มาว่ากันต่อถึงการ “ล่อให้กระทำความผิด” ว่าที่ พ.ต.ดร.สมบัติ วงศ์กำแหง แจกแจงว่า กรณีบุคคลไม่มีเจตนากระทำความผิดมาแต่แรก แต่ถูกผู้อื่นหรือเจ้าพนักงานหลอกให้กระทำความผิด อาจเกิดจากการจูงใจ ให้คำมั่นสัญญา หรือหลอกลวงด้วยประการใดๆ เป็นเหตุให้ถูกจับกุมตามแผนที่ผู้อื่น หรือเจ้าพนักงานวางสิ่งของที่ได้จากการหลอกให้ทำขึ้น
เป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบ ต้องห้ามมิให้ใช้เป็นพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226
คำนี้เกิดจากการวินิจฉัยของศาลฎีกาจากการที่โจทก์อ้างว่าได้พยานหลักฐานมาจากการล่อซื้อ?
เช่น คดีล่อให้พนักงานขายคอมพิวเตอร์ลงโปรแกรมในเครื่องที่ซื้อให้ด้วย หรือคดีที่เป็นข่าวดังเด็กอายุ 15 ปี ไม่เคยกระทำลักษณะละเมิดลิขสิทธิ์มาก่อน แต่เป็นเพราะมีผู้มาจ้างให้ทำ
ทั้ง 2 คดีศาลพิพากษาว่า ไม่มีความผิด?!
ตัวอย่างการล่อให้กระทำความผิด เทียบเคียงได้กับสถานการณ์ปัจจุบันเกี่ยวกับการที่นักข่าวรายการโทรทัศน์ล่อซื้อเหล็กไหล คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10510/2555 ส.ผู้เสียหายเป็นนักข่าวสถานีโทรทัศน์รับเรื่องร้องเรียนจาก ม.ว่า ถูกจำเลยทั้งห้าหลอกขายเหล็กไหลจนสูญเงินไปหลายแสนบาท
ผู้เสียหายกับ ม.วางแผนจับกุมด้วยการติดต่อกลุ่มจำเลย จนทราบแน่ชัดว่ามีพฤติกรรมหลอกลวงจริง ประสานตำรวจจับกุม โดยผู้เสียหายนำเงินทำสัญญาซื้อเหล็กไหลไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน
เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายดำเนินการแสวงหาพยานหลักฐานด้วยตนเอง การหลอกล่อจำเลยทั้งห้ามากระทำความผิด อันเป็นการก่อให้จำเลยกระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้อง
มิใช่เป็นเพราะจำเลยทั้งห้ามีเจตนาจะฉ้อโกงผู้เสียหายมาตั้งแต่ต้น!
ไม่อาจถือได้ว่า ผู้เสียหายเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย การแจ้งความร้องทุกข์ความผิดฐานฉ้อโกงเป็นความผิดอันยอมความได้ จึงไม่ใช่การแจ้งความร้องทุกข์ตามกฎหมาย
...
มีผลทำให้การสอบสวนความผิดดังกล่าว ไม่ชอบ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง...
จากตัวอย่างนี้เห็นได้ว่า ศาลฎีกามองว่า ผู้สื่อข่าวไม่ใช่ผู้เสียหาย จำเลยไม่มีเจตนาฉ้อโกงตั้งแต่ต้น ผู้สื่อข่าวเป็นผู้ติดต่อจำเลยขอซื้อเพื่อสร้างพยานหลักฐาน
จึงเป็นการล่อให้กระทำความผิด ต้องแยกแยะบทบาทให้ถูกด้วยนะครับ...
สหบาท