ต.ถ้ำสิงห์ อ.เมือง จ.ชุมพร ถือเป็นถิ่นกำเนิดของกาแฟถ้ำสิงห์อันเลื่องชื่อมายาวนานหลายทศวรรษ พ่วงด้วยแหล่งปลูกทุเรียนที่ผู้คนมาจับจองกันตั้งแต่ดอกยังไม่บาน

แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ต้องผ่านวิกฤตการณ์มากมาย โดยเฉพาะน้ำท่วม น้ำแล้ง ซ้ำซาก ดินถล่ม น้ำกัดเซาะถนนหนทาง ด้วยพื้นที่ล้อมไปด้วยเขาหินปูน ลาดชัน สูงกว่าระดับน้ำทะเล ทำให้น้ำบาดาลอยู่ในระดับต่ำมาก สูบมาใช้ได้ค่อนข้างลำบาก

แต่เขารอดมาได้เพราะธนาคารน้ำใต้ดิน ปัญหาทุกเรื่องเกี่ยวกับน้ำหมดไป ด้วยความร่วมมือระหว่างชาวบ้าน องค์กรท้องถิ่น วัด และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผู้ให้ทุนในการวิจัย แม้ชาวบ้านแฮปปี้ แต่บางหน่วยงานภาครัฐกลับไม่ปลื้ม

“ชาวบ้านถ้ำสิงห์เจอกับปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งซ้ำซากมาตลอด ฤดูแล้งถึงขั้นต้องซื้อน้ำจากต่างพื้นที่มาใช้ในการเกษตร โดยเฉพาะปี 2561 เจอกับปัญหาดินถล่ม ถนนพังจากน้ำกัดเซาะ ตอนนั้นผมเป็นนายก อบต. จึงศึกษาหาแนวทางบริหารจัดการน้ำ เพื่อแก้ปัญหา แล้วเรียกประชุมหมู่บ้าน จนส่งทีมงานพร้อมชาวบ้านไปศึกษาดูงานธนาคารน้ำใต้ดินในพื้นที่ประสบความสำเร็จ แล้วใช้พื้นที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์เป็นต้นแบบ ขยายผลสู่ธนาคารน้ำใต้ดินระดับครัวเรือน ต่อยอดสู่วอเตอร์ แท็งก์โรด หรือถนนเก็บน้ำ ที่เดิมเป็นร่องระบายน้ำ ทำให้ปัญหาเรื่องน้ำหมดไปจนทุกวันนี้”

...

นิคม ศิลปะศร ประธานกลุ่มธนาคารน้ำใต้ดินตำบลถ้ำสิงห์ อดีตนายก อบต.ถ้ำสิงห์ เล่าถึงที่มาของธนาคารน้ำใต้ดินของตำบล ที่แก้ปัญหาน้ำในพื้นที่จนประสบผลสำเร็จ โดยไม่ต้องใช้งบประมาณหลักพันหมื่นล้านไปสร้างเขื่อน

ธนาคารน้ำใต้ดินเสมือน กักเก็บน้ำฝากน้ำไว้กับดิน ในช่วงฤดูฝนที่มวลน้ำมีมาก แทนที่จะปล่อยให้น้ำไหลทิ้งไปตามธรรมชาติ แต่ก็นำมาฝากไว้กับดิน ต้องการใช้ก็สูบขึ้นมา เป็นไปตามหลักการของ “ศาสตร์พระราชาการเติมน้ำใต้ดิน” หรือแก้มลิงที่มองไม่เห็น

โดยที่นี่จะทำแบบธนาคารน้ำใต้ดินระบบ ปิด เป็นการเติมน้ำลงใต้ดินในลักษณะของบ่อซับน้ำ โดยขุดหลุมเป็นรูปสี่เหลี่ยมหรือวงกลมขนาดกว้าง × ยาว × ลึก ตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ แล้วขุดสะดือหลุมให้ลึกลงไปอีกประมาณ 30-50 ซม. กว้างและยาวตามความเหมาะสม เพื่อใช้สำหรับติดตั้งท่อพีวีซี ขนาด 1.5-2 นิ้ว ให้อากาศที่ก้นบ่อสามารถระบายขึ้นมาได้ จากนั้นใส่หินก้อนใหญ่ที่ชั้นล่างสุด แล้วใส่หินขนาดกลางหรือเศษวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่หาได้ในพื้นที่ เช่น เศษอิฐ เศษกระเบื้อง ขวดแก้ว ในชั้นตรงกลาง จากนั้นใส่หินขนาดเล็กเอาไว้ชั้นบน ปลายท่อด้านบนควรใส่ท่อขวางไว้เพื่อป้องกันเศษวัสดุต่างๆตกลงไปอุดตัน

“หลังจากมีวิสาหกิจชุมชนฯเป็นต้นแบบ คนที่นี่ก็เริ่มเห็นถึงประโยชน์ จากนั้นจึงขยายสู่ระดับครัวเรือน ที่มักขุดหลุมลึก 1.5-2 เมตร กว้างยาว 1 เมตร หรือตามความเหมาะสม เลือกพื้นที่ที่น้ำไหลมารวมเป็นหลัก โดยใน 1 ไร่ ควรมีอย่างน้อย 2 บ่อ จากนั้นขยายสู่วอเตอร์แท็งก์โรด หรือถนนเก็บน้ำ ที่เดิมเป็นแค่ร่องระบายน้ำ แต่เมื่อน้ำหลากก็จะก่อให้เกิดน้ำกัดเซาะถนนคอนกรีต เราจึงขุดคูระบายน้ำทั่วถนนให้ลึก 2 เมตร ทุก 25 เมตร ติดตั้งท่อพีวีซีเป็นสะดือหลุม แล้วทำตามขั้นตอนของธนาคารน้ำใต้ดิน แต่ปรากฏว่าทำแล้ว มีราชการบางหน่วยงานแย้งว่าเสียพื้นที่แหล่งน้ำ เราจึงต้องไปหาพื้นที่ใหม่ ขุดหลุมลึก 6 เมตร กว้าง 3 เมตร แล้วทำตามวิธีเดียวกัน ซึ่งก็สามารถช่วยแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้”

...

หน่วยงานเหล่านั้นจะมีอะไรกัน ชาวบ้านมิอาจทราบได้ รู้แต่เพียงทำธนาคารน้ำใต้ดินแบบนี้ช่วยลดรายจ่ายในการซ่อมบำรุงถนน ไร้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ต้องทำลายพื้นที่ป่า ไม่ต้องเสียพื้นที่สร้างเขื่อนฝาย ประหยัดงบสำรวจพื้นที่ ไม่ต้องมาเสียเงินทำความเข้าใจกับชาวบ้าน เสียเวนคืนที่ดิน และเกษตรกรไม่ต้องคอยพะวงว่าอยู่ในเขตชลประทานหรือไม่... หน่วยราชการที่มีเอี่ยวจะยอมเปลี่ยนแปลงกันได้หรือไม่ ช่วยอธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจด้วย.

กรวัฒน์ วีนิล