ในที่สุดประเทศไทย ก็ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหา “ขยะพลาสติก” โดยสามารถลดอันดับประเทศที่มีขยะทะเลสูงสุดในโลกจากอันดับ 6 ลงมาอยู่ที่ 10 ได้สำเร็จ และในปี 2565 จะลดและเลิกใช้พลาสติก 7 ชนิดและหันไปใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งล่าสุด การประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environment Assembly: UNEA) สมัยที่ 5 ช่วง 2 (UNEA 5.2) ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา ระหว่างวันที่ 28 ก.พ.-2 มี.ค.2565 ที่มีผู้แทนจากประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ 193 ประเทศเข้าร่วม รวมถึง นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทย ก็ได้บรรลุข้อตกลงและข้อมติ End Plastic Pollution : Towards an inter national legally binding instrument ในเวทีระดับโลก ประกอบด้วย
1.ขอบเขตของมาตรการทางกฎหมายจะครอบคลุมมลพิษจากพลาสติกและไมโครพลาสติก ในสิ่งแวดล้อม รวมถึงในสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนและจัดการตลอดวัฏจักรชีวิตของพลาสติกตั้งแต่การผลิต การบริโภคและการออกแบบเพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ผลิตซ้ำหรือรีไซเคิล รวมถึงการป้องกันและการบำบัดของเสีย
...
2.ส่งเสริมแผนปฏิบัติการระดับชาติ เพื่อป้องกัน ลดและแก้ไขมลพิษพลาสติกภายใต้การดำเนินงานของแต่ละประเทศสมาชิก รวมทั้งติดตามและรายงานความก้าวหน้าในระดับชาติและระดับนานาชาติในการดำเนินการตามข้อตกลง ให้มีการประเมินทางวิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจและสังคมรวมถึงติดตามและรายงานมลพิษพลาสติกในสิ่งแวดล้อม
3.กรอบเวลาการจัดทำมาตรการทางกฎหมายระหว่างประเทศ ได้แก่ การจัดประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจ (Ah-hoc open-ended working group : OEWG) เพื่อเตรียมงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการเจรจา (INC) ภายใน 6 เดือนแรกของปี 2565 และการกำหนดจัดการประชุม INC ครั้งแรกภายใน 6 เดือนหลังของปี 2565 และพัฒนาข้อตกลงระหว่างประเทศในการป้องกันมลพิษจากพลาสติกในสิ่งแวด ล้อมให้แล้วเสร็จภายในปี 2567
และ 4. การกำหนดให้ผู้อำนวยการบริหารโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติต้องสนับสนุนในด้านต่างๆที่สำคัญ ได้แก่ การสนับสนุนการเข้าร่วมประชุมของประเทศกำลังพัฒนาทั้งในคณะทำงานเฉพาะกิจและคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาล รวมทั้งการจัดการประชุมผู้มีอำนาจเต็มเพื่อรับรองและเปิดให้มีการลงนาม (อนุสัญญา) เมื่อจัดทำแล้วเสร็จ เป็นต้น
“ประเทศไทยประสบความสำเร็จในระดับน่าพอใจและมีบทบาทในการเจรจาในเวทีโลก ที่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม คือจัดตั้งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการเจรจา ภายใน 6 เดือนแรกของปี 2565 จัดทำร่างกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับการจัดการมลพิษจากพลาสติกและจัดการขยะทางทะเล โดยมีเป้าหมายในการจัดการพลาสติกทั้งวงจรชีวิต รวมถึงให้มีมาตรการการสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนา ทั้งในด้านเทคโนโลยีและด้านการเงินซึ่งจะส่งผลให้ประเทศต่างๆลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวซึ่งเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีมาอย่างยาวนาน โดยร่างกฎหมายระหว่างประเทศดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในปี 2567 โดยมี 175 ประเทศให้การสนับสนุนรวมถึงประเทศไทยด้วย และหลังจากนี้จะมีการทำรายงานถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับทราบต่อไป”
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส.ในฐานะผู้ร่วมประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ กล่าวถึงผลสำเร็จในการประชุม UNEA 5.2 หลังจากที่ ทส.มีความพยายามแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง
“ทส.แก้ปัญหาขยะพลาสติกต่อเนื่องนับจากเป็นเจ้าภาพจัดประชุมขยะทะเลครั้งแรกในอาเซียน ต่อเนื่องด้วยการเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 ก่อนมีปฏิญญากรุงเทพว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน ผลการดำเนินงานทำให้ไทยลดอันดับประเทศที่มีขยะทะเลสูงสุดในโลกจากอันดับ 6 ลงมาอยู่ที่ 10 ได้สำเร็จ และในปี 2565 ให้ลดและเลิกใช้พลาสติกแบบครั้งเดียว 7 ชนิด ได้แก่ พลาสติกผสมสารอ็อกโซ่ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ไมโครบีด ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบบาง กล่อง โฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และหลอดพลาสติก โดยให้หันไปใช้วัสดุทดแทนที่เป็น มิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังตั้งเป้าให้ขยะพลาสติกทั้ง 7 ชนิดสามารถกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้ 100% ภายในปี 2570” ปลัด ทส.ระบุ
...
การแก้ปัญหาขยะพลาสติกไม่เพียงเกิดขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั้งโลก อาทิ EU มียุทธศาสตร์เป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงวิธีการออกแบบ ผลิต ใช้ และรีไซเคิลผลิตภัณฑ์พลาสติก โดยทำควบคู่กับการมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ขณะที่สหรัฐฯ มีหลายมาตรการเพื่อลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติก โดยแตกต่างกันไปตามรัฐต่างๆ อาทิ มีการห้ามใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และการเก็บค่าธรรมเนียมถุงแต่ละชนิด การใช้หลอดพลาสติก เป็นต้น สวีเดน มีกระบวนการจัดการขยะ นำขยะที่คัดแยกแล้วกลับมาใช้เป็นพลังงานใหม่ จีน สั่งห้ามนำเข้าขยะจากต่างประเทศอย่างเด็ดขาด มีมาตรการห้ามใช้พลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้ง มาตรการบังคับให้มีการคัดแยกขยะในครัวเรือน รวมไปถึงความพยายามสร้างเมืองปลอดขยะ กัมพูชา ตั้งเป้าลดการใช้ถุงพลาสติกให้ได้ร้อยละ 50 โดยเก็บเงินค่าถุงพลาสติกจากผู้บริโภค อินโดนีเซีย กำลังวางข้อกำหนดในการจัดเก็บภาษีเกี่ยวกับถุงพลาสติก สปป.ลาว สนับสนุนให้ประชาชนนำถุงพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำและให้มีการใช้ถุงพลาสติกที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ มาเลเซีย มุ่งเน้นไปที่การลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เป็นต้น
...
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าขยะพลาสติกเป็นวาระสำคัญของโลกไปแล้ว “ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม” มองว่า การแก้ปัญหาที่ประเทศไทย โดย ทส.กำลังเร่งดำเนินการคือลดพลาสติกอย่างครบวงจร เดินมาถูกทาง เพราะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและลดโลกร้อน
อย่าลืมว่า ขยะพลาสติก เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย รวมทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก หากไม่มีระบบจัดการขยะที่เพียงพอ ไม่มีประสิทธิภาพ และไม่มีความเด็ดขาด
ไม่นานเกินรอคงหนีไม่พ้นวิกฤติขยะล้นประเทศอย่างแน่นอน.
ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม