รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า งานวิจัยจากวารสาร American Journal of Ophthalmology ฉบับเดือน มี.ค.2565 ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่ไฟฟ้ากับความบกพร่องทางการมองเห็นของภาควิชาจักษุวิทยาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส โดยศึกษาในประชากรอายุ 18 ปีขึ้นไป ระหว่างปี 2559-2561 รวม 1,173,646 คน นำมาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ากับภาวะบกพร่องทางการมองเห็นมีการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพอื่นๆ ที่จะมีผลต่อภาวะบกพร่องทางการมองเห็น เช่น อายุ เพศ เชื้อชาติ รายได้ ดัชนีมวลกาย ประวัติการดื่มสุรา สุขภาพจิต รวมทั้งการสูบบุหรี่ธรรมดา
ผลการศึกษาพบว่า คนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มมีภาวะบกพร่องทางการมองเห็นสูงกว่าคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่ไฟฟ้า 1.96 เท่า คณะผู้วิจัยได้สันนิษฐานมาจาก 3 สาเหตุ คือ
1.เกิดจากสารโพเพอรีน ไกลคอลที่เป็นส่วนผสมสำคัญในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า ผลิตสารอนุมูลอิสระที่ไปทำลายชั้นไขมันของน้ำตา ทำให้น้ำตามีคุณภาพไม่ดี ไม่สามารถรักษาความชุ่มชื้นของดวงตาได้ นำมาสู่อาการอักเสบ ตาแห้ง ระคายเคือง
2.ทำให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างอนุมูลอิสระกับระบบต้านออกซิเดชันในร่างกาย ซึ่งพบว่าเพิ่มโอกาสการเกิดต้อกระจก ต้อหิน หรือจอประสาทตาเสื่อม
3.ผลของนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เส้นเลือดหดตัว เลือดไปเลี้ยงดวงตาและเส้นประสาทตาลดลง เพิ่มความเสี่ยงของต้อหิน.