"ดร.อนันต์" นักไวรัสวิทยา อธิบายชัดชุดตรวจ ATK ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ใช้ตรวจโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ ได้หรือไม่
วันที่ 28 พ.ย.65 จากกรณีการแพร่ระบาดของโควิดในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้พบว่า มีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งในต่างประเทศยังพบผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีการกลายพันธุ์ ทำให้หลายคนเกิดคำถามว่า แล้วชุดตรวจ ATK ที่มีอยู่ในบ้านเราขณะนี้ สามารถตรวจจับโควิด-19 ได้ทุกสายพันธุ์หรือไม่
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ไบโอเทค สวทช. ได้โพสต์ข้อความอธิบายเกี่ยวกับ "โควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ ยังใช้ ATK ตรวจได้อยู่หรือไม่" ไว้ว่า ถ้าจะตอบให้ตรงคำถามคงต้องนำไวรัสแต่ละสายพันธุ์มาแยก และตรวจสอบกับ ATK แต่ละยี่ห้อโดยตรง เพราะ ATK แต่ละยี่ห้อให้แอนติบอดีสำหรับตรวจจับโปรตีนของไวรัสที่เป็นสูตรของแต่ละที่ และปริมาณแตกต่างกัน ซึ่งคงไม่สามารถนำผลของชุดตรวจนึงไปอนุมานให้กับอีกชุดตรวจหนึ่งได้
แต่ถ้าไม่ทำวิธีข้างต้น สามารถใช้การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของไวรัสมาช่วยได้ เนื่องจาก ATK แทบทุกยี่ห้อที่ใช้อยู่ตอนนี้ ใช้แอนติบอดีต่อโปรตีนนิวคลีโอแคปซิด หรือ โปรตีน N (Nucleocapsid) เป็นตัวจับโปรตีนของไวรัส กรณีที่ชุดตรวจจะใช้ไม่ได้ที่ตรงไปตรงมาที่สุด คือ ไวรัสสายพันธุ์นั้นมีการเปลี่ยนแปลงที่โปรตีนตัวนี้ไปจนแอนติบอดีจับไม่ได้แล้ว
โดยพบว่า ไวรัสตัวใหม่ๆ ไม่ค่อยเปลี่ยนโปรตีน N ซึ่งทำให้แอนติบอดีส่วนใหญ่ที่เคยจับ N ได้ น่าจะทำงานได้ดีอยู่ ชุดตรวจ ATK ที่เคยตรวจโอมิครอนตัวแรกๆ ได้ดี น่าจะใช้งานได้ดีกับตัวใหม่ๆ ที่เริ่มเพิ่มขึ้นได้อยู่
คำถามต่อมาคือ แล้วมีโอกาสที่สายพันธุ์ไหนจะใช้ ATK ได้น้อยลงหรือไม่ คำตอบคือมีแนวโน้มถ้าสายพันธุ์ตระกูลที่เกิดจากการเป็น Hybrid (ผสมระหว่างต่างสายพันธุ์) เข้ามาระบาดในพื้นที่ โดยเฉพาะสายพันธุ์ XBA และ XAW ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่าง Delta และ BA.2 โดยยีนส่วนโปรตีน N จะมาจาก Delta แต่ไม่เหมือนกับ Delta เดิมที่ ATK เคยตรวจได้ เพราะมีการกลายพันธุ์เกิดขึ้นหลายตำแหน่ง ทำให้มีแนวโน้มเกิดผลกระทบต่อการทำงานของแอนติบอดีในชุดตรวจได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องกลับไปย่อหน้าแรกที่เขียนไว้ก็คือ ต้องทดสอบกับไวรัสและชุดตรวจแต่ละชนิด ไม่สามารถอนุมานแบบปูพรมว่า ATK ทุกแบบจะใช้ไม่ได้.
...
ที่มาจาก เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana