ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 65 ล้านไร่ มีตอซังและฟางข้าว 42.35 ล้านตัน ปรากฏว่าพื้นที่ปลูกข้าว 69% หรือ 44.85 ล้านไทย เกษตรกรยังนิยมเผาตอซังและฟางข้าว ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวการก่อให้เกิดมลพิษฝุ่นพีเอ็ม 2.5
ไม่เพียงเท่านั้น การเผาตอซังฟางข้าว 29.15 ล้านตันต่อปี ยังเป็นการทำลายโครงสร้างดิน ทำลายจุลินทรีย์ และยังทำลายธาตุอาหารหลักของพืช ทั้งไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) โปแตสเซียม (K) ไปกับการเผา คิดเป็นมูลค่าประมาณปีละ 11,468 ล้านบาท
เพราะในตอซังฟางข้าวมีธาตุอาหารหลัก ไนโตรเจน 0.51% ฟอสฟอรัส 0.14% โปแตสเซียม 0.17% และยังมีธาตุอาหารรองของพืช แคลเซียม 0.47% แมกนีเซียม 0.25% ซัลเฟอร์ 0.17%
และทั้งที่ผ่านมา ภาครัฐมีการรณรงค์ให้เลิกเผาตอซังมานานหลายปีดีดัก แต่ดูเหมือนการรณรงค์ยังค่อยไม่ได้ผลเท่าใดนัก...ชาวนายังคงเผาตอซังอยู่เช่นเดิม นั่นเป็นเพราะอะไร
“ปัญหาหลักเกิดจากพื้นที่ทำนาปลูกข้าวได้ปีละครั้ง หลังจากเก็บเกี่ยวชาวนาจะปล่อยตอซังทิ้งไว้ในนานานหลายเดือน รอจนกว่าจะถึงฤดูทำนาถึงจะมีการไถนา การปล่อยทิ้งไว้นานทำให้ดินแห้งแน่นแข็ง ไถไม่ค่อยลง ประกอบกับการทำนายุคนี้ไม่เหมือนอดีตที่ใช้ควายไถนา จะใช้ผานไถหัวหมูที่ไถพลิกหน้าดินกลบตอซังได้ดี แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนมาใช้รถแทรกเตอร์ไถนา ซึ่งทำให้เกิดปัญหาเรื่องผานไถที่นำมาใช้ไม่สามารถไถกลบตอซังได้
...
เพราะรถแทรกเตอร์ที่นำมาใช้กับการทำนาจะมีขนาด 30-50 แรงม้า รถแทรกเตอร์ขนาดนี้จะมีผานไถอยู่แค่ 2 แบบ คือ ผานไถจาน กับผานไถโรตารี ซึ่งเป็นผานไถที่เหมาะกับการนำมาใช้ในพื้นที่ไม่มีตอซัง เมื่อนำมาใช้กับนาที่มีตอซัง จะไม่สามารถขุด พลิกดินชั้นล่างให้ขึ้นมากลบตอซังได้ เพราะมีตอซังหนุนผานไถให้ลอยตัวไม่กดลงไปถึง ดินไถไปแล้ว ชาวนาที่ทำนาหว่านแห้ง หว่านเมล็ดพันธุ์ไปแล้วจะค้างอยู่บนตอซัง ข้าวไม่งอก ถ้าจะไถแบบให้ข้าวงอกได้จะต้องใช้เวลาไถนาน ไถซ้ำไปมาหลายหน มันเลยทำให้เจ้าของรถแทรกเตอร์ไม่ยอมมาไถนาให้ ถ้าชาวนาไม่เผาตอซังรอไว้ก่อน”
ผศ.ดร.อัดชา เหมันต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ชี้ให้เห็นถึงปัญหา ทำไมการรณรงค์ให้เลิกเผาตอซังถึงไม่ค่อยได้ผล เพราะชาวนาขาดอุปกรณ์ที่เหมาะสม นั่นคือ ขาดผานไถหัวหมูที่เหมาะกับรถแทรกเตอร์ขนาด 30–50 แรงม้า เพราะผานไถหัวหมูที่มีการผลิตขายกันนั้น จะมีขนาดให้เหมาะกับรถแทรกเตอร์ขนาด 90 แรงม้าขึ้นไป
ด้วยเหตุนี้ ดร.อัดชา จึงคิดประดิษฐ์ออกแบบผานไถหัวหมู 3 แถว ติดท้ายรถแทรกเตอร์ขนาดเล็กขึ้นมา โดยมีโครงไถกว้าง 120 ซม. ยาว 170 ซม. สูง 106 ซม. น้ำหนัก 120 กก. มีมุมโครงไถอยู่ที่ 45 องศา หัวไถแต่ละหัวสามารถปรับตั้งมุมในการไถได้สะดวก และสามารถถอดประกอบได้ด้วย มีต้นทุนอยู่ที่ชุดละ 38,000 บาท...มีศักยภาพในการไถติดท้ายรถแทรกเตอร์ขนาด 34 แรงม้า อยู่ที่ชั่วโมงละ 2.08 ไร่ มีประสิทธิภาพในการไถอยู่ที่ 90.68% และประสิทธิภาพในการทำงาน 57.69%
...
และเมื่อนำผานไถนี้ไปใช้ในโครงการ เลิกเผานาแล้วหันมาไถกลบตอซัง ร่วมกันเป็นตำบลต้นแบบปลอดการเผา อันเป็นโครงการความร่วมมือของ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์, ศปป.4 กอ.รมน., มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ และสำนักคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ในพื้นที่นา 3,000 ไร่ ของเกษตรกร 600 ราย 8 ตำบล 7 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการเผาตอซังมากที่สุดในประเทศไทย
ปรากฏว่า เมื่อนำไปติดตั้งกับแทรกเตอร์ขนาด 50 แรงม้า ทำให้มีประสิทธิภาพการ กลบสูงถึง 92% และมีความสามารถในการไถกลบชั่วโมงละ 3.5 ไร่
สนใจชุดผานไถหัวหมูสำหรับไถกลบตอซัง ติดท้ายรถแทรกเตอร์ขนาดเล็ก สอบถามได้ที่ 08-0009-8640.
ชาติชาย ศิริพัฒน์