"กรมชลฯ" วางแผนบริหารจัดการน้ำสู้ภัยแล้ง นำเทคโนโลยีมาต่อยอดนวัตกรรม-พัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพ จัดสรรน้ำได้อย่างมั่นคง เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต-ช่วยลดผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง
เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์หลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยในหลายพื้นที่มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำอย่างจำกัด และมีโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงต่อการประสบปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในภาคการเกษตร
ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ที่ผ่านมากรมชลประทานใช้โปรแกรมการวางแผนการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำ (Reservoir Operation Study) เป็นโปรแกรมหลักในการวางแผนจัดสรรน้ำ โดยคำนวณหาปริมาณความต้องการใช้น้ำชลประทาน เพื่อนำมาวางแผนการจัดสรรน้ำ เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน แต่เนื่องจากข้อจำกัดในหลายๆ ด้าน ทั้งภายในตัวโปรแกรมและจำนวนบุคลากรที่มีอย่างจำกัด จึงจำเป็นต้องมีงานวิจัย นวัตกรรม หรือเครื่องมือที่จะเสริมศักยภาพการทำงานให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ “สำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา เป็นองค์กรนำด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ ให้ทุกภาคส่วนอย่างเพียงพอ ทั่วถึงและเป็นธรรม โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวางแผนและบริหารจัดการน้ำให้ดียิ่งขึ้น
ดร.ธเนศร์ กล่าวต่อว่า ทีมนักวิจัยของสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน นำโดย นายมาณพ พรมดี, นายพีระพงศ์ รัตนบุรี, และนายวชิระ สุรินทร์ จึงได้ต่อยอดนวัตกรรมเพื่อปรับปรุงโปรแกรมวางแผนการบริหารจัดการน้ำเพื่อการชลประทาน (Water Management Planning Program For Irrigation, WaPi) โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งโปรแกรมดังกล่าวจะช่วยลดระยะเวลาในการดำเนินการ ลดข้อผิดพลาดในการทำงาน ลดจำนวนบุคลากรที่ใช้ในการทำงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ ตามวัตถุประสงค์การใช้น้ำ
...
ขณะที่ นายมาณพ พรมดี หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า โปรแกรมการวางแผนการใช้น้ำเดิมที่ใช้อยู่นั้น ยังมีข้อจำกัดในหลายด้านไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการฐานข้อมูล การเลือกช่วงเวลาทำการเพาะปลูก ข้อมูลปริมาณการใช้น้ำอ้างอิงของพืชในอดีตที่ผ่านมา และชนิดพืชที่เพาะปลูก ซึ่งในงานวิจัยนี้จะช่วยในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำเพื่อการชลประทานให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน ให้เกิดความแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีการพัฒนาระบบให้มีความทันสมัย ลดข้อผิดพลาดและข้อจำกัดต่างๆ รวมถึงช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างถูกต้องและแม่นยำมากยิ่งขึ้น
ด้าน นายพีระพงศ์ รัตนบุรี ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โปรแกรมการวางแผนการวางแผนการบริหารจัดการน้ำเพื่อการชลประทาน (Water Management Planning Program For Irrigation, WaPi) ที่ได้มีการต่อยอดพัฒนาตามที่กล่าวมาข้างต้นนั้น มีการปรับเปลี่ยนให้ง่ายต่อการใช้งาน และมีการจัดการฐานข้อมูลที่เป็นระบบ นอกจากนี้ยังมีจุดเด่นที่เพิ่มเข้ามา คือ มีการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง สามารถวางแผนจัดสรรน้ำและใช้ร่วมกับการคาดการณ์ปริมาณน้ำ ช่วยควบคุมปริมาณน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ (Rule Curve) ซึ่งมีความสำคัญต่อการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำเป็นอย่างยิ่ง
ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า โครงการโปรแกรมการวางแผนการวางแผนการบริหารจัดการน้ำ เพื่อการชลประทาน (Water Management Planning Program For Irrigation, WaPi) ที่มีการนำเทคโนโลยีมาต่อยอดนวัตกรรมพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นนั้น จะช่วยเพิ่มความมั่นคงของเกษตรกร ให้สามารถทำการเกษตรได้อย่างมั่นคง เพิ่มคุณภาพชีวิต และช่วยลดผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นได้