“monkey pox” หรือ “ฝีดาษวานร” ควรจะไม่เป็นที่น่าตระหนกมาก
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือ “หมอดื้อ” ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เหตุผลว่า ข้อแรก...ไวรัสจะแพร่ต่อเมื่อคนติดเชื้อเริ่มมีอาการแล้ว ได้แก่ ไข้ปวดหัว ปวดเมื่อยมีต่อมน้ำเหลืองโต
และที่สำคัญก็คือ มีผื่นที่ปรากฏเห็นได้ชัดที่หน้า ที่แขนและที่มือหลังจากเริ่มอาการป่วยไม่นาน
ข้อที่สอง...ความสามารถในการติดจากคนสู่คน ต่ำกว่า “small pox” หรือ “ฝีดาษ” หรือ “ไข้ทรพิษ” ต้นตระกูลมากมาย ข้อสาม...ความรุนแรงจนกระทั่งเสียชีวิตแม้ว่าโดยทั่วไปจะถือว่าน้อยกว่า 10% แต่แท้จริงแล้วต่ำมากประมาณ 1% หรือมากกว่านั้นนิดหน่อย
ข้อที่สี่...ไวรัสตัวนี้เป็น DNA ดังนั้นความสามารถที่จะมีการแปรผันรหัสพันธุกรรมเกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่แบบโควิดนั้น แทบเป็นไปไม่ได้เลย
ข้อที่ห้า...การติดเชื้ออยู่ที่การสัมผัสใกล้ชิด ฝอยละอองจากการไอ จาม น้ำลาย จากคนติดเชื้อที่มีอาการแล้วและกรณีที่ติดจากสัตว์จะเป็นจากการสัมผัสใกล้ชิด หรือกับสัมผัสเนื้อ หรือสิ่งคัดหลั่งเลือด เวลาที่ทำอาหาร เช่นในแอฟริกา ย้ำว่า...อย่ากลัวสัตว์มาก เพราะในกรณีนี้ในประเทศต่างๆ คนติดก่อนและปล่อยไปให้สัตว์...ซึ่งในการเกิดโรคเป็นกระจุกหลาย 10 ปีที่ผ่านมาในแอฟริกา เป็นจากสัตว์มาคนและคนสู่คน
...
ข้อที่หก...การติดเชื้อเป็นกระจุกเล็กๆมีมาในอดีตหลาย 10 ปีที่แล้วเช่นในสหรัฐฯเป็นต้น
ข้อที่เจ็ด...วัคซีนฝีดาษที่พวกเราสมัยก่อนเคยได้รับเมื่อ 50-60 ปีที่แล้ว แม้ว่าจะได้ผลกับ monkey pox... “ฝีดาษวานร” ก็ถือเป็นวัคซีนที่มีผลข้างเคียงพอสมควร โดยเฉพาะการเกิดสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกันแปรปรวนและมีความรุนแรงถึงเสียชีวิตได้ถึง 50%
น่าสนใจด้วยว่า...“วัคซีนรุ่นใหม่” ถึงมีการพัฒนาแต่ก็ไม่ได้ใช้แพร่หลาย เนื่องจากตัวโรคเองนั้นไม่ได้มีความน่ากลัวรุนแรงแพร่กระจายในวงกว้างแบบฝีดาษ
ข้อที่แปด...การรักษายังคงเป็นการประคับประคองตามอาการแม้ว่าจะมียาที่ใช้ในยุโรป แต่เป็นการป้องกันไม่ให้มีการแพร่จากคนที่ติดเชื้อออกไปมากกว่า
ถึงตรงนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ขอสรุปสั้นๆให้เข้าใจง่ายๆก็คือ “การป้องกันตัวขณะนี้ต่อโควิดจะได้ผลเช่นเดียวกันกับฝีดาษวานร ใส่หน้ากาก ล้างมือ รักษาสุขอนามัย เมื่อตนเองไม่สบายมีไข้ปวดเมื่อย อย่าอยู่ใกล้ชิด กับคนอื่นและถ้ามีอาการหนักขึ้นปรึกษาแพทย์”
นอกจากนี้แล้ว “ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่” ของเราได้เตรียมพร้อมในการวินิจฉัยฝีดาษวานรเรียบร้อยแล้ว
ให้รู้ต่อไปเป็นความรู้อีกว่า...ความแปลกของ “ฝีดาษลิง” ในยุคปลายโควิดปัจจุบันนี้น่าจะเป็นครั้งแรกที่เป็นการรุกล้ำของโรคฝีดาษลิง ที่หลุดออกจากทวีปแอฟริกาและกระจายไปอยู่ในหลายประเทศ ที่ไม่ได้เป็นถิ่นฐานต้นกำเนิด ในเวลาอันรวดเร็ว
ประเด็นถัดมา...เหตุการณ์ในลักษณะนี้มีมาอยู่บ้าง ในปี 2018 และ 2019 ที่พบคนที่ติดเชื้อฝีดาษลิงจากไนจีเรียที่เดินทางไปประเทศอังกฤษและสิงคโปร์แต่ไม่ได้กระจายไปทั่วอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
ขณะนี้ยังไม่ทราบชัดเจนว่าเกิดจากการผันตัวของไวรัสหรือเกิดขึ้นจากปัจจัยของมนุษย์
เท่าที่ทราบ...ลักษณะของไวรัสที่พบในปี 2022 ยังตกอยู่ในกลุ่มก้อน ที่ใกล้ชิดกับไวรัสในแอฟริกาตะวันตก (West African clade) และไวรัสที่พบในประเทศโปรตุเกส ในปี 2022 ยังอยู่ในลักษณะที่ใกล้กัน กับไวรัสในปี 2018...2019 ดังข้างต้น และยังไม่สามารถยืนยันว่าเป็นปัจจัยของไวรัสที่จะสามารถอธิบายการแพร่
สำหรับปัจจัยของ “มนุษย์” ก็ยังคงไม่ชัดเจนว่า ทำไมจึงเอื้อกับการกระจายไปได้มากกว่า 10 ประเทศในเวลาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา
...
แม้ว่าความสามารถในการแพร่จากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งยังอยู่ในระดับต่ำ และเป็นการแพร่โดยการสัมผัสใกล้ชิด ระหว่างคนสู่คนการกระจายทางฝอยละอองน้ำลาย ไอ จาม ทางเพศสัมพันธ์...ทั้งจากเพศเดียวกันและต่างเพศ และการสัมผัสกับเชื้อที่ผื่นแผลผิวหนังของคนป่วย
นับรวมไปถึงเชื้อที่เกาะติดอยู่กับเสื้อผ้า เครื่องใช้ของคนติดเชื้อ และการสัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อโดยที่ต้นตอ คือ “ลิง” และต่อติดมายัง “สัตว์ฟันแทะ” เช่น หนู กระรอก กระแต...สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆทั้งนี้ สถานการณ์ในปัจจุบันในพื้นที่นอกบริเวณต้นตอจะเป็นการแพร่จาก “คนสู่คน” มากกว่า
กระนั้นแล้วข้อดีที่ฝีดาษลิงที่เราจะสามารถระงับจำกัดการแพร่ได้ค่อนข้างเร็ว อยู่ที่เชื้อจะแพร่ต่อเมื่อคนติดเชื้อเริ่มมีอาการแล้ว โดยระยะฟักตัวจะอยู่ในระหว่าง 1-2 อาทิตย์...นานได้ถึง 3 อาทิตย์
...
ดังนั้น คนที่ “ติดเชื้อ” จะรู้ตัว และคนรอบข้างจะสามารถสังเกตได้ จากอาการไม่สบายของคนติดเชื้อที่อ่อนเปลี้ยเพลียแรงจากไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหัว ปวดหลัง พร้อมกับมีต่อมน้ำเหลืองโต และเกิดผื่นตุ่มหนองตามผิวหนังที่หน้าแขนมือ...ลำตัว เป็นที่สังเกตได้ง่าย
สิ่งที่ต้องเน้นย้ำ...แม้ว่าระยะเวลาของโรคกว่าที่จะหายนานถึงประมาณสองถึงสี่อาทิตย์ แต่อัตราเสียชีวิตยังถือว่าต่ำมากคือน้อยกว่า 1% ในประเทศที่มีการดูแลทางการแพทย์ดีในปัจจุบัน
พุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปในประเทศไทยและเคยได้รับวัคซีนฝีดาษไข้ทรพิษ...น่าจะจำได้ว่าจะมีการขุดเป็นแผลถลอกที่ผิวหนังที่ต้นแขนและหยดวัคซีนลงไป โดยอาจจะยังพอมองเห็นแผลเป็นจางๆอยู่ อาจจะยังมีภูมิป้องกันฝีดาษลิงได้ แต่ทั้งนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเมื่ออายุมากขึ้นไปภูมิจะหายไปหรือไม่
ซึ่ง “ประเทศไทย” หยุดการให้ “วัคซีนไข้ทรพิษ” ในปี 2523
ทั้งนี้ วัคซีนที่มีการพัฒนาใหม่ (MVA-BN) และยาที่มีในปัจจุบันที่ได้รับการรับรองในปี 2019 และ 2022 ตามลำดับ ยังไม่เป็นที่แพร่หลายและยาที่ใช้เป็นเพียงเพื่อระงับการแพร่กระจายเชื้อไปสู่คนอื่น
...
ส่วนวัคซีน “ฝีดาษ” หรือ “ไข้ทรพิษ” ที่เคยใช้ในสมัยก่อนอาจจะไม่ได้เป็นทางเลือก เนื่องจากถ้ามีการแพ้จะเกิดมีสมองอักเสบและอัตราเสียชีวิตจากการแพ้สูงถึง 50%...สถานการณ์ปัจจุบันอาจยังไม่สามารถระบุได้ว่าจำเป็นต้องมีการใช้วัคซีนในประชาชนทั่วไปหรือไม่เนื่องจากการกระจายของเชื้อยังเป็นกระจุกเท่านั้น
เชื่อมโยงไปถึงประเด็นป้องกันตัวเองของแต่ละบุคคล ศ.นพ.ธีระวัฒน์ บอกอีกว่า เนื่องจากวันนี้เรายังมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดซึ่งข้อดีของการที่มีโควิดก็คือ การป้องกันตัวจะเป็นในลักษณะเหมือนกันทุกประการไม่ว่าการใส่หน้ากาก ล้างมือ ไม่สบายกักตัวแยกห่าง
ทั้งนี้ทั้งนั้นสถานการณ์ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และตอกย้ำความสำคัญที่ต้องไม่ทำลายระบบนิเวศธรรมชาติ การรุกล้ำป่า ล่าสัตว์ป่า และ...ความสำคัญที่ต้องมีระบบในการเฝ้าติดตามโรคที่เกิดขึ้นในมนุษย์โดยรวดเร็วที่สุด เพื่อการควบคุมรักษาและป้องกันได้ทันท่วงที
เหล่านี้ยังเป็นความน่ากังวลของโรคเก่าอุบัติใหม่และโรคอุบัติใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นมาโดยเฉพาะเชื้อร้ายจาก “สัตว์สู่คน” และพัฒนาตัวเองจนแพร่กระจายติดจากคนสู่คนได้.