"สมิทธ” หวั่นเมืองกาญจน์จมบาดาล 22 เมตร เหตุสร้างเขื่อนทับรอยเลื่อนแผ่นดินไหว แนะก่อเขื่อนถนนกั้นอ่าวไทยป้องกันภัยสึนามิทะเลหนุน ชี้รัฐเฉือนเงินแค่รถไฟฟ้า 1 สาย ป้องกันเสียหายได้ทั้งประเทศ อัดนักการเมืองล้น กยน. ดึงแก้ปัญหาน้ำช้า
เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่ลานเสวนาสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “การรับมือภัยพิบัติในอนาคต” โดยมีนักวิชาการด้านภัยพิบัติเข้าร่วมเสวนา โดยมีประชาชนเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า ในฐานะกรรมการ กยน. ยอมรับว่าไม่มีความหวังกับทิศทางของรัฐบาล เพราะคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) มีนักการเมืองมากกว่านักวิชาการ ทำให้ตนรู้สึกสิ้นหวัง และที่น่าเสียใจกว่าคือ นักวิชาการทำตัวเป็นนักการเมือง ซึ่งเมื่อเราไปตำหนิในสิ่งที่นักการเมืองทำไม่ถูกต้อง ก็จะถูกนักวิชาการที่ผันตัวเป็นนักการเมืองมาปกป้องนักการเมืองเหล่านี้ แต่ตนก็ขอไม่พูดดีกว่า พูดมากไปก็โดนด่า จะลาออกก็ไม่ให้ออก เรียกว่าทำได้ แต่อย่าตำหนิรัฐบาล แนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของ กยน.ของรัฐบาล ว่าเป็นข้อเสนอและแนวทางที่สามารถทำได้ แต่มีปัญหาคือ งบประมาณยังไม่ผ่านการอนุมัติงบประมาณจากรัฐสภา จึงยังพูดอะไรไม่ได้มากตอนนี้ และไม่มีเงินแผนยุทธศาสตร์ก็ขับเคลื่อนไม่ได้ แต่ทั้งนี้ไม่ว่าอย่างไร ในปีนี้หากมีมรสุม ประเทศไทยคงหนีไม่พ้นน้ำท่วมแน่นอน

...
“แต่เรื่องนี้ก็ไม่น่าห่วงเท่ากับปัญหารอยเลื่อนที่ จ.กาญจนบุรี ที่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงเท่าไร คือ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ด่านเจดีย์สามองค์ ซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่อยู่ใต้เขื่อนศรีนครินทร์ และรอยเลื่อนดังกล่าวเชื่อมต่อกับรอยเลื่อนใหญ่ในพม่า ซึ่งหากเกิดแผ่นดินไหวที่มากกว่า 7 ริกเตอร์ในอนาคต จะทำให้เขื่อนศรีนครินทร์ที่จุน้ำ 1.7 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรแตก และจะทำให้น้ำท่วมกาญจนบุรีสูง 22 เมตร และจะกระจายตัวไปอย่างรวดเร็วตามฝั่งตะวันตกและภาคใต้ แต่เรื่องนี้จะเกิดเมื่อใดคงไม่สามารถบอกได้ แต่จากการคำนวณทางวิทยาศาสตร์มีโอกาสเกิดได้ ตนได้เตือนหลายฝ่ายให้หาแนวทางป้องกันกับปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะ กฟผ. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่จะต้องรับผิดชอบ เคยเสนอให้มีการจัดทำสัญญาณเตือนภัย หากเกินกรณีสุ่มเสี่ยงเขื่อนแตก และเตรียมซักซ้อมอพยพชาวบ้านที่อยู่รอบเขื่อน แต่ก็ไม่ได้เคยได้รับการสนใจจากหน่วยงานใดเลยแม้นิดเดียว ดังนั้น เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่เราจะต้องช่วยกันจับตาดู นักการเมืองก็มัวแต่สร้างสนามกอล์ฟติดเขื่อน แต่กลับไม่สนใจชีวิตชาวบ้าน" ดร.สมิทธ กล่าว
ทั้งนี้ ดร.สมิทธ ยังได้แสดงความกังวลถึงปัญหารอยเลื่อนที่ประเทศฟิลิปปินส์ว่า มีการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนเข้าหารอยเลื่อนยูเรเซีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของประเทศไทย เวียดนาม และลาว และอาจทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8 ริกเตอร์ขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดคลื่นสึนามิไม่ต่ำกว่า 3 เมตรในอ่าวไทย ส่งผลกระทบตั้งแต่ จ.นราธิวาส ไล่ขึ้นมาจนถึง จ.ชลบุรี ซึ่งเรื่องนี้ตนเคยเสนอแผนป้องกันด้วยการสร้างเขื่อนถนนจาก อ.บางปะกง จนถึง อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ยาว 97 กิโลเมตร ปิดปากอ่าวไทย เพื่อป้องกันคลื่นสึนามิ และผลกระทบจากน้ำทะเลหนุน ขณะเดียวกัน ยังช่วยร่นระยะการเดินทางจากภาคใต้มาสู่ภาคตะวันออก โดยใช้งบประมาณเพียง 1.3 แสนล้านบาท หรือเท่ากับโครงการรถไฟฟ้า 1 สาย แต่ทางสภาพัฒน์ไม่สนใจ
อย่างไรก็ตาม ประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวด้วยว่า ไม่เห็นด้วยกับแผนยุทธศาสตร์สร้างเขื่อนรอบนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่น้ำท่วม ทั้งนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ เพราะทำแล้วก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าน้ำจะไม่ท่วมโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเหล่านั้นได้ จึงอยากเสนอให้มีการย้ายนิคมอุตสาหกรรมไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงทั้งหมด ไปอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะอีสานใต้ เช่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ซึ่งมีระบบขนส่งที่ดี คือเชื่อมต่อไปยังประเทศเวียดนามและประเทศลาวได้ และทั้งสองประเทศก็ยินดีสร้างถนนมาเชื่อมต่อที่ จ.อุบลราชธานี โดยค่าใช้จ่ายการย้ายนิคมก็ถูกกว่าการสร้างเขื่อนล้อมรอบนิคมอีก อีกทั้งยังมีเงินเหลือไปพัฒนาสนามบินอุบลราชธานี ให้กลายเป็นศูนย์กลางขนส่งทางอากาศ ทำให้คนภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่ต้องย้ายถิ่นฐาน เรื่องนี้เสนอไปแล้ว ก็ไม่มีใครสนใจ เพราะเข้าใจได้ว่านักการเมืองคงไม่มีพื้นที่เหล่านี้ในการทำโรงงาน
ขณะที่ ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และกรรมการ กยน. กล่าวว่า ขณะนี้มีความกังวลในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะการตั้งคำถามว่าน้ำจะท่วมหรือไม่ ซึ่งความจริงสิ่งสำคัญมกกว่าตั้งคำถามคือการป้องกันและการรับมือกับปัญหาระยะยาวของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตอนนี้หลายฝ่ายกังวลเรื่องน้ำท่วม จนทำให้ระบายน้ำออกมาปริมาณมาก โดยไม่คำนึงถึงภัยแล้งที่จะตามมา จึงกังวลว่าหากปล่อยน้ำเช่นนี้ น้ำอาจไม่เพียงพอต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกร เนื่องจากเราต้องประสบปัญหาลานินญาถึงกลางพฤษภาคม และปัญหาเอลนินโญ ทำให้ประสบปัญหาภัยแล้งถึงกลางปี 2555.