นับจากนี้เป็นต้นไป ประเทศไทยต้องเผชิญกับความแปรปรวนของสภาพดินฟ้าอากาศอีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนจำนวนมาก
ข้อมูลจาก “คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ” ของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ระบุว่า ปี 2565 นี้ จะเป็นปีที่อาจเกิดปรากฏการณ์ ทั้ง “ลานีญา” และ “เอลนีโญ” ในปีเดียวกัน โดย ต้นปีเป็น “ลานีญา” ส่วนปลายปีอาจพลิกเป็น “เอลนีโญ”
นั่นหมายความว่า ปีนี้ ประเทศไทยจะพบกับ “ครึ่งปีแรกฝนมาก ครึ่งปีหลังฝนน้อย” “เป็นปีที่มีฝนแปรปรวน เพราะสภาวะอุณหภูมิผิวน้ำทะเลมีแนวโน้มพลิกจากเย็นไปร้อน โดยในขณะนี้อุณหภูมิผิวน้ำของมหา สมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก หรือทางวิชาการเรียกว่า NINO3.4 นั้นมีสภาวะเป็นลานีญา โดยเริ่มเข้าสู่ลานีญามาตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค. 2564 และจากการวิเคราะห์อุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก (ONI หรือ ENSO) มหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือ (PDO) และมหาสมุทรอินเดีย (DMI) ซึ่งทั้ง 3 มหาสมุทรส่งผลต่อสภาพอากาศและฝนในประเทศไทย ล่าสุดสามารถคาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์ฝนปี 2565 จะคล้ายคลึงกับปี 2552 ซึ่งคาดว่าจะมีฝนตกเร็ว โดยจะมีฝนจากพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นบ่อยครั้งตั้งแต่เดือน มี.ค.–เม.ย. และต่อเนื่องไปช่วงที่จะเข้าสู่ฤดูฝนในเดือน พ.ค. ที่ยังคงมีฝนตกลงมามากในหลายพื้นที่ของประเทศไทยตอนบน จากฝนที่คาดว่าจะตกลงมาในช่วงนี้ จะทำให้สถานการณ์ภัยแล้งของปี 2565 ไม่รุนแรง มากนัก
...
แต่...เมื่อวิเคราะห์ไปในช่วงครึ่งปีหลังพบว่า จากสภาวะลานีญาจะกลับมาเป็นกลางในช่วงเดือน เม.ย.–ก.ค.ส่งผลให้ประเทศไทยจะมีฝนทิ้งช่วงในเดือน มิ.ย. แม้จะมีฝนกลับมาตกเพิ่มขึ้นช่วงเดือน ก.ค. แต่หลังจากนั้นกลับพบว่าฝนจะตกน้อยกว่าปกติในช่วงเดือน ส.ค.–ธ.ค. โดยจากการคาดการณ์อุณหภูมิผิวน้ำทะเลยังคงชี้ว่ามีโอกาสสูงมากที่ปลายปีนี้จะพลิกกลับไปเป็นสภาวะเอลนีโญ” ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผอ.สสน. กล่าวถึงความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศแน่นอน หากสถานการณ์เกิดขึ้นจริงตามที่มีการคาดการณ์ ก็ต้องถือว่าประเทศไทยตกอยู่ในสถานการณ์น้ำที่น่าเป็นห่วงมาก เพราะช่วงที่เขื่อนจะมีน้ำไหลลงอย่างเป็นกอบเป็นกำเพื่อเก็บน้ำเอาไว้ใช้ในฤดูแล้งถัดไป ในปี 2566 นั้น ต้องมีฝนตกมากในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. อีกทั้งใน ฤดูแล้งปี 2564/2565 น้ำต้นทุนในเขื่อนหลักของภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีน้ำต้นทุนน้อยมาก
ด้วยเหตุผลดังกล่าว กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดย นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้เตรียมความพร้อมรับมือกับสภาพภูมิกาศที่แปรปรวนตามนโยบายรัฐบาล และ ทส.ในการแก้ปัญหาภัยแล้งภายใต้นโยบาย “น้ำกิน น้ำใช้ ต้องไม่ขาดแคลน” ด้วยการ “เป่า ล้าง ซ่อม เสริม” ผ่าน 7 ภารกิจ
ภารกิจที่ 1 ตรวจคุณภาพน้ำของระบบประปาหมู่บ้านทั่วประเทศ ทั้งที่ใช้น้ำต้นทุนจากแหล่งน้ำบาดาลหรือน้ำผิวดิน เพื่อให้ทราบถึงคุณภาพของน้ำประปาว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก กำหนดไว้หรือไม่ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่ามีน้ำสะอาดตามมาตรฐานไว้ใช้ในการอุปโภคและบริโภคอย่างเพียงพอตลอดทั้งปี
ภารกิจที่ 2 ติดตั้งจุดบริการน้ำดื่มสะอาดฟรี ประชาชนสามารถนำภาชนะมารองรับแล้วนำไปใช้ ดื่มได้ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำดื่ม ซึ่งหากวิเคราะห์ในเชิงลึกจะพบว่า ประชาชนคนไทย เสียเงินเพื่อซื้อน้ำดื่มโดยเฉลี่ย 10 บาท ต่อคนต่อวัน หากครอบครัวใดมีสมาชิก 5 คน ในวันหนึ่งจะเสียเงินซื้อน้ำดื่มวันละ 50 บาท หรือ 18,000 บาทต่อปี หากติดตั้งจุดบริการน้ำดื่มสะอาดฟรีทั่วประเทศ จะทำให้ชาวบ้านประหยัดเงินได้มหาศาลในแต่ละปี
ภารกิจที่ 3 เป่าล้างทำความสะอาดบ่อน้ำบาดาลที่มีอายุการใช้งานเกิน 5 ปี เนื่องจากบ่อน้ำบาดาลเมื่อมีการใช้งานไปนานๆจะเกิดตะกอนตกค้างอยู่ในบ่อน้ำบาดาล ทำให้ประสิทธิภาพของบ่อน้ำบาดาลลดลง
ภารกิจที่ 4 เจาะบ่อน้ำบาดาลเสริม ในกรณีที่ระบบประปาที่ใช้น้ำจากน้ำผิวดิน พอถึงช่วงหน้าแล้งน้ำในสระอาจจะแห้งขอด ทำให้ไม่มีน้ำดิบในการผลิตประปา ดังนั้น ควรจะมีการเจาะบ่อน้ำบาดาลในบริเวณดังกล่าวเพื่อเสริมความมั่นคงให้กับระบบประปาเดิม หรืออาจจะเปลี่ยนมาใช้น้ำบาดาลเป็นแหล่งน้ำหลักสำหรับระบบประปาเดิม
...
ภารกิจที่ 5 ซ่อมแซมระบบประปาที่ใช้แหล่งน้ำดิบจากบ่อน้ำบาดาล โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะจัดหน่วยซ่อมเคลื่อนที่เร็ว เพื่อให้บริการประชาชนในฤดูแล้งนี้ และประชาชนจะได้มั่นใจว่ามีน้ำสะอาดใช้ตลอดเวลา
ภารกิจที่ 6 จัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลระบบประปาบาดาลทั่วประเทศ ให้นำความรู้ไปใช้ในการดูแลรักษาระบบต่อไป และภารกิจที่ 7 อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาล โดยการเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำบาดาลผ่านระบบสระ ร่อง หรือบ่อวงเติมน้ำ เพื่อรักษาสมดุลของระบบน้ำบาดาล และระบบนิเวศใต้ดิน ให้ดำรงอยู่กับประชาชนคนไทยชั่วลูกชั่วหลานต่อไปในอนาคต
“การที่ประชาชนมีน้ำสะอาดกินใช้ นอก จากจะเป็นการเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำแล้ว ยังส่งผลดีต่อสุขภาพของประชาชนด้วย เพราะทราบหรือไม่ว่าคนไทยเราใช้น้ำคุณภาพต่ำมาเกือบตลอดชั่วอายุ ทำให้ร่างกายรับสารพิษที่ปนเปื้อนมากับน้ำประปา ไม่ว่าจะเป็นสารพิษจำพวกสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง ปุ๋ย ที่เป็นต้นกำเนิดของไนเตรต ทำให้ร่างกายดูดซึมสารพิษผ่านผิวหนังจากการอาบน้ำ ผ่านทางระบบทางเดินอาหารผ่านการกิน หรือผ่านระบบการหายใจผ่านการสูดดม ทำให้เกิดการเจ็บป่วย ต้องเข้าโรงพยาบาล ทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียเงินงบประมาณมหาศาลในแต่ละปี เพื่อรักษาชาวบ้านที่เป็นโรคเหล่านี้” นายศักดิ์ดา กล่าว
...
“ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม” มองว่า ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศแม้จะเป็นสิ่งที่นอกเหนือการควบคุม แต่การเตรียมความพร้อมในการรับมือถือว่าสำคัญโดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำอย่างละเอียดรอบคอบร่วมกันทุกหน่วยงาน ทั้งหน่วยงานที่ต้องจัดการน้ำต้นทุนและหน่วยงานที่ต้องจัดการเรื่องการใช้น้ำให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำเพื่อรับมือกับ “ลานีญา” และ “เอลนีโญ” ที่เกิดขึ้นในปีเดียวกัน ไม่ให้ไปซ้ำเติมความทุกข์ยากของประชาชนให้หนักหนาสาหัสกว่าที่เป็นอยู่.
ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม