ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ภาคประชาสังคม) ในคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ให้สัมภาษณ์ว่า จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยาวนานกว่า 2 ปี ทำให้สถานศึกษาทุกระดับต้องหยุดการเรียนการสอน และหันไปสอนแบบออนไลน์ ซึ่งสร้างความเหลื่อมล้ำให้กับเด็กเมืองและเด็กชนบทที่ห่างไกลเทคโนโลยี ขณะที่การเรียนออนไลน์ก็ทำให้เด็กได้รับความรู้ไม่ได้เต็มที่ ซึ่งมีผลการศึกษายืนยันว่าทำให้เด็กมีความถดถอยทางการเรียนรู้ไม่น้อยกว่า 2 ปี

“สถานการณ์สำหรับเด็กและเยาวชน ที่เวลาของการเรียนรู้หายไป 2 ปี ในระยะยาว หากกระทรวงศึกษาธิการหรือผู้เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการใดๆ ปล่อยให้เหตุการณ์ผ่านไป สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ คุณภาพของเด็กรุ่นนี้จะแย่ลง เพราะไม่ได้การพัฒนาด้านต่างๆตามช่วงอายุอย่างเต็มที่ ขาดการเรียนรู้และการทำงานร่วมกัน และจะสร้างปัญหาสังคมได้ในอนาคต ดังนั้น เมื่อเปิดภาคเรียนแล้วจึงควรต้องจัดโปรแกรมการเรียนรู้เพิ่มเติม หรือสอนเสริมไม่ควรปล่อยผ่านไปทั้งควรกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับการเสริมความรู้เด็ก ถ้าปล่อยไป จะทำให้สังคมไทยล้าหลังลงไปกว่านี้ คุณภาพของคนรุ่นใหม่จะลดน้อยลง ปัญหาสังคม อาชญากรรมต่างๆเพิ่มขึ้น เพราะมีเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าเรามีเด็กหลุดจากระบบการศึกษา 4-5 หมื่นคน ขณะเดียวกันสถิติเยาวชนที่เข้าสถานพินิจก็เพิ่มขึ้น 2 หมื่นคน แสดงว่าเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาเดินเข้าสู่ถนนสีดำ ก่ออาชญากรรมและต้องเข้าสถานพินิจถึงเกือบครึ่งหนึ่ง ปัญหาเด็กและเยาวชนในช่วงโควิด-19 จึงไม่ควรมองข้าม ต้องเร่งแก้ไข” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวด้วยว่า สำหรับเด็ก ม.6 ที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยปีการศึกษา 2563-2564 ส่วนใหญ่จะเรียนผ่านระบบออนไลน์ ทำให้นิสิตนักศึกษาไม่ได้รวมกลุ่มทำกิจกรรม ไม่ได้เรียนรู้การใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย จึงอยากเรียกร้องต่อที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และผู้บริหารมหาวิทยาลัยทุกแห่งว่า ปีการศึกษา 2565 ควรจะต้องทำทุกวิถีทางให้สามารถเปิดเรียนแบบปกติหรือ Onsite ให้ได้ ซึ่งตนเชื่อว่า ทปอ.ทำได้ โดยเห็นได้จากการที่สามารถจัดสอบทีแคส 2565 ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ยังทำได้ ดังนั้น การเปิดเรียนก็น่าจะทำได้เช่นกัน ไม่เช่นนั้นจะเกิดความรู้สึกย้อนแย้งกัน เพราะการสอบคือการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก.

...