หันมามองถึงความเคลื่อนไหวและความเปลี่ยนแปลงในวงการ “พระพุทธศาสนา” ที่ได้เกิดขึ้นแล้วสะเทือนถึง “ศรัทธา” ของ “พุทธศาสนิกชน” จนกลายเป็นข่าวแทบจะรายวันต่อเนื่อง ได้สร้างความเสื่อมจากศรัทธาให้กับผู้นับถืออยู่มากทีเดียว
ถึงแม้ว่าองค์ประกอบของ “พระรัตนตรัย” ได้มีถึงสามส่วนคือ พระพุทธ พระธรรม และ พระสงฆ์ โดยเฉพาะพระสงฆ์ซึ่งถือว่าเป็นองค์สาวกของพระพุทธองค์ที่จะนำเอาหลักธรรมคำสอนไปศึกษาเล่าเรียน ปฏิบัติ เผยแผ่ แต่มักเห็นผู้ที่จะนำไปเผยแผ่นี้ประพฤติผิดพระธรรมวินัยเสียเอง...
“ชาวพุทธ” และ “ชาวบ้าน” จึงจำเป็นต้องออกมาปกป้องและคุ้มครองพระพุทธศาสนาด้วย
ตัวเองเสียแล้ว จนเกิดกรณีความไม่เข้าใจในวิธีปฏิบัติและขั้นตอนของการปฏิบัติในการแก้ไขปัญหานั้นๆ จนเกิดความไม่เชื่อมั่นซึ่งกันและกัน ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วอาจจะนำไปสู่ “ความเสื่อม” ได้ในที่สุด
พระมหาสมัย จินฺตโฆสโก ประธานมูลนิธิกลุ่มแสงเทียน เจ้าอาวาสวัดบางไส้ไก่ กทม.บอกว่า “มนุษย์” เราที่เกิดมาย่อมมีกฎ...ข้อบังคับด้วยกันทั้งนั้น โดยเฉพาะกฎหมายที่บุคคลใดกระทำผิดไปแล้ว จะมาอ้างว่าตนเองไม่รู้กฎหมายไม่ได้ สำหรับชาวบ้านก็มีข้อบังคับนับตั้งแต่กฎหมาย กฎกติกาท้องถิ่น มารยาทสังคม
...
แต่ถ้าเป็น “พระภิกษุ” หรือ “นักบวช” ในพระพุทธศาสนาแล้วก็จะมี “พระธรรมและพระวินัย” ครอบคลุมอีกชั้นหนึ่ง ทั้งนี้ กฎหมายและกฎกติกาต่างๆ ล้วนป้องกันมิให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งประพฤติผิดขึ้นมาซึ่งจะสร้างความเสียหายหรือความเดือดร้อนให้กับบุคคลอื่นหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่น
ส่วน “พระวินัย” ก็คือ กฎของพระภิกษุหรือนักบวชในพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกัน ที่จะป้องกันมิให้นักบวชรูปนั้นล่วงละเมิดข้อบังคับซึ่งจะนำความเสื่อมเสียมาให้กับพระพุทธศาสนา ดังนั้นกฎหรือกติกาจึงจำเป็นต้องมีใช้ร่วมกันของทุกคนในสังคม เพื่อมิให้เกิดความเสียหายและสร้างสันติสุขให้กับส่วนรวม
“พระธรรม” และ “พระวินัย” ของพระภิกษุที่บวชในพระพุทธศาสนาก็เช่นเดียวกัน เป็นคำสอนที่พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนไว้ซึ่งจะเป็นประโยชน์เมื่อนำมาปฏิบัติและป้องกันมิให้เกิดโทษแก่ภาพรวมของสงฆ์สาวกของพระพุทธองค์...พระธรรมคือ คำสั่งสอนของพระพุทธองค์ที่มีอยู่ 48,000 ข้อ
แต่ย่อลงให้เหลือข้อเดียวคือ “ให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท”
ส่วนพระวินัยคือ กฎข้อบังคับที่ผู้บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนาจะต้องยึดถืออย่างเคร่งครัดนั่นก็คือ “ศีล” ของนักบวชนั่นเอง ศีลของพระภิกษุมี 227 ข้อ ศีลของสามเณรมี 10 ข้อ และศีลของแม่ชีมี 8 ข้อ ส่วนศีลของฆราวาสผู้ครองเรือนมี 5 ข้อ ลดลงไปตามสถานะและรูปแบบของการครองเพศนั้นๆ
ถ้าเป็นชาวบ้านทั่วไปก็คือกฎหมายนั่นเองที่ทุกคนจะต้องไม่ละเมิดหรือจะต้องปฏิบัติตาม ถ้าละเมิดก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายตามข้อหานั้นๆทันที มีตั้งแต่ความผิดที่เบาเรียกว่า “ลหุโทษ” ความผิดที่หนัก เรียกว่า “ครุโทษ” ...สำหรับพระภิกษุก็มีการปรับโทษหรือลงโทษไปตามโทษานุโทษเช่นเดียวกัน
...มีตั้งแต่อาบัติเบาก็สามารถแสดงอาบัติต่อหน้าคณะสงฆ์ได้แล้วความผิดก็หมดไปเรียกว่า “แสดงอาบัติ” หรือรับสารภาพว่าจะไม่กระทำผิดเช่นนี้อีกต่อไป ถ้าอาบัติหนัก ปานกลางอย่างเช่น อาบัติสังฆาทิเสส เป็นต้น พระภิกษุผู้ประพฤติผิดแล้วจะต้อง “เข้าอยู่ปริวาสกรรม”
ปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆจึงจะหลุดพ้นความผิดไปได้ แต่ถ้าเป็นการประพฤติผิดพระวินัยอย่างร้ายแรง นับตั้งแต่เสพเมถุน ลักทรัพย์ ฆ่ามนุษย์และอวดอุตริมนุสธรรมแล้ว มีโทษหนักต้องอาบัติ “ปาราชิก” สถานเดียว อาบัตินี้นักบวชรูปใดกระทำลงไปข้อใดข้อหนึ่งจะต้อง “ขาดจากความเป็นพระ” ทันที...ไม่มีข้อยกเว้น
“พระที่ขาดจากพระวินัยดังกล่าวถึงแม้ว่าจะห่มผ้าเหลืองอยู่ก็ตาม แต่ชีวิตความจริงเปรียบเสมือนต้นตาลยอดด้วนหรือหินแตกร้าวหรือใบไม้ที่หล่นจากต้นที่ไม่สามารถกลับไปอยู่เหมือนเดิมหรือที่เดิมได้”
...
นั่นคือขาดจากความเป็น “พระภิกษุ” ไปแล้ว
ในระยะหลังๆมานี้ได้มีข่าวเกี่ยวกับพระภิกษุในพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นบ่อยมากขึ้นโดยเฉพาะในด้านที่ไม่ดี ไม่ว่าบางรูประพฤติผิดกฎและกติกาของท้องถิ่นบ้าง ละเมิดพระธรรมวินัยโดยเฉพาะไม่รักษาศีลของตนเองบ้าง เกิดความขัดแย้งหรือความไม่เข้าใจซึ่งกันและกันในบางพื้นที่บ้าง...
แต่ถ้ามีการแก้ไขหรือร่วมกันหาทางออกในระดับพื้นที่นั้นๆ ก็มักไม่ค่อยเป็นข่าวหรือสร้างความเสียหายให้กับวัดและหมู่บ้านนั้นๆ แต่ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขหรือไม่ร่วมมือกันหาทางเลือกและทางออกแล้ว สุดท้ายก็กลายเป็น “ข่าว” ที่สร้างแต่ความเสื่อมเสียให้กับวัดและชุมชนหรือ
หมู่บ้านนั้นๆทันที
...มีแต่สร้างความอับอายขายหน้าให้กับผู้คนที่อยู่ในพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย
พระมหาสมัย ย้ำว่า วัดกับบ้านเป็นของอยู่คู่กันมาโดยตลอด “วัดจะดีมีหลักฐานเพราะบ้านช่วย บ้านจะสวยเพราะมีวัดดัดนิสัย วัดกับบ้านผลัดกันช่วยยิ่งอวยชัย ถ้าขัดกันก็บรรลัยทั้งสองทาง” เป็นคำคมคำคล้องจองที่เคยมีมาไว้แล้วในอดีต เป็นคติสอนใจให้กับผู้คนรุ่นหลังได้อย่างดี
เพราะวัดเป็นจุดยึดเหนี่ยวทางจิตใจของทางชาวบ้าน ลูกหลานชาวบ้านที่เคยบวชเข้ามาก็เป็น “ที่พึ่งแห่งบุญให้กับชาวบ้าน” เมื่อลูกบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา ในวัดวาอารามแล้วก็เป็นการชักนำญาติพี่น้องให้เข้าวัดทำบุญเช่นเดียวกัน การมีงานประเพณีต่างๆก็มักจัดขึ้นภายในวัด มีพระภิกษุภายในวัดและชาวบ้านที่อยู่นอกวัด มาร่วมมือร่วมใจกันจัดกิจกรรมขึ้นมา เป็นการสร้างความสัมพันธ์กันได้อย่างดียิ่ง
ตรงกันข้าม ถ้าหาก “วัด” ใดไม่มีพระภิกษุหรือนักบวชจำวัดหรือจำพรรษาเลย เมื่อมีกิจกรรมทางศาสนาหรือพิธีกรรมทางศาสนาขึ้นมา ก็จะเกิดความยากลำบากที่จะต้องไปนิมนต์พระรูปอื่นหรือวัดอื่นมาทำพิธีหรือทำกิจกรรมตามความเชื่อและความศรัทธาทางศาสนา
...
“ในขณะเดียวกัน ชาวบ้านถ้าหากไม่ใส่ใจ ไม่สนใจ ไม่ทำนุบำรุงวัดและคอยอุปถัมภ์พระภิกษุที่มีอยู่ในวัดเลย โอกาสที่พระภิกษุรูปนั้นจะไม่จำวัดหรือจำพรรษาในวัดนั้นๆก็มีมากขึ้น หรือแม้แต่ไม่มีพุทธศาสนิกชนใส่บาตรหรือถวายอาหารบิณฑบาตตอนเช้า หรือถวายปิ่นโตช่วงภัตตาหารเพล”
พระภิกษุรูปนั้นๆก็ไม่สามารถอยู่ภายในวัดได้เช่นเดียวกัน คำว่า “วัดพึ่งบ้านและบ้านก็พึ่งวัด” ยังมีความจำเป็นและมีความสำคัญอยู่ในยุคปัจจุบัน
“พระพุทธศาสนา” จะยืนยาวอยู่ได้ก็ต้องอาศัยชาวบ้านและชาวพุทธเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง
“อาบัติ” ของภิกษุจึงควรให้เกิดน้อยลงเพราะมันได้สะเทือนวงการพระพุทธศาสนาและทำลายศรัทธาของชาวบ้านชาวพุทธมามากแล้ว มาช่วยกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เข้าวัดฟังธรรม รักษาศีล เจริญจิตภาวนา หมั่นขวนขวายสั่งสมแต่คุณงามความดี ช่วยอุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุหรือนักบวชที่มีอยู่แล้วในวัดให้ดี
ควรช่วยกันสอดส่อง ช่วยกันตรวจสอบให้ทุกอย่างโปร่งใส พระภิกษุรูปที่ประพฤติดี ปฏิบัติชอบก็ขอให้ส่งเสริมสนับสนุนท่านไป แต่ถ้ารูปใดไม่อยู่ในศีล ละเมิดพระวินัยแล้ว ขอให้ดำเนินการขจัด “อลัชชี” นั้นทันที
...
ขณะเดียวกันก็อย่าได้มี “อคติ” หรือคิดทำร้าย ใส่ร้ายพระภิกษุหรือนักบวชในวัดของตนเอง มิเช่นนั้นเราก็จะกลายเป็น “ผู้ทำลายพระพุทธศาสนา” เสียเอง...“ชาววัดกับชาวบ้านเท่านั้นจะเป็นผู้รักษาและดำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาและความมั่นคงของศาสนา”...เจริญพร.