- ขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) ปัญหาใกล้ตัวที่ยังถูกมองข้าม มีแนวโน้มเพิ่มปริมาณมากขึ้น
- กำจัด ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ถูกวิธี ส่งผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ
- แนะวิธีจัดการกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ก่อนทิ้ง พร้อมจุดทิ้งเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี
ปัญหา "ขยะอิเล็กทรอนิกส์" หรือ Electronic Waste (E-Waste) เป็นปัญหาที่หลายคนยังมองข้าม ทั้งที่ชีวิตของเกือบทุกคน ต่างพัวพันอยู่กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต สายชาร์จ พาวเวอร์แบงก์ หูฟัง แต่เมื่อเสื่อมสภาพแล้ว หลายคนไม่สามารถนำไปกำจัดได้อย่างถูกวิธี
แนวโน้มการเพิ่มปริมาณของ ขยะอิเล็กทรอนิกส์
รศ.ดร.สุธา ขาวเธียร ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาฯ ให้ข้อมูลว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาพบว่าทั่วโลกมีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ 53.6-54 ล้านตันต่อปี ในจำนวนนี้มีประมาณ 18% เท่านั้นที่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง
...
ส่วนในประเทศไทย ก็มีปัญหาคล้ายๆ กับในระดับโลก คือเรามีของเสียอันตรายชุมชน ประกอบด้วย ขยะอิเล็กทรอนิกส์ แบตเตอรรี่ ถ่านไฟฉาย ภาชนะบรรจุสารเคมี กระป๋องสเปร์ยต่างๆ เพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยเฉลี่ยประมาณ 4 แสนตันต่อปี และมีการกำจัดด้วยวิธีที่ถูกต้องเพียงแค่ร้อยละ 20 ส่วนหนึ่งเกิดการใช้ชีวิตของเราที่มีแนวโน้มการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในระยะเวลาที่สั้นลง โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 พบว่ามีการเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ทำให้ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น
ผลกระทบเมื่อกำจัด ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ถูกวิธี
การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ไม่ถูกต้องส่งผลกระทบ 2 ด้าน คือ ขยะอิเล็กทรอนิกส์มีโลหะชนิดต่างๆ เป็นองค์ประกอบมีโอกาสที่จะปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่เกี่ยวข้องได้ ในขณะเดียวกันก็เป็นการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ เนื่องจากตัวโลหะต่างๆ ที่อยู่ในขยะอิเล็กทรอนิกส์ ถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีค่า สามารถนำกลับมาใช้ในกระบวนการผลิตต่อไปได้ หากได้รับการจัดการหรือผ่านกระบวนการรีไซเคิลที่ถูกวิธี
เมื่อประเมินจากแบบสอบถามที่ทำการศึกษาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่ประชาชนไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องขยะอิเล็กทรอนิกส์เท่าที่ควร มีการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์รวมกับขยะทั่วไป หรือบางครั้งก็ไม่นำไปทิ้ง แต่เก็บไว้ในบ้าน
ในปีที่ผ่านมาได้มีการสำรวจประชาชน 2,000 คน พบว่าขยะชิ้นเล็ก เช่น โทรศัพท์มือถือเมื่อเลิกใช้แล้วเป็นขยะ ส่วนหนึ่งก็จะถูกทิ้งไป แต่มีจำนวนมากถึงร้อยละ 35-40 ที่เก็บโทรศัพท์มือถือที่ไม่ใช้แล้วไว้ในบ้าน ส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เมื่อหมดอายุ ก็จะขายไป ยังมีประมาณร้อยละ 15-20 ที่เก็บไว้ที่บ้าน เมื่อเวลาผ่านไปก็จะทิ้งปะปนไปกับขยะทั่วไป นำไปสู่เส้นทางของการกำจัดขยะที่ไม่ถูกต้อง
สำหรับความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตรายจุฬาฯ กล่าวว่า ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับ พ.ร.บ. การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ยังเป็นร่าง พ.ร.บ. อยู่ เพราะมีปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการจัดการขยะค่อนข้างมาก เช่น ผู้รับซื้อของเก่า อบต. กทม. ฯลฯ
รวมถึงมีสาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ. ที่ควรพิจารณา เช่น กระบวนการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์สามารถตรวจสอบได้ว่ามีการกำจัดอย่างไร ชิ้นส่วนต่างๆ ดำเนินการไปทิ้งที่ใด มีการควบคุมดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร ฯลฯ ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษารายละเอียดอยู่ เพื่อให้ พ.ร.บ. ที่ออกมาสามารถควบคุมระบบบริหารจัดการตรวจสอบได้
จุดทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์
1. โครงการจุฬาฯ รักษ์โลก ร่วมกับบริษัท Total Environmental Solutions จำกัด ได้เปิดรับบริจาคโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และอุปกรณ์เสริมเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ซึ่งดำเนินการมา 12 ปีแล้ว ส่งต่อให้บริษัทรับกำจัดและดำเนินการรีไซเคิลอย่างถูกต้อง เป็นการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ถูกวิธี โดยการบริจาคโทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต 1 เครื่อง จะเปลี่ยนเป็นเงิน 10 บาท บริจาคเข้ากองทุนภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อสนับสนุน การวิจัยด้านการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกัน
...
2. AIS จุดรับทิ้ง E-WASTE ปัจจุบันมีจุดรับทิ้งแล้วกว่า 2,478 จุดทั่วประเทศ เช็กที่นี่
3. Dtac โครงการทิ้งให้ดี
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะทิ้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต จะต้องลบข้อมูลส่วนตัวออกก่อนทุกครั้ง ด้วยการทำ Factory Reset หรือการล้างข้อมูลทั้งหมดภายในเครื่อง รวมทั้งถอด Memory Card ออกด้วย ในส่วนของแบตเตอรี่ หากแบตเตอรี่บวม ให้นำไปแช่นํ้าก่อนทิ้ง 3-5 ชั่วโมง เพื่อลดประจุไฟฟ้า จากนั้นเช็ดให้แห้ง แล้วห่อด้วยกระดาษก่อนทิ้ง.
ผู้เขียน : J. Mashare
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun
ข้อมูลจาก Chulalongkorn University