• กินอาหารที่มี กัญชา เป็นส่วนผสม ได้วันละกี่เมนู ผสมอาหาร-ต้องติดป้ายระบุ ร้านอาหารต้องรู้ กินเข้าไปอาจมีอาการอย่างไร
  • เกณฑ์ใช้ "กัญชา" ทำอาหารเพื่อจำหน่าย ประเภท "ต้ม-ผัด-แกง-ทอด-เครื่องดื่ม" ใช้ใบสดได้เท่าไร และข้อกำหนดสำหรับร้านอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบ
  • สถานประกอบกิจการอาหาร ที่นำส่วนประกอบของกัญชามาปรุง-ทำอาหาร ต้องเปิดเผยเอกสาร หรือแสดงหลักฐานแหล่งที่มา และวัตถุประสงค์ในการนำใบกัญชามาใช้ประโยชน์ เป็นส่วนประกอบของอาหาร และข้อสำคัญต้องรู้ หากใช้ผิดวิธีอาจถึงขั้นเสียชีวิต


"กัญชา" ยังเป็นประเด็นสนใจของสังคม ภายหลังรัฐบาลปลดล็อกออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 ทำให้กัญชาไม่ว่า "แห้ง" หรือ "สด" ต่างหลุดพ้นจากการเป็นยาเสพติด ยกเว้นแต่สารสกัดที่มีปริมาณ เตตราไฮโดรแคนนาบินอล หรือ THC ต้องไม่เกิน 0.2 โดยน้ำหนัก เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชงที่ปลูกในประเทศ ภายหลังการปลดล็อกเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2565 ที่ผ่านมา พบกระแสการตื่นตัวทางภาคธุรกิจมากมาย รวมไปถึงการนำกัญชาไปใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารและเครื่องดื่ม อย่างไรก็ตามในแง่ลบเกิดกรณีมีผู้บริโภคอาหารที่ผสมกัญชาเข้าไป แล้วมีอาการแพ้หนัก คอบวม กลืนน้ำลายไม่ได้ ส่วนอีกรายถึงขั้นชักต้องเข้าโรงพยาบาล

...

"กัญชา" ไม่ควรกินเกิน 2 เมนูต่อวัน ผสมอาหาร-ต้องติดป้ายบอก

โดย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้ออกประกาศแนะนำการนำใบกัญชามาใช้ทำ ประกอบ ปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร  และจำหน่ายอาหารที่ใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบ ต้องแสดงข้อมูลให้ผู้บริโภครับทราบ แสดงข้อมูลปริมาณการใช้ โดยมีข้อแนะนำ ดังนี้

  • อาหารประเภททอด แนะนำใช้ใบกัญชาสด 1-2 ใบ/เมนู
  • อาหารประเภทผัด แนะนำใช้ใบกัญชาสด 1 ใบ/เมนู
  • อาหารประเภทแกง แนะนำใช้ใบกัญชาสด 1 ใบ/เมนู
  • อาหารประเภทต้ม แนะนำใช้ใบกัญชาสด 1 ใบ/เมนู
  • ผสมในเครื่องดื่ม แนะนำใช้ใบกัญชาสด 1 ใบ/เมนู
  • ผู้บริโภคไม่ควรรับประทานอาหารรวมกับเครื่องดื่ม ที่มีใบกัญชาสดเป็นส่วนประกอบเกิน 2 เมนูต่อวัน

อาการที่อาจเกิดขึ้นหลังบริโภคเมนู "กัญชา"

"กัญชา" มีสาร THC จะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง คือ มีฤทธิ์ต่อสมองและทำให้ร่างกาย อารมณ์ และจิตใจเปลี่ยนแปลงไป ผู้เริ่มกินเมนูกัญชาควรเริ่มในปริมาณน้อย แค่ครึ่งใบ-1 ใบต่อวันก่อน และสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบอาหารและผู้สัมผัสอาหารต้องมี คือ ความรู้เรื่องอาการที่อาจจะเกิดขึ้นหลังบริโภคอาหาร ที่มีส่วนผสมของกัญชา ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ไม่รู้สึกมาก 2.แพ้ไว มีผื่น หน้าแดงเฉียบพลัน และ 3.ต้องรอระยะเวลาหรือรับปริมาณมากๆจึงแสดงอาการ ทั้งนี้ การตอบสนองของร่างกายเมื่อได้รับ "กัญชา" มีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคล ดังนั้นควรสังเกตอาการตัวเองทุกครั้ง หลังใช้ผ่านไปประมาณ 1-3 ชั่วโมง ดังนี้

อาการผิดปกติที่พบได้บ่อย

  • ง่วงนอนมากกว่าปกติ
  • ปากแห้ง
  • คอแห้ง
  • วิงเวียนศีรษะ
  • คลื่นไส้อาเจียน

อาการผิดปกติที่ควรไปพบแพทย์

  • หัวใจเต้นเร็วและรัวผิดจังหวะ
  • เป็นลมหมดสติ
  • เจ็บหน้าอกร้าวไปที่แขน
  • หงื่อแตก ตัวสั่น
  • อึดอัดหายใจไม่ออก
  • เดินเซ พูดไม่ชัด สับสน
  • กระวนกระวาย
  • วิตกกังวล หวาดระแวงไม่สมเหตุสมผล
  • หูแว่ว เห็นภาพหลอน
  • พูดคนเดียว
  • อารมณ์แปรปรวน

นอกจากนี้ ยังมีคำเตือนสำหรับกลุ่มที่แพ้ไวต้อง "ห้ามรับประทาน" ส่วนคนที่รับประทานอาหารที่มีส่วนผสมกัญชาเข้าไป ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานที่ต้องใช้เครื่องจักร เพราะอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้

เช็กข้อกำหนด "ร้านอาหาร" ที่ใช้ "กัญชา" เป็นส่วนประกอบ

ก่อนหน้านี้กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการร้านอาหาร พ.ศ. 2565 และประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชา มาใช้ในการทำ ประกอบหรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2565 ซึ่งสถานประกอบกิจการอาหารในประกาศฯดังกล่าว หมายรวมถึง ตลาด สถานที่จำหน่ายอาหาร สถานที่สะสมอาหาร และการจำหน่ายในที่หรือทางสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมที่จะนำใบกัญชามาใช้เป็นส่วนประกอบในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร เพื่อจำหน่ายในสถานประกอบกิจการอาหารนั้น จากเดิมตามประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำประกอบ หรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร พ.ศ. 2565 ที่มีการลงนามเมื่อ 30 มี.ค.2565 ในข้อ 3 กำหนด ให้สถานประกอบกิจการอาหารต้องจัดหาใบกัญชา จากแหล่งปลูกหรือแหล่งผลิตที่ได้รับอนุญาตถูกต้อง ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด และต้องเปิดเผยเอกสารหรือแสดงหลักฐานแหล่งที่มา และวัตถุประสงค์ในการนำใบกัญชามาใช้ประโยชน์ เป็นส่วนประกอบของอาหาร เพื่อการจำหน่ายในสถานประกอบกิจการอาหาร

...

ขณะนี้ กรมอนามัย ได้ออกประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2565 เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา โดยให้ยกเลิกความในข้อ 3 เปลี่ยนเป็นกำหนดให้สถานประกอบกิจการอาหาร มีการจัดเก็บใบกัญชาที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ จัดเก็บเป็นสัดส่วน อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ไม่ทำให้เกิดเชื้อรา หรือเน่าเสีย แทน

ส่วนข้อกำหนดอื่นๆ ในประกาศยังคงเหมือนเดิม คือ สถานประกอบการกิจการอาหาร ต้องควบคุม กำกับ และต้องจัดให้มีการสื่อสารข้อมูลด้านสุขภาพ และต้องตระหนักด้านความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับการจำหน่ายอาหาร ที่มีการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบของอาหาร ได้แก่

  • 1.จัดทำข้อความที่แสดงข้อมูลเป็นสถานประกอบกิจการอาหารที่มีการใช้ "กัญชา"
  • 2.แสดงรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาทั้งหมด
  • 3.แสดงข้อมูลปริมาณการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบต่อรายการอาหาร ตามประเภทการทำ ประกอบหรือปรุงอาหาร เช่น อาหารทอด แนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1-2 ใบสดต่อเมนู สำหรับอาหารประเภทผัด แกง ต้ม ผสมในเครื่องดื่มแนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1 ใบสดต่อเมนู
  • 4.แสดงข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัยในการบริโภคอาหาร หรือเครื่องดื่มที่มีใบ "กัญชา" เป็นส่วนประกอบ
  • 5.แสดงคำเตือนรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาให้แก่ผู้บริโภคที่มีความเสี่ยง หากรับประทานอาหารที่ใช้ใบ "กัญชา" ทราบ ด้วยการระบุข้อความ เด็กและวัยรุ่นช่วงอายุน้อยกว่า 18 ปี ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของ "กัญชา" เช่น ขนม อาหารและเครื่องดื่ม สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol, THC) หรือสารแคนนาบิไดออล (Cannabidiol, CBD) ควรระวังในการรับประทาน อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล
  • 6.ห้ามแสดงข้อความหรือโฆษณาสรรพคุณในการป้องกันหรือรักษาโรค

...

8 ข้อแนะนำการใช้ "กัญชา" อย่างถูกต้อง

ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โพสต์แฟนเพจ : อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ระบุถึงอันตรายของการใช้กัญชาที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะการนำกัญชามาปรุงอาหารและเครื่องดื่ม พร้อมยก 8 ข้อแนะนำในการใช้กัญชาที่ถูกต้อง ดังนี้

  • 1.ไม่ควรใช้ "ช่อดอกกัญชา" เพราะมีสาร THC ที่ฤทธิ์มึนเมาสูง รวมทั้งไม่ควรใส่ส่วนอื่นของกัญชา เช่น กิ่ง ก้าน ลำต้น ราก ลงไปด้วย (ให้ใช้แต่ใบเท่านั้น)
  • 2.อาหารประเภท ต้ม ผัด แกง ทอด ให้ใช้ใบกัญชาสด ใส่ได้ไม่เกิน 1-2 ใบ/เมนู เพราะถ้าใช้มากเกินไป จะมีผลข้างเคียงหรือนำไปสู่การเสพติดได้
  • 3.ร้านค้าที่ประกอบอาหาร หรือทำผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา ต้องเขียนบอกผู้บริโภคให้ชัดว่า อาหารนั้นมีกัญชาเป็นส่วนประกอบ เพราะมีหลายคนที่แพ้และไม่ใช่ว่าทุกคนจะชอบรสชาติของกัญชา
  • 4.ห้ามไปโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่า อาหารที่ใส่กัญชานั้น มีสรรพคุณรักษาหรือป้องกันโรคได้ ถ้าไม่ได้อยู่ในความดูแลของแพทย์ที่รักษาโรคด้วยกัญชา
  • 5.เด็ก เยาวชน สตรีมีครรภ์และให้นมลูก ไม่ควรกินอาหารที่มีส่วนผสมกัญชา เพราะเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายต่อสุขภาพ
  • 6.คนที่แพ้สาร THC หรือแม้แต่สาร CBD หรือสารอื่นๆ ในกัญชา จะต้องไม่บริโภคกัญชา เพราะอาจจะเสี่ยงอันตรายจนถึงแก่ชีวิตได้
  • 7.คนที่บริโภคกัญชาไปแล้ว ไม่ควร "ขับขี่รถ" หรือ "ทำงานกับเครื่องจักรกล" เพราะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุเช่นกัน
  • 8.หากจำเป็นต้องกินหรือใช้กัญชา ควรจะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

...

เขียนโดย : หงเหมิน

กราฟิก : Theerapong.C

ที่มาข้อมูล : 1.กระทรวงสาธารณสุข 2.กรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก 3.อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์