ปมปัญหายังไร้หนทางออก กรณี “อาสาสมัครกู้ภัยเปิดศึกปะทะเดือดแย่งคนเจ็บ” ที่มักปรากฏภาพเหตุการณ์ยกพวกทะเลาะวิวาทตีกันเกิดขึ้นบ่อยครั้ง จนกลายเป็นกระแสถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหูในช่วงไม่กี่วันมานี้
แล้วเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เพิ่งเกิดเป็นครั้งแรก แต่ยังเป็นปัญหาเรื้อรังมายาวนาน “ไม่มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาแก้ปัญหาจัดระบบให้เป็นระเบียบ” ถูกปล่อยให้ “มูลนิธิฯ” จัดการกันเอง อันเป็นเรื่องภายในวงการกู้ภัยอยู่เสมอ
กระทั่งบานปลายเป็นเหตุสะเทือนใจคนในสังคม จากกรณี “กู้ภัย 2 มูลนิธิฯ” เปิดฉากทะเลาะวิวาทกันที่หน้าห้างแห่งหนึ่ง ถนนเกษมราษฎร์ กทม.มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 4 ราย ตำรวจออกหมายจับ 9 อาสากู้ภัย ใน ข้อหามั่วสุมกว่าสิบคนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยบุคคลหนึ่งคนใดมีอาวุธ, ร่วมกันทำร้ายร่างกาย
สาเหตุอาสากู้ภัยยกพวกตีกันส่วนหนึ่งมาจาก “ปมวิ่งทับพื้นที่แย่งเคสรับ-ส่งผู้บาดเจ็บอันมีผลประโยชน์แฝงเบื้องหลัง” เพราะด้วยโรงพยาบาลเอกชนมักมีการนำจ่ายเงินให้รถหน่วยอาสาที่นำผู้บาดเจ็บมาส่งที่เรียกว่า “ค่าเคส” อันเป็นค่าตอบแทนต่อหัวราคาค่อนข้างสูง นั่นจึงเป็นที่มาการแย่งเคสกันของบางคนอยู่ทุกวันนี้
...
กลายเป็นว่า “สังคมมองตีตราองค์รวม” ส่งผลกระทบต่อผู้มีจิตสาธารณะที่ยอมเสียสละเวลาส่วนตัวออกมาช่วยเหลือคนเดือดร้อนตกทุกข์ได้ยากโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆต้องตกกระไดพลอยโจนถูกเหมารวมว่าเป็นคนไม่ดีด้วย “ทีมข่าวสกู๊ปหน้า 1” ได้ลงพื้นที่ฝั่งธนบุรีคุยกับ “พี่ศักดิ์” อาสากู้ภัยฝั่งธนบุรี ให้ข้อมูลว่า
หลักโครงสร้างคร่าวๆ ในกรณีอุบัติเหตุบนท้องถนนมีผู้บาดเจ็บ หรือกรณีมีผู้ป่วยในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ “ศูนย์บริการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพฯ (ศูนย์เอราวัณ)” จะคอยเป็นหน่วยงานหลักการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินฯ อันจะมีโรงพยาบาลขึ้นทะเบียนกับศูนย์เอราวัณทำหน้าที่วิ่งออกรับเคสนำส่งโรงพยาบาล
อย่างเช่น รพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข รพ.สังกัดกระทรวงกลาโหม รพ.สังกัด สตช. รพ.สังกัดทบวงมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลเอกชน มูลนิธิขึ้นทะเบียนหน่วยบริการในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน 8 มูลนิธิฯ
ทว่าปัจจุบันนี้ “พื้นที่กรุงเทพฯ” จะเป็นเขตความรับผิดชอบของมูลนิธิใหญ่ 2 แห่ง ในการร่วมกันสลับออกวิ่งรับคนบาดเจ็บจากอุบัติเหตุแต่ละวันตั้งแต่ 08.00 น. ถึง 08.00 น. ของวันใหม่ แล้วในแต่ละมูลนิธิฯก็จะมีการตั้ง จุดหน่วยย่อยแบ่งความรับผิดชอบตามเขตของสถานีตำรวจนครบาลนั้น
แต่ด้วยสถานีหน่วยย่อยมีขอบเขตความรับผิดชอบค่อนข้างกว้างใหญ่ทำให้ “เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ” ที่เป็นพนักงานประจำไม่อาจวิ่งงานได้ทัน ก็เปิดรับ “อาสาสมัครกู้ภัย” เข้ามาช่วยสนับสนุนที่ต้องผ่านการพิมพ์ลายนิ้วมือตรวจสอบประวัติอาชญากรก่อนเสนอชื่อเข้าอบรมปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินเบื้องต้น 3 วัน (24 ชม.)
ดังนั้น อาสากู้ภัยมีหน้าที่ทำได้เพียง “งานขั้นพื้นฐาน” เช่น ปฐมพยาบาลเคลื่อนย้ายคนเจ็บกรณีไม่รุนแรงนำส่งโรงพยาบาลได้ แต่ถ้าบาดเจ็บเคสรุนแรงไม่อาจเคลื่อนย้ายได้ เมื่ออาสากู้ภัยถึงที่เกิดเหตุก็ช่วยประเมินสถานการณ์ว่า “คนเจ็บมีสภาวะอย่างไรแล้วปฐมพยาบาลเบื้องต้น” รอรถพยาบาลมารับตัวไปรักษา ทำได้เท่านี้
สมัยก่อน “อาสากู้ภัย” ส่วนใหญ่เป็นคนว่างเว้นงานประจำ เสียสละเวลาส่วนตัวออกช่วยเหลือสังคม “ทำงานอาสาแบบไม่มีเงินเดือน ไม่มีค่าจ้าง” ที่ทำด้วยความจริงใจ ไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ลักษณะแตกต่างจาก “เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯประจำทำงาน 24 ชม.” ที่มีเงินเดือนจากมูลนิธิฯ แต่ก็ไม่มากนัก
พูดถึงเรื่องรายได้ส่วนหนึ่งก็มาจาก “เงินสนับสนุนจากกองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน” ให้หน่วยงานต้นสังกัดกู้ภัย 500-1,000 บาท/เคส ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดก็มีช่วยเหลือสนับสนุน 500 บาท/เคส
ประเด็นมีอยู่ว่า “ตอนนี้โรงพยาบาลเอกชนแข่งขันทำยอดรับผู้บาดเจ็บสูงมาก” สาเหตุนี้จึงใช้วิธีการจูงใจให้อาสากู้ภัยนำคนไข้ประสบอุบัติเหตุมาส่งที่โรงพยาบาลของตัวเองด้วยการจ่ายเงินอันเป็นค่าตอบแทน
ที่เรียกว่า “ค่าเคส” ราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 500-1,800 บาท/เคส ที่ได้จากการทำเบิกจ่าย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ
ด้วยปัจจัยจาก “พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ” มีวัตถุประสงค์คุ้มครองผู้บาดเจ็บให้ได้รับการช่วยเหลือรักษาพยาบาลอย่างเร่งด่วนทันท่วงที แล้วจ่ายให้สถานพยาบาลที่รับผู้บาดเจ็บเข้ารักษานั้น จนกลายเป็นช่องทางให้โรงพยาบาลเอกชนใช้เงินก้อนนี้มาจ่ายเป็นค่าเคสให้อาสากู้ภัยที่นำผู้บาดเจ็บไปส่งให้เป็นรายได้นี้
ส่วนเรตราคาถ้าผู้บาดเจ็บนอนแอดมิตโรงพยาบาลจะจ่ายให้ 1,000 บาท/เคส ในบางแห่งให้ 1,500 บาท/เคส แต่หากผู้บาดเจ็บไม่นอนแอดมิตจะได้ค่าน้ำมัน 300-500 บาท/เคส แล้วยิ่งพื้นที่ทำเลทองอย่างโรงพยาบาลเขตฝั่งธนบุรีค่อนข้างแข่งขันกันสูงจ่ายหนัก 1,500 บาทขึ้นไป ถ้าไม่นอนแอดมิตจ่าย 500-800 บาท/เคสด้วยซ้ำ
...
“อาสากู้ภัยมูลนิธิใหญ่ๆ ถ้าขยันไม่เกี่ยงเคสออกวิ่งวันเว้นวันตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 8 โมงเช้าอีกวัน อย่างน้อยน่าจะได้ค่าเคส 2,000-3,000 บาท/วัน เฉลี่ยเดือนละ 30,000-40,000 บาท สิ่งนี้เป็นผลประโยชน์นอกระบบได้จาก โรงพยาบาลเอกชนยอมจ่าย จนทำให้เกิดปัญหาทะเลาะวิวาทของอาสากู้ภัยแย่งเคสกันหลายครั้งมานี้” พี่ศักดิ์ว่า
ปัญหาตามมา “อาสากู้ภัยบางคนทำเป็นธุรกิจผูกขาดโรงพยาบาลเอกชน” เมื่อรับเคสแล้ว ปกติอาสากู้ภัยต้องสอบถามสิทธิในการรักษาพยาบาล หรือความประสงค์ของผู้บาดเจ็บตามขั้นตอนระเบียบปฏิบัติเสมอ แต่บางคนใช้วิสาสะเชียร์ให้ไปโรงพยาบาลประจำตัวเอง และนำส่งไปรักษาโดยคนเจ็บไม่มีสิทธิปฏิเสธได้
ร้ายกว่านั้น “โรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง” จัดโปรโมชันกรณีสามารถทำยอดส่งผู้บาดเจ็บได้ตามเป้าก็จะได้เงินพิเศษเพิ่มอีก เช่น ถ้านำส่งผู้บาดเจ็บครบทุกๆ 10 ราย มักได้รับเงินตอบแทน 1,000-1,500 บาท ทำให้อาสากู้ภัยต่างมุ่งมั่นเร่งทำยอด โดยไม่สนใจความถูกต้องในด้านจริยธรรมแม้แต่น้อย
ยิ่งกว่านั้นยังหาประโยชน์ได้จาก “วิ่งลากเคส” ด้วยพฤติกรรมคะยั้นคะยอให้ผู้บาดเจ็บยอมนอนแอดมิตเพื่อหวังรับค่าตอบแทนสูงขึ้น ฉะนั้นเรื่องทั้งหมดนี้เกิดขึ้นทุกวันที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ส่วนใหญ่รู้กันในวงอาสากู้ภัยให้ถามต่อหน้ามักไม่มีใครตอบตรงๆ เพราะทุกมูลนิธิฯมีกฎห้ามรับเงินค่าเคส ถ้าถูกจับได้มักมีโทษให้ออกสถานเดียว
...
เหตุฉะนี้ “อาสากู้ภัยหลายคนอาศัยเป็นช่องทางเข้ามาหากิน” จนเกิดเรื่องแย่งชิงคนเจ็บ แย่งพื้นที่กัน แล้วมักบานปลายเป็น “ความขัดแย้งทะเลาะวิวาท” ส่งผลต้องมีคนเจ็บ และคนเสียชีวิตกันอยู่บ่อยครั้ง
ซ้ำร้ายเคราะห์กรรมกลับมาตกอยู่กับ “คนบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ” แทนที่ จะถูกส่งไปในโรงพยาบาลใกล้ที่สุด แต่กลับเลือกขับรถไปไกลออกไปอีก เพื่อจะได้นำผู้บาดเจ็บส่งยังโรงพยาบาลให้ค่าเคสสูงๆ กลายเป็นการรักษาอาการบาดเจ็บล่าช้าออกไป ทั้งที่สามารถส่งโรงพยาบาลใกล้สุด หรือโรงพยาบาลที่มี สิทธิในการรักษานั้น
ถัดมาคือ “ขั้นตอนรับเงินค่าเคส” ตามหลักในช่วงนำผู้บาดเจ็บส่งนั้น “อาสากู้ภัย-โรงพยาบาล” มักพูดคุยรายละเอียดกันแล้วในส่วน “เงินจะออกวันรุ่งขึ้นถัดไป” แต่นี่ยังไม่รวมกรณีรีเฟอร์ผู้ป่วยที่เคลื่อนย้ายโรงพยาบาลถ้าไม่มีค่าจ้างก็มีค่าน้ำมัน หรือค่าน้ำใจไม่ต่ำ 500 บาท/เคสอีก
ไม่เท่านั้นกรณี “เสียชีวิต” อาสากู้ภัยมักตีสนิทกับญาติเสนอตัวอำนวยความสะดวกขั้นตอนรับส่งศพ “อันมีค่าสินน้ำใจเป็นค่าน้ำมัน” แล้วบางคนยังจัดหาหีบศพที่มีค่าเปอร์เซ็นต์จากร้านจำหน่ายหีบศพอีกด้วย
สุดท้าย “ทุกวงการมีทั้งคนดี และคนไม่ดี” เช่นเดียวกับ “อาสากู้ภัย” คนมุ่งทำงานช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทนก็มี “นำคนเจ็บส่งไม่ขอรับค่าเคส” แต่เงินไม่รับนั้นจะตกเป็นของโรงพยาบาล ดังนั้น “อาสากู้ภัย” จึงเลือกรับเงินค่าเคสมาไว้ใช้สอยเป็นค่าเติมน้ำมัน ซื้ออุปกรณ์การแพทย์ใส่รถที่ไม่มีหน่วยงานสนับสนุนนี้
นี่คือปัญหาใหญ่เรื้อรัง “ซุกไว้ใต้พรม” อันเป็นผลประโยชน์ที่ทุกหน่วยงานควรต้องวางกรอบในเชิงกฎหมายร่วมกันจริงจังเสียที มิเช่นนั้นกลายเป็น “ปลาเน่าตัวเดียวเหม็นทั้งข้อง” กระทบอาสากู้ภัยเจตนาดีช่วย ตำรวจ สังคม และผู้ประสบภัย ต้องตกกระไดพลอยโจนถูกเหมารวมไปด้วย.
...