กระทรวงมหาดไทยจัดประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงออกแบบชิงรางวัลพระราชทานประจำปี 2565 สืบสานพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย ตั้งแต่เมื่อครั้งตามเสด็จในหลวง ร.9 ไปเยี่ยมราษฎร การประกวดจะมีขึ้นในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคใต้ คัดผ้า 150 ผืน ก่อนส่งให้คณะกรรมการกิตติมศักดิ์เฟ้นเหลือ 50 ผืน เข้ารอบตัดสินระดับประเทศ

ที่กรมการพัฒนาชุมชน ศูนย์ราชการ เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 12 ก.ค. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ กรรมการที่ปรึกษาโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย ผู้แทนคณะกรรมการประกวดผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา แถลงข่าวการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ภายใต้โครงการจัดแสดงและเชื่อมโยงการตลาดภูมิปัญญาผ้าไทย

นายสุทธิพงษ์เปิดเผยว่า นับเป็นระยะเวลากว่า 60 ปี ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระมหากรุณาธิคุณต่อการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทย ตั้งแต่เมื่อครั้งตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปเยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2498 ทอดพระเนตรเห็นราษฎรนุ่งซิ่นไหมมัดหมี่กันเป็นส่วนใหญ่ มีพระราชดำริควรนำภูมิปัญญาของราษฎรที่ได้ทอผ้าไว้ใช้กันอยู่มาพัฒนาเป็นอาชีพให้เกิดรายได้แก่ราษฎร ต่อมาทรงก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนาง เจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อฝึกอาชีพเสริมให้กับราษฎร อนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทยให้คงอยู่สืบไป ทั้งนี้รัฐบาลยังผลักดันมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทยจนเป็นมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2563

...

นายสุทธิพงษ์กล่าวต่ออีกว่า สมเด็จพระเจ้า ลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงออกแบบลายผ้า “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ได้รับแรงบันดาลพระทัยจาก “ผ้าขิดลายสมเด็จ” ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรม ราชชนนีพันปีหลวง อันเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย แต่ละลวดลายมีความหมายลึกซึ้งและเมื่อครั้งเสด็จทอดพระเนตรกลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ที่วัดธาตุประสิทธิ์และหอประชุม ร.ร.นาหว้าพิทยาคม อ.นาหว้า จ.นครพนม เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2565 พระราชทานลายผ้า “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ให้กลุ่มทอผ้า จากนั้นกรมการพัฒนาชุมชนส่งมอบแบบผ้าลายพระราชทานดังกล่าวให้กับกลุ่มทอผ้าใน 76 จังหวัดเพื่อนำไปเป็นต้นแบบพัฒนาต่อยอด ตามพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ส่งเสริมผ้าไทยให้ทันสมัย สู่สากลเป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัยและทุกโอกาส

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ยังให้จังหวัดต่างๆ ทั้ง 76 จังหวัด ศึกษาและค้นหาเอกลักษณ์ผ้าพื้นเมืองของจังหวัด เพื่อออกแบบและพัฒนาเป็นลายผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัด ที่บ่งบอกถึงการผสมผสานอัตลักษณ์ความหลากหลายของเชื้อชาติ ขนบธรรมเนียมประเพณี ค่านิยม วิถีชีวิตและเป็นมนต์เสน่ห์ของศิลปวัฒนธรรมคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ความเป็นไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดิน

นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ กรรมการที่ปรึกษาโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” และผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางและเกณฑ์การประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ประจำปี 2565 มีเงื่อนไขการส่งเข้าประกวด คือ ผู้ส่งผ้าลายพระราชทานเข้าประกวดให้ส่งตามภูมิลำเนาที่ผลิตผ้า ต้องเป็นผ้าทอมือเท่านั้น เส้นใยที่ใช้ทอเป็นเส้นใยไหมพันธุ์พื้นบ้าน หรือฝ้ายเข็นมือ หรือเส้นใยไหมที่เป็นเส้นใยแท้ ส่วนเงื่อนไขอื่นๆให้เป็นไปตามกำหนดของกรมการพัฒนาชุมชน ทั้งนี้ประเภทผ้าลายพระราชทานที่ส่งเข้าประกวด จะแบ่งเป็น 14 ประเภทและต้องมีองค์ประกอบหลักของลายพระราชทานครบถ้วน ส่วนประเภทงานหัตถกรรม อาทิ งานเซรามิก งานจักสาน ต้องนำลายพระราชทานมาต่อยอดให้มีความโดดเด่น

“การจัดประกวดผ้าลายพระราชทาน จะแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ระดับภาคและระดับประเทศ โดยแต่งตั้งคณะกรรมการประกวดผ้าลายพระราชทานระดับภาคในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. จะคัดเลือกผ้าให้คงเหลือ 150 ผืน เพื่อบันทึกภาพจัดทำหนังสือ ซึ่งการจัดประกวดในระดับภาคในครั้งนี้ กำหนดพื้นที่ ดำเนินการเป็น 4 จุด ประกอบด้วย ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากนั้นคณะกรรมการกิตติมศักดิ์จะคัดเลือกผ้าจากจำนวน 150 ผืน ให้เหลือ 50 ผืน ซึ่งรอบตัดสินระดับประเทศ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตน ราชกัญญา เสด็จมาเป็นองค์ประธานการประกวด” นายธนันท์รัฐกล่าว