การปล่อย ก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ Net Zero Emissions ที่กำหนดเป้าหมายภายในปี 2050 กำลังจะเป็นประเด็นสำคัญของ นโยบายระดับประเทศ เราพูดถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกันมานาน แต่ไม่มีผลหรือผูกพันให้ต้องนำมาปฏิบัติ แต่ ถ้าจะสังเกต การประชุมระดับผู้นำโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจหรือสังคม จะหยิบยกเรื่องนี้มาเป็นเรื่องใหญ่ แม้แต่การเป็นเจ้าภาพในการ จัดประชุมเอเปก ในบ้านเรา ก็มีการหยิบเอาเรื่องของ คาร์บอนเป็นศูนย์ มาอยู่ในวาระของการประชุมด้วย

การประกาศเจตนารมณ์ของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งการจัดกิจกรรมต่างๆให้สอดคล้องกับเป้าหมาย คาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2050 ที่เร็วกว่าตามกำหนดเป้าหมายเดิม ไม่ว่า จะเป็นการปลูกป่าเพิ่มปีละ 1 ล้านไร่ การลดมลพิษในมิติต่างๆ อย่าง หน่วยงาน ปตท. ที่นำร่องไปแล้ว จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 15 ภายในปี 2030 บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2040 และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ได้ในปี 2050 โดยวางกลยุทธ์ ตัวชี้วัด และแผนปฏิบัติการในระยะยาวเอาไว้แล้ว มี คณะทำงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์กลุ่ม ปตท. คอยกำหนดกลยุทธ์ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางเอาไว้

ไม่ว่าจะเป็นการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ ในพื้นที่บริเวณทะเลอ่าวไทย และพื้นที่ฝั่งภาคตะวันออก การนำคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์สูงสุด ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ การปรับปรุงกระบวนการผลิต และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบวนการผลิต การผลักดันให้ใช้พลังงานจากไฮโดรเจน คาดว่าสามารถลดคาร์บอนได้ถึงร้อยละ 30 ขึ้นไป

การลงทุนในอนาคต จะต้องคำนึงถึง ธุรกิจพลังงานสะอาด และ การเติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงานในปัจจุบัน เป็นสัดส่วนร้อยละ 32 ของงบลงทุนภายในระยะเวลา 10 ปี การเพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซเรือนกระจกด้วยวิธีธรรมชาติ โดยร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ จะสามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้อย่างน้อยร้อยละ 2 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวม การปลูกป่า 1 ล้านไร่ต่อปี จะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 2.14 ล้านตันคาร์บอนต่อปี เมื่อเทียบกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์ส่วนบุคคลเฉลี่ย 4.6 แสนคันต่อปี ปล่อย ก๊าซออกซิเจน ได้กว่า 1.55 ล้านตันออกซิเจน

...

ผู้บริหารระดับสูงของ ปตท. อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ชี้แจงให้ เห็นถึงความสำคัญในการรณรงค์และความจำเป็นเร่งด่วนในการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลกเร็วกว่าที่กำหนดไว้ เพราะปัจจุบันอันตรายจากก๊าซเรือนกระจกเริ่มจะส่งผลที่ชัดเจนกับประชากรโลกและสภาพธรรมชาติ ทำให้เกิดภัยพิบัติและโรคระบาด ที่รวดเร็วและรุนแรง ดังนั้นการบรรลุเป้าหมาย Net Zero จะเป็น แนวทางที่สำคัญในการที่มนุษย์จะต้องร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีและสังคมโลกที่น่าอยู่มากขึ้น แค่ช่วยกันปลูกต้นไม้ให้มากกว่าการตัดต้นไม้ก็ช่วยโลกได้แล้ว.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th