รศ.ภก.สุรกิจ นาฑีสุวรรณ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ผลงานวิจัย เรื่อง “การเปรียบเทียบประสิทธิผล และความปลอดภัยของยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดกินรุ่นใหม่ กับยาวาร์ฟาริน ในประเทศที่กำลังพัฒนา โดยอาศัยข้อมูลจากการใช้จริงในระบบสุขภาพ” ซึ่งสามารถคว้ารางวัลระดับโลกจากประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นความหวังของผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะของไทยในการเข้าถึงยาใหม่ในกลุ่มใหม่ที่ชื่อว่า “Non-Vitamin K Antagonist Oral Anticoagulants” ซึ่งแม้อาจมีราคาที่สูง และในปัจจุบันยังใช้สิทธิเบิกจ่ายไม่ได้ แต่จากผลการวิจัยกับผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะไทยกว่า 2,000 ราย พบว่ายาใหม่เหล่านี้มีอัตราการเกิดผลข้างเคียงที่น้อยกว่ายาวาร์ฟาริน ช่วยลดอัตราการเกิดเลือดออกได้สูงถึงร้อยละ 50-70 และพบว่ามีประสิทธิภาพที่ดีในการควบคุมระดับการแข็งตัวของเลือด ดังนั้น ยากลุ่ม “Non-Vitamin K Antagonist Oral Anticoagulants” จึงควรบรรจุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อที่จะทำให้ประชาชน ซึ่งอยู่ในกลุ่มโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะทุกกลุ่มฐานะสามารถเข้าถึงยาใหม่นี้ได้.