รศ.ดร.พญ.สารนาถ ล้อพูลศรี นิยม หัวหน้าภาควิชาสุขวิทยาเขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มม. และ Mahidol-Bremen Medical Informatics Research Unit (MIRU) คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มม. ร่วมมือกันสร้างสรรค์และพัฒนาเซ็นเซอร์ตรวจจับยุงด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก German Academic Exchange Service (DAAD) และ The Hanse-Wissenschaftskolleg Institute for Advanced Study in Germany สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
รศ.ดร.พญ.สารนาถกล่าวต่อว่า เบื้องต้นทีมวิจัยสามารถสร้างสรรค์และพัฒนาเซ็นเซอร์ตรวจจับยุงด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบได้แล้ว และคาดว่าเมื่อหากพัฒนาแล้วเสร็จ และผ่านการทดสอบ ทั้งทางเทคนิคและทางภาคสนามแล้ว จะได้อุปกรณ์เซ็นเซอร์ระบบ IoT ที่สามารถเชื่อมต่อได้หลากหลายแพลตฟอร์ม ซึ่งจะใช้ติดตั้งและตรวจจับตามแหล่งระบาดของยุงลายในพื้นที่เสี่ยงต่างๆของประเทศไทย เพื่อการวางแผนรณรงค์กำจัดยุงลาย และป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดซ้ำ และจะขยายผลเพื่อการวางแผนรณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออกในระดับโลกต่อไป สำหรับอุบัติการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกที่ผ่านมา ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 มีอัตราที่ลดลงจากการเคลื่อนย้ายของประชากรที่ลดลง แต่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะโรคไข้เลือดออกกลับมาได้เสมอ แม้ในไข่ยุงลายที่แห้งแล้ว ยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานนับปี โดยสามารถเติบโตเป็นลูกน้ำเมื่อได้สัมผัสน้ำอีกครั้ง ประชาชนจึงควรระวังอย่างยิ่งไม่ให้โดนยุงกัด และช่วยกันป้องกันสิ่งแวดล้อมรอบตัวไม่ให้กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง.