฒนาการศึกษาให้เกิดคุณภาพอย่างยั่งยืนในที่สุด” น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงนโยบายและภาพ สิ่งที่มุ่งเน้นพัฒนาครูที่จะเกิดขึ้นต่อไป
และแน่นอนว่า “วันครู” ของทุกๆปี “สวนดุสิตโพล” ได้สำรวจดัชนี “ความเชื่อมั่นครูไทย” โดยปีนี้ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 3,897 คน ซึ่งจากคะแนนในภาพรวมเต็ม 10 ประ ชาชนให้ความเชื่อมั่นครูไทยในปี 2565 ที่ผ่านมา 7.52 คะแนน
...
โดย 10 เรื่องที่ได้คะแนนความเชื่อมั่นสูงสุด ได้แก่ บุคลิกภาพดี แต่งกายเหมาะสมกับอาชีพ ได้ 7.82 คะแนน มนุษยสัมพันธ์ดี เข้ากับผู้อื่นได้ 7.73 คะแนน มีเป้าหมาย ประเมินและปรับ ปรุงพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง ได้ 7.68 คะแนน ทันสมัย ทันเหตุการณ์ รู้ข้อมูลใหม่ๆ ได้ 7.66 คะแนน ใช้เทคโนโลยีได้เหมาะสม ได้ 7.65 คะแนน มีความเมตตา มีจิตใจโอบอ้อมอารี ได้ 7.64 คะแนน ความรู้ความสามารถในการสอนและการถ่ายทอดความรู้ ได้ 7.63 คะแนน สามารถทำงานเป็นทีม ได้ 7.61 คะแนน ดูแลตนเองทั้งสุขภาพร่างกายและจิตใจ ได้ 7.59 คะแนน อบรมพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ได้ 7.55 คะแนน
ส่วนเรื่องที่ประชาชนรู้สึกเชื่อมั่นต่อครูน้อยที่สุด คือ เรื่องของความประหยัด ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่เป็นหนี้เป็นสิน โดยให้คะแนนเพียง 6.50 คะแนนเท่านั้น
ขณะเดียวกันประชาชน ร้อยละ 51.89 ยังมองว่าจุดเด่นของครูในวันนี้ คือ การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มีทักษะใหม่ๆ ร้อยละ 48.11 มีความขยัน อดทน ทุ่มเท เสียสละ ร้อยละ 45.08 มีสวัสดิการ ค่าตอบแทนไม่เหมาะสม ร้อยละ 44.43 มีหนี้สิน และร้อยละ 42.25 มีความเหลื่อมล้ำ
...
ที่น่าสนใจ ประเด็นประชาชนคิดว่า “ครูไทย” ควรทำอย่างไรจึงจะพลิกโฉมคุณภาพการศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยร้อยละ 65.74 เห็นว่าครูควรมีความทันสมัย ทันโลก ทันเหตุการณ์ ปรับตัวเร็ว แก้ปัญหาไว ร้อยละ 62.23 ควรปรับรูปแบบการสอน ใช้เทคนิคใหม่ๆแบบผสมผสาน ร้อยละ 59.28 ควรจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เด็กมีส่วนร่วม และได้ลงมือทำจริง ร้อยละ 56.81 ควรคิดนอกกรอบ คิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และร้อยละ 54.14 ควรพัฒนาด้านเทคโนโลยี
ในช่วง 2-3 ปีของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังส่งผลให้การศึกษาชาติได้รับผลกระทบอย่างหนัก ครูต้องปรับตัวในการจัดการเรียนการสอนเป็นอย่างมาก และจากดัชนีชี้วัดครูของสวนดุสิตโพลดังกล่าว ก็สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าแม่พิมพ์ของชาติยังคงต้องปรับตัวอีกหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ช่วยจัดการเรียนการสอน รวมถึงการอัปเดตองค์ความรู้ใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา จะได้ไม่ตกยุคสมัยให้อายลูกศิษย์
และในโอกาสวันครู 16 มกราคม “ทีมการศึกษา” ขอกราบคารวะพระคุณครู และขอเป็นกำลังใจให้กับครูทุกคนที่ทุ่มเท เสียสละจิตวิญญาณในการทำหน้าที่ ทั้งยังพร้อมปรับตัวรับการเปลี่ยน แปลงเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ แต่สิ่งที่เราอยากจะขอฝากคือ โพลความเชื่อมั่นครูไทยน่าจะเป็นภาพสะท้อนความรู้สึกสังคมส่วนหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม และน่าจะนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อปรับเปลี่ยนให้ครูเป็นครูอย่างแท้จริงสมกับที่เป็น “เรือจ้างคุณภาพ” ส่งอนาคตของชาติให้ถึงฝั่งฝันที่เปี่ยมด้วยคุณภาพ...!!!
ทีมการศึกษา