ประสิทธิ์ ไชยชมพู เกริ่นนำคำ “หวีเสนียด” ไว้ในหนังสือ ศัพท์สันนิษฐานเล่ม 2 พ.ศ.2565 ว่า หวีโบราณของมนุษย์ต่างอารยธรรม ไม่ว่าไอยคุปต์ อียิปต์ สินธุ อินเดีย กรีก-โรมัน รูปทรงคล้ายกันแทบทั้งหมด อาจพูดได้ว่า ในรอบห้าพันปี รูปทรงหวีปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อย

ประสิทธิ์ มีภาพประกอบรูปหวีงาช้างอายุสองพันปี ขุดได้ที่เมืองโบราณจันเสน อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ลวดลายศิลปะอินเดียใต้แบบอมราวดี รูปร่างเหมือนหวี แบบที่ชาวไทยสยามเรียกว่า หวีเสนียด

ทั้งยังเอาคำเสนียด มาใช้สื่อความหมายแง่ลบ เช่น คำด่าอ้าย หรืออีตัวเสนียดของหมู่บ้าน

เพื่อขยายมุมมอง “หวีเสนียด” ให้กว้างขวาง ประสิทธิ์ ตั้งโจทย์ไว้ดังนี้ เครื่องมือสางผมแต่งทรงผมให้สวยงาม ภาษาไทย ทำไมเรียกหวี?

เหตุใดคำนามหวี (วัสดุ) จึงพ้องเสียงลักษณนาม “หวี” ของกล้วย

และเสนียดธาตุคำรากศัพท์มาจากไหน

หวี เป็นคำร่วมของกลุ่ม ไต/ไท เรียกวัสดุสิ่งของที่เป็นซี่เรียงถี่ๆ คล้ายซี่ฟัน หรือก้างปลา หวี (นาม)=วัสดุเครื่องมือสางผมให้เรียบ หวี (กริยา)=การสางผมทำให้ผมเรียบ หวี (ลักษณนาม)=กล้วย 1 หวี

ส.พลายน้อย เขียนเรื่องหวี ไว้ตอนหนึ่ง

ที่พิพิธภัณฑ์แคว้นซาราวัก พบหวีทำด้วยไม้อันหนึ่ง อายุประมาณ 600 ปี สังเกตดูทำเรียบร้อยมาก ตามสุสานอียิปต์ปรากฏหวี ทำเหมือนรูปฝ่ามือ บางอันมี 34 ซี่ บางอัน 18 ซี่ อายุราว 3,200 ถึง 5,000 ปี หวีอินเดียมีรูปร่างหลายแบบ

เด็กสมัยนี้ไม่รู้จักหวีเสนียด พอพูดถึงเขาก็หัวเราะถาม มีหรือหวีเสนียด คนรุ่นใหม่รู้จักแต่คำว่า เสนียดที่แปลว่าจัญไร เรื่องจัญไรยังมี แต่หวีเสนียดไม่มีแล้ว

ประสิทธิ์ ไชยชมพู ตั้งโจทย์ต่อ หวีเสนียด คำนี้ธาตุคำรากศัพท์เป็นมาอย่างไร ก่อนอื่นอ่านนิยามทั่วไปดังนี้

...

หวีเสนียด=หวีซี่ละเอียดทั้งสองข้าง กระเหนียด ก็เรียก ของใช้จำเป็นของคนสมัยก่อน นอกจากใช้สางผมละเอียดแล้ว ยังใช้สางตัวเหา ไข่เหาออกจากเส้นผมด้วย

ราชบัณฑิตยสถาน อธิบาย “เสนียดจัญไร” สรุปความว่า เสนียดในที่นี้มีความหมายว่า อัปมงคล หรือจัญไร...จัญไร มีความหมายว่า เลวทราม ไม่เป็นมงคล ใช้คำว่า “จังไร” ก็มี

คำว่าเสนียดสันนิษฐานว่า เพี้ยนมาจากคำเดิม สะเดียด

หนังสือสัพะ พะจะนะ พาสาไท...สะเดียด ว่า เคราะห์ร้าย ถ้าต้องการป้องกันตนให้พ้นจากเคราะห์ร้าย ใช้คำว่า กันสะเดียด หรือ กันสะเดียดจัญไร และเรียกคนเคราะห์ร้ายว่า คนสะเดียดจัญไร

ข้อสังเกต เสนียด เป็นคำไทยยืมจากเขมร คำกริยา หวี หรือ สาง ภาษาเขมรใช้ สิต/เซ็ต/แผลงเป็นสนิต/เซน็ต คำนาม สนิต หมายถึง หวีเสนียด หวีกล้วย

ผู้ศึกษาจะขมวดที่มา เสนียด ควรเป็นดังนี้ ลิ้นคนไทยออกเสียง เสียด=สิต แผลงเป็น สนิต เสียด เป็น เสนียด

เสนียด (นาม) เรียกกล้วยทั้งหวี เสนียด (กริยา) เรียก อาการหวี หรือสางผม ฉะนั้นใช้มือห้านิ้วสางผม ก็คือการเสนียด...เสนียด (นาม) เครื่องมือใช้หวี หรือสางเส้นผม จัดทรงผม รวมทั้งมุ่งจะสางเอาตัวเหาไข่เหา

หรือแม้แต่เห็บ หมัดออกไปจากหัว หวีสางสิ่งไม่ดี จัญไรออกไปจากศีรษะ

ดังมีวลีว่า เหาขึ้นหัวแล้ว ความอัปรีย์จัญไรมาถึงตัวแล้ว

ผมอ่านข้อสันนิษฐานของประสิทธิ์ ไชยชมพู มาถึงตรงนี้ ก็เข้าใจ แท้จริง เสนียด ตามรากศัพท์เดิม ไม่มีความหมายไปทางไม่ดี มีความหมายซ้ำกับกริยาคำว่า หวี เสนียดหัว ก็แค่หวีหัว

เข้าใจเสียแล้ว ต่อไปนี้ใครมาด่า “ไอ้ตัวเสนียด” ก็ไม่โกรธ แต่อย่าด่า ไอ้ตัวอัปรีย์ ไอ้ตัวจัญไรก็แล้วกัน

เรื่องการเมืองผมเคยได้ยินเขาด่า อัปรีย์ไป จัญไรมา ยังนึกอยู่ว่า เอ๊ะ!เขาด่าใคร...คนที่ไล่ก็ไม่น่ารัก คนที่จะมาก็ไม่เป็นมงคล หรือว่าคนพวกนั้น ไม่มีพวกไหนดีเอาเสียเลย.

กิเลน ประลองเชิง