รศ. ดร.ธนารัตน์ ชลิดาพงศ์ อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ตนและ ดร.ธนานพ กอบชัยสวัสดิ์ นิสิตปริญญาเอก ร่วมพัฒนา “ReadMe” โปรแกรมประเภท OCR (Optical Character Recognition) เพื่อช่วยสแกนข้อความทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่อยู่บนเอกสาร รูปภาพ หรือไฟล์วิดีโอ ให้ออกมาเป็นตัวหนังสือดิจิทัลได้ ซึ่งรูปภาพที่นำมาใช้สแกนนั้นเป็นได้ 2 ลักษณะ คือ รูปภาพทั่วไป (Scene text image) และรูปภาพที่เป็นเอกสาร (Document scanned image) สามารถประยุกต์ใช้ได้หลากหลายรูปแบบ เช่น การอ่านรหัส ไปรษณีย์บนซองจดหมาย เพื่อคัดแยกซองจดหมายได้โดยอัตโนมัติ การอ่านหมายเลขบนแคร่รถไฟ เพื่อให้สามารถทราบตำแหน่งของตู้รถไฟว่าอยู่จุดไหนเวลาใด ทั้งใช้กับกล้องติดหน้ารถยนต์เพื่อช่วยอ่านป้ายจราจรและป้ายบอกทาง หรือช่วยอ่านป้ายต่างๆให้ผู้มีสายตาเลือนราง เป็นต้น
รศ.ดร.ธนารัตน์ กล่าวต่อว่า เทคโนโลยี OCR ได้รับการพัฒนาโดยนำเทคโนโลยีการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) มาใช้ ทำให้ OCR อ่านภาษาไทยได้เก่งเหมือนมีคนไทยมาอ่านเอง และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ชื่อว่า ReadMe ของบริษัท Eikonnex AI จำกัด ภายใต้การสนับสนุนจากศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chula UTC) ช่วยตอบโจทย์ภาคธุรกิจ โดยเน้นที่การอ่านเอกสารให้แม่นยำมากที่สุดถึง 92.6%.