เมื่อวันที่ 5 ส.ค. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จัดการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย (Thailand Climate Action Conference) หรือ TCAC โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดพร้อมปาฐกถาเรื่อง “เป้าหมาย Net zero 2065 เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนของไทยในเวทีโลก” ว่า

รัฐบาลยืนยันเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลักดันไทยมุ่งสู่ความเป็นกลางทาง คาร์บอนภายในปี 2593 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2608 ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบรุนแรงมากขึ้นต่อทุกภูมิภาคทั่วโลก กระทั่ง World Economic Forum : WEF ได้กำหนดให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามระยะยาวของโลก ขณะที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย ล้วนแต่กระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ในปี 2564 ไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่อผลกระทบระยะยาวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงสุด เป็นลำดับที่ 9 ของโลก ดังนั้นไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวรับผลกระทบที่เกิดขึ้นในมิติต่างๆอย่างจริงจัง โดยจะเร่งดำเนินการครอบคลุม 3 องค์ประกอบสำคัญ คือ

1.การลดก๊าซเรือนกระจก

2.การปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

3.สนับสนุนการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐและเอกชน รวมถึงการพัฒนามาตรการทางเศรษฐศาสตร์ การเงิน และการคลัง เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องปรับตัวสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

...

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ที่สำคัญ นโยบาย BCG จะเป็นกลไกหลักสร้างความสมดุลของไทย ทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลได้นำมาตรการการเงินสีเขียวมาผลักดันการลงทุนในนวัตกรรมและธุรกิจสีเขียว ควบคู่กับการส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจปรับตัวรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ นอกจากนั้นยังมุ่งเน้นเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภทให้ได้ร้อยละ 55 ภายในปี 2580 เพื่อสร้างสมดุลในการดูดซับก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตประชาชน และปีนี้ ทส.ได้บรรลุเป้าหมายการปลูก ต้นไม้ 100 ล้านต้น ภายใต้โครงการ “รวมใจไทย ปลูกต้นไม้ เพื่อแผ่นดินสืบสานสู่ 100 ล้านต้น” โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน.