สายเขียวได้เฮเมื่อ “พืชกัญชา-กัญชง” ถูกปลดล็อกพ้นจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และส่งเสริมให้เป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศมีผลบังคับตั้งแต่ 9 มิ.ย.2565
ยิ่งกว่านั้น “การปลดล็อกพืชกัญชาครั้งนี้” นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อ “การบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” ด้วยเมื่อพืชกัญชามิใช่ยาเสพติดอีกต่อไป “ผู้ต้องหาอยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดี หรืออยู่ในการพิจารณาคดีของศาล” ต้องพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดโดยปริยาย
นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม บอกว่า เดิมกัญชาเป็นยาเสพติดประเภท 5 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขใน พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 แล้วจึงมี พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ส่งผลให้ประกาศกระทรวงฯฉบับเดิมได้ถูกนำมาใส่ไว้ในมาตรา 8 ทำให้กัญชาคงเป็นยาเสพติดมีผลบังคับต่อไป
กระทั่งมีประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2565 เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 อันมีใจความให้พืชกัญชา-กัญชงไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดอีกต่อไป ยกเว้นสารสกัดมีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahy drocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2
...
มีผลบังคับเมื่อพ้น 180 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษานี้ ก็คือวันที่ 9 มิ.ย.2565
หากดูเนื้อหาตามประกาศกระทรวงฯ ฉบับนี้กำหนดเพียงว่า “สารสกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชงยังเป็นยาเสพติดประเภท 5” นั่นก็คือ “พืชกัญชามิใช่เป็นยาเสพติดเสียทุกชิ้นส่วนโดยยึดเอาเฉพาะสารสกัดเท่านั้น” เท่ากับว่าส่วนอื่นอย่างเช่น เปลือก ลำต้น ใย กิ่ง ก้าน รากใบ ก็ไม่ถือเป็นยาเสพติดประเภท 5 อีกต่อไป
ฉะนั้นแล้วการปลดล็อกคงเป็นยาเสพติดอยู่แค่เฉพาะ “ส่วนสารสกัด” แต่ส่วนอื่นที่ไม่ใช่สารสลัดได้จากพืชกัญชาก็ไม่ถือว่า “เป็นยาเสพติดประเภท 5” ตามความผิด พ.ร.บ.ยาเสพติดฯฉบับปัจจุบันนี้
ส่วนคำว่า “สารสกัดจากพืชกัญชา” เข้าใจว่าน่าจะเป็นลักษณะปฏิกิริยาทางเคมีที่ต้องผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์สกัดเอาสารที่มีอยู่ในพืชกัญชานั้น ถ้าเป็นนำเปลือกตากแห้ง เส้นใยแห้ง ใบแห้ง หรืออัดแท่งแห้งก็เป็นเพียงการนำเอา “ส่วนลำต้นกัญชานำมาแปรรูป” แต่มิได้เปลี่ยนสภาพทางเคมีจึงไม่ถือเป็นยาเสพติด
จริงๆแล้วตอนนี้มีกฎหมายอีกฉบับ “ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. ...” อันมีรายละเอียดเกี่ยวกับการควบคุมการปลูก ผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย หรือการตรวจสอบเพื่อออกใบอนุญาต หรือใบรับจดแจ้ง ตลอดจนการพิจารณาใดๆเกี่ยวกับกัญชา กัญชง ใช้ในครัวเรือนที่อาจต้องขอจดแจ้งกับหน่วยงานท้องถิ่นนั้นด้วย
เบื้องต้นถูกนำเสนอต่อ “สภาผู้แทนราษฎร” เพื่อพิจารณานำเข้าสู่กระบวนการ ตราเป็นพระราชบัญญัติให้มีผลบังคับใช้แล้ว แต่บังเอิญกฎหมายฉบับนี้ยังไม่ผ่านสภาฯ จึงไม่สามารถบังคับใช้ได้
ตอกย้ำว่า “เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิด หรือไม่มีข้อปฏิบัติการกระทำการใดๆเกี่ยวกับกัญชา” ก็เท่ากับว่าสามารถผลิต ปลูก นำเข้า จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งกัญชาในการกระทำอย่างอื่น โดยยังไม่เป็นความผิดตามประกาศกระทรวงฯฉบับใหม่ เว้นแต่ครอบครองสารสกัด THC เกิน 0.2%
แต่ว่า “การปลดล็อกกัญชาก็มิใช่จะทำทุกอย่างได้เสรี” เพราะมีกฎหมายอื่นควบคุมอันมิใช่ฐานะยาเสพติดบังคับ เช่น ทำเป็นผลิตภัณฑ์ เครื่องสำอาง อาหารเสริมที่มีกลไกต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นั้นอยู่
...
แม้แต่ “การสูบกัญชาสันทนาการ” ก่อให้เกิดกลิ่นควันอาจเข้าข่ายเหตุก่อรำคาญได้ หรืออยู่ในสภาพมึนเมากัญชาขับรถก็เป็นความผิด พ.ร.บ.จราจรฯ ส่วนการพิสูจน์ความผิดเป็นอีกเรื่องต้องว่ากันขั้นตอนต่อไป
เช่นเดียวกับ “การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวกับความผิดพืชกัญชา” ถ้าสิ่งที่ตรวจเจออันไม่เกี่ยวกับการครอบครองสารสกัด THC เกิน 0.2% จากพืชกัญชา ไม่ว่าจะเป็นในรูปลักษณะใดก็แล้วแต่ โดยสภาพเจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่มีอำนาจ จับกุมอยู่แล้ว ยกเว้นว่ามีพฤติกรรมความผิดอย่างอื่นประกอบพ่วงรวมไปด้วย
ประเด็นถัดมา “เมื่อกฎหมายใหม่บัญญัติให้พืชกัญชาไม่เป็นความผิดแล้ว” ผลตามมาก็คือ “ยกเลิกความผิดในการกระทำใดๆที่เกี่ยวกับพืชกัญชาทั้งหมด” อันเป็นไปตาม ป.วิ.อาญาม.2 วรรคสอง...ถ้าบทบัญญัติกฎหมายในภายหลังการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดอีกต่อไปให้ผู้ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้ทำผิด
ถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง ดังนั้น เรื่องนี้ลักษณะการทำความผิดต้องพ้นโทษ 3 ระดับ คือ “กลุ่มแรก... ผู้ต้องหาอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดี” แต่อัยการยังไม่สั่งฟ้องโดยผู้ต้องหาอยู่ในชั้นการฝากขังในเรือนจำ
...
ศาลจะมีคำสั่งปล่อยตัวพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าผู้ต้องหาได้รับการประกันตัวชั่วคราวก็ต้องคืนหลักประกันนั้น ในกรณีผู้ต้องหาหลบหนีหรือคดีคงค้าง ก็ต้องพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดไปด้วย อันเป็นสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิอาญา ที่มีกฎหมายออกใช้ภายหลังนั้น
กลุ่มที่สอง...“อัยการสั่งฟ้องแล้วรอการพิจารณาคดี” เมื่อไม่มีกฎหมายให้เป็นความผิดในทางการลงโทษแล้ว “ศาล” จะพิจารณามีคำพิพากษายกฟ้องไป และกลุ่มที่สาม...“คดีความผิดเกี่ยวกับพืชกัญชามีคำพิพากษาถึงที่สุด” ถ้าจำเลยรับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง ปล่อยตัวเป็นอิสระ
กรณีรอการลงโทษ หรือถูกกักขังแทนค่าปรับต้องถูกปล่อยตัวเช่นกัน เพราะไม่มีโทษปรับจะกักขังแทนค่าปรับต่อได้ ถ้าจำเลยอยู่ระหว่างคุมความประพฤติต้องถูกยกเลิกด้วย หากถูกจำคุกในการกระทำความผิดฐานอื่นด้วยต้องแก้ไขหมายจำคุกยกเลิกบังคับโทษความผิดเกี่ยวกับพืชกัญชา แต่โทษความผิดอื่นไม่ถูกยกเว้น
ตามตัวเลขข้อมูลปี 2563 มีคดีข้อหาเกี่ยวกับกัญชาในศาลชั้นต้น 27,350 คดี ปี 2564 มี 25,616 คดี ปี 2565 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-เม.ย.มีจำนวน 7,018 คดี แล้วคดีพวกนี้จะเป็นส่วนถูกนำออกจากสารบบความหายไป
...
ทว่าขั้นตอน “ปล่อยตัวผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับพืชกัญชา” ปกติเมื่อออกหมายจับ หรือมีคำพิพากษาสั่งลงโทษไปแล้ว “ศาล” จะออกหมายปล่อยใหม่ เพื่อเป็นเอกสารหลักฐานยืนยัน แต่ผู้ถูกปล่อยต้องไม่มีข้อหาการกระทำความผิดอย่างอื่นพ่วงด้วย เช่น ถูกจับกัญชาพ่วงเมทแอมเฟตามีนก็ต้องรับโทษคดีนั้นต่อไป
อีกส่วน “ความผิดครอบครองสารสกัด THC เกิน 0.2% จากพืชกัญชาก่อนหน้านี้” ก็ไม่ถูกปล่อยตัวเพราะยังถือเป็นความผิดตามกฎหมายปัจจุบัน ฉะนั้น การออกคำสั่งปล่อยผู้ต้องหาความผิดเกี่ยวกับพืชกัญชาต้องดูรายคดีว่ากรณีถูกฟ้องนั้นมีความผิดอื่นร่วม หรือการกระทำผิดถูกฟ้องเป็นความผิดในกฎหมายบังคับใช้อยู่หรือไม่
สิ่งสำคัญ “การปลดล็อกกัญชา” เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ผสมผสานส่งเสริมเป็นพืชเศรษฐกิจ ในอนาคตคงมีหลักเกณฑ์มาตรการกํากับดูแล การขาย และการบริโภคกัญชาออกมาเพิ่มเติมแน่นอน เพียงแต่ตอนนี้เป็นช่วงรอยต่อตรากฎหมาย ทำให้กังวลผู้บริโภคจะใช้บริโภคไม่เหมาะสม กลายเป็นโทษมากกว่าได้ประโยชน์ก็ได้
เพราะแม้ “พืชกัญชาจะมิใช่ยาเสพติดตามกฎหมาย” แต่ฤทธิ์ทำให้ผู้สูบปริมาณมากเป็นเวลานานมีผลต่อ “ร่างกายเสื่อมโทรม” ไม่อาจประกอบกิจการงานได้ ฉะนั้นการใช้ควรระวังไม่ให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย
เรื่องนี้คงติดตาม “ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. ...” เมื่อตราเป็นกฎหมายมีผลบังคับใช้จะเป็นกลไกการกำกับดูแลโดยตรงแล้ว “ความเข้าใจของประชาชนคิดว่าจะทำสิ่งใดก็ได้กับพืชกัญชา...?” ก็อาจต้องย้อนดูเงื่อนไขหลักเกณฑ์ข้อปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ด้วย เพราะมิเช่นนั้นอาจกลายเป็นความผิดขึ้นก็ได้
ทิ้งท้ายไว้ว่า “แม้กฎหมายมิได้กำหนดให้เป็นความผิด” แต่สภาพฤทธิ์กัญชามีความรุนแรงส่งผลกระทบข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ และมีความสัมพันธ์กับอุบัติเหตุจราจรเพิ่มขึ้นได้ ดังนั้นควรต้องศึกษาข้อมูลความรู้อย่างถ่องแท้ถึงประโยชน์และโทษ เพื่อจะได้นำมาใช้อย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป
ย้ำว่า “กัญชามีคุณอนันต์และมีโทษมหันต์” แม้ต่อไปมิใช่ยาเสพติดก็ใช่ว่า “สามารถทำการใดๆตามใจได้เสรี” เพราะมีกฎหมายอื่นบังคับอยู่หลายฉบับ แล้วยังมีร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. ...ที่ใกล้ตราออกมาบังคับใช้อีกเร็วๆนี้ด้วย...