นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยถึงผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ชีวมวลจากปาล์มน้ำมันเพื่อผลิตไฟฟ้า โดยสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า ศักยภาพชีวมวลปาล์มน้ำมันในแต่ละชนิด ได้แก่ เมล็ดในปาล์ม ให้ค่าพลังงานความร้อนมากที่สุดที่ 1.959 ล้านเมกะจูล รองลงมาคือ เส้นใยปาล์ม 1.500 ล้านเมกะจูล ทะลายเปล่า 1.370 ล้านเมกะจูล กะลาปาล์ม 1.149 ล้านเมกะจูล กากเมล็ดในปาล์ม 0.568 ล้านเมกะจูล ลำต้นปาล์ม 0.116 ล้านเมกะจูล และทางใบปาล์ม 0.040 ล้านเมกะจูล ตามลำดับ

โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม มีการใช้ประโยชน์จากทะลายเปล่าและเส้นใยปาล์ม มีการใช้ทะลายเปล่า ร้อยละ 75 ขายให้โรงไฟฟ้าชีวมวล และอีกร้อยละ 25 โรงงานสกัดฯ นำมาเผาเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในโรงงาน...ส่วนเส้นใยปาล์ม ร้อยละ 90 นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าใช้ในโรงงาน และอีกร้อยละ 10 ขายให้โรงไฟฟ้าชีวมวล โดยโรงไฟฟ้าชีวมวลจะมีการรับซื้อทะลายเปล่าราคา กก.ละ 0.30 บาท เส้นใยปาล์มราคา กก.ละ 0.90 บาท

“โรงไฟฟ้าชีวมวลส่วนใหญ่จึงเลือกใช้ทะลายเปล่าเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตไฟฟ้า เพราะมีราคาถูกและให้ความร้อนได้ดีเหมาะ แม้ว่าเมล็ดในปาล์มจะให้ค่าพลังงานความร้อนมากที่สุด แต่ไม่นิยมนำมาเผาเพื่อผลิตไฟฟ้า เนื่องจากเมล็ดในปาล์มมีราคาสูงถึง กก.ละ 25 บาท ส่วนใหญ่จะนำไปจำหน่ายเพื่อสกัดเป็นน้ำมันเมล็ดในแทน”

...

นางกาญจนา แดงรุ่งโรจน์ รองเลขาธิการ สศก. ให้ข้อมูลเติมในส่วนของทางใบปาล์มและลำต้นปาล์ม หากเกษตรกรนำออกจากสวนเพื่อไปขายให้กับโรงไฟฟ้าชีวมวล จะมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการที่เพิ่มขึ้น เช่น ค่าเก็บรวบรวม และค่าขนส่ง จึงไม่คุ้มทุน

ดังนั้น เกษตรกรควรมีการใช้ประโยชน์จากทางใบปาล์มและลำต้นปาล์มมาทำเป็นปุ๋ยแทน เพราะจะสามารถช่วยลดต้นทุนการใส่ปุ๋ยจากทางใบปาล์มได้ถึงไร่ละ 2,389 บาท หากใช้ลำต้นปาล์มจะสามารถลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยได้มากถึงไร่ละ 6,873 บาท

นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางการเงิน ในการลงทุนตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลจากทะลายเปล่าปาล์มน้ำมัน พบว่า มีความคุ้มค่าในการลงทุน โดยมีผลตอบแทนจากการลงทุนร้อยละ 14.16 และสามารถคืนทุนได้ภายใน 6 ปี 4 เดือน

“ทั้งนี้ ภาครัฐควรส่งเสริมผู้ประกอบการในด้านการลดภาษีการนำเข้าเครื่องจักร เพื่อกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้และสนับสนุนการตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล รวมถึงการขออนุญาตตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลควรมีหน่วยงานให้บริการในรูปแบบ One Stop Service เพื่อลดความซับซ้อนและขั้นตอนในการดำเนินการ พร้อมทั้งส่งเสริมระบบการขนส่งโลจิสติกส์การบริหารจัดการด้านวัตถุดิบชีวมวลเข้าโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยตั้งจุดรับซื้อในการรวบรวมวัตถุดิบเพื่อให้ได้ตามปริมาณเพียงพอ เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการทำสัญญาร่วมกันระหว่างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มและโรงไฟฟ้าชีวมวล เพื่อให้วัตถุดิบป้อนเข้าสู่โรงงานได้อย่างสม่ำเสมอ และสนับสนุนให้มีการตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้เชื้อเพลิงที่เหมาะสมในแต่ละชุมชน”.