ลุ่มเจ้าพระยาลุ้นระทึก กรมชลประทาน แจ้งเตือน 11 จังหวัดภาคกลางรวมทั้ง กทม.เฝ้าระวังเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำท่วม หลังเขื่อนเจ้าพระยาปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันได 1,800 ถึง 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที เริ่ม 4 ก.ย. ส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนสูงขึ้น 40-50 ซม. เมืองกรุงประกาศความพร้อมเต็มพิกัดช่วง 10 วันอันตราย อุตุฯเฝ้าจับตาเส้นทางพายุไต้ฝุ่น “หินหนามหน่อ” ใกล้เกาะไต้หวัน ไม่มีทิศทางเคลื่อนเข้าสู่ไทย แต่จะดึงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น “บิ๊กป้อม” นำคณะลงพื้นที่แปดริ้วติดตามสถานการณ์น้ำ ยืนยันปีนี้ไม่ท่วมหนักซ้ำรอยปี 54 แน่นอน
สถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยายังน่าเป็นห่วง หลังมวลน้ำเหนือเพิ่มขึ้นจนเขื่อนเจ้าพระยาต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำ เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 1 ก.ย. ที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ระดับน้ำเหนือเขื่อนวัดได้ 15.78 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มอัตราการระบายน้ำขึ้นไปที่ 1,799 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่งผลให้ท้ายเขื่อนมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นที่ 13.87 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ทั้งนี้ กรมชลประทานมีแผนปรับเพิ่มการระบายน้ำไม่เกิน 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที แบบขั้นบันได เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชนและพื้นที่การเกษตร เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 ก.ย.ในอัตรา 1,800-2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที จะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้น 0.40-0.50 เมตรในช่วงวันที่ 5-6 ก.ย. บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล และ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนคร ศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชนเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำ กรมชลประทานได้แจ้งเตือน 11 จังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
...
นายณัฐวุฒิ ตั่งสินชัย นอภ.สรรพยา เผยว่า พื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอุดท่อระบายน้ำป้องกันน้ำท่วมเข้าหมู่บ้านบริเวณลุ่มต่ำ พื้นที่บางใหญ่ หมู่ 2 ต.หาดอาษา บางตาเซีย หมู่ 9 ต.หาดอาษา บางตาเพชร หมู่ 4, 5 ต.โพนางดำออก วัดโพธิมงคล หมู่ 1 ต.บางหลวง และบริเวณบานประตูน้ำบางใหญ่ หมู่ 1 ต.โพนางดำออก ที่น้ำกัดเซาะตลิ่งทำให้ทรุดตัวลง เทศบาลตำบลโพนางดำออกได้ตอกเสาเข็มและวางถุงบิ๊กแบ็กป้องกันการทรุดตัวของตลิ่งเพิ่มแล้ว ขณะที่เทศบาลตำบลบางหลวง สร้างคันดินกั้นน้ำเข้าพื้นที่หมู่ 2 ช่วงนี้ทางอำเภอสรรพยาได้ติดตามสถานการณ์น้ำจากกรมชลประทานอย่างใกล้ชิด และแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำท้ายเขื่อนอย่างต่อเนื่อง
ที่ศาลาว่าการ กทม. นายสมศักดิ์ มีอุดมศักดิ์ ผอ.สำนักการระบายน้ำ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำว่า ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานี (C2) จ.นครสวรรค์ อยู่ในเกณฑ์ 2,000-2,200 ลบ.ม.ต่อวินาที จะส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ 1,800-2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ให้ กทม.เฝ้าระวังสถานการณ์ระหว่างวันที่ 1-10 ก.ย. ขอให้ ประชาชนหรือชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชนที่ประกอบกิจการในแม่น้ำ เช่น งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร ท่าเทียบเรือโดยสารสาธารณะ ติดตามสถานการณ์ รวมถึงแจ้งเหตุเดือดร้อน ขอรับความช่วยเหลือจาก กทม. ได้ที่สำนักงานประชาสัมพันธ์ Twitter : @BKK_BEST, สำนักงานประชาสัมพันธ์ รวมถึงการแจ้งจุดที่มีปัญหาน้ำท่วมบนถนนสายหลัก และรับแจ้งเหตุน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ โทร.1555 หรือศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำ โทร.0-2248-5115 หรือแจ้งทางระบบทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue)
กรมอุตุนิยมวิทยารายงานความคืบหน้าการติดตามเส้นทางเดินพายุไต้ฝุ่น “หินหนามหน่อ (HINNAMNOR)” วันนี้ (1 ก.ย.) ยังมีศูนย์กลางบริเวณด้านตะวันออกของเกาะไต้หวัน ในมหาสมุทร แปซิฟิกตะวันตก ยังเคลื่อนตัวทางตะวันตกเฉียงใต้ และคาดว่าพรุ่งนี้ (2 ก.ย.) มีแนวโน้มจะเริ่มกลับลำเคลื่อนตัวกลับไปทางทิศเหนือไปทางประเทศจีนด้านตะวันออกต่อไป พายุนี้ยังแรงระดับไต้ฝุ่นไม่มีทิศทางเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย แต่จะดึงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้นได้ ส่วนสภาพอากาศช่วงวันที่ 1-3 ก.ย. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนช่วงวันที่ 4-6 ก.ย. ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก และฝนตกสะสมที่เกิดขึ้นไว้ด้วย อาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก
...
ช่วงเช้าวันเดียวกัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ฐานะ ผอ.กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) นำคณะเดินทางลงพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา จุดแรกที่สถานีผลิตน้ำประปาฉะเชิงเทรา ต.วังตะเคียน อ.เมืองฉะเชิงเทรา เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำบางปะกง การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อการผลิตน้ำประปาเพื่อการอุปโภคและบริโภค ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี พล.อ.ประวิตรกล่าวมอบนโยบายว่า มีการเตรียมการทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อเตรียมการเรื่องน้ำดิบที่จะใช้ถึงปี 2580 โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำเค็มที่ต้องป้องกันในพื้นที่บางปะกง เราไม่สามารถเอาน้ำดิบมาไล่ระบบนิเวศได้ตลอด
พล.อ.ประวิตรกล่าวด้วยว่า ที่ประชาชนเกรงว่าฝนตกปีนี้จะทำให้น้ำท่วมเหมือนปี 2554 ขอรับรองเลยว่าไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ทั้งกรมชลประทาน สทนช. และทั้งหมดได้ร่วมกันกระจายน้ำ เมื่อฝนตกทางเหนือก็กระจายไม่ให้น้ำท่วมตลอดเวลา มีกรรมการ 22 ลุ่มน้ำกำกับดูแล มีคณะกรรมการน้ำทุกจังหวัดดูว่าน้ำจะมีมากน้อยหรือจะแล้ง ทำมา 3 ปีแล้วไม่มีแล้งเลย สังเกตได้ว่าหน่วยงานไม่มีประกาศภัยแล้งในทุกพื้นที่ รัฐบาลห่วงใยมากกับผลกระทบต่อประชาชน สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว ประสานบูรณาการ ขับเคลื่อนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก ป้องกันแก้ปัญหาระยะเร่งด่วนครอบคลุมถึงระยะยาว โดยเฉพาะการป้องกันปัญหาน้ำเค็มที่จะรุกล้ำเข้าในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี อาทิตย์หน้าจะอนุมัติงบประมาณ 100 กว่าล้านบาท เพื่อศึกษาการทำประตูน้ำป้องกันน้ำเค็ม ขณะที่กรมชลประทานต้องหาแหล่งน้ำต้นทุน เร่งก่อสร้างแหล่งน้ำที่ได้รับงบประมาณให้แล้วเสร็จ สามารถบริหารจัดการน้ำได้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการประสานงานกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการอนุมัติพื้นที่อ่างเก็บน้ำวังโตนด ถ้าได้มาจะทำให้กระจายน้ำได้ดีสามารถเก็บน้ำไว้ใช้ช่วงฤดูแล้งปลูกพืชไร่ได้ให้ประชาชนอยู่ดีกินดีมากขึ้น จากนั้น พล.อ.ประวิตรและคณะนั่งรถรางไปยังบริเวณคลองนครเนื่องเขต (คลองท่าไข่)
...