• รถยนต์สันดาปภายใน หรือรถยนต์ใช้น้ำมัน คนไทยคุ้นเคยกันมานาน พร้อมหรือยังที่จะเปลี่ยนไปใช้รถยนต์พลังงานทางเลือก
  • รู้จักรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) มีกี่ประเภท เทียบข้อดี-ข้อเสีย กับรถยนต์น้ำมัน
  • ส่องนโยบายรัฐบาล เตรียมปรับภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าหลังมีความเหลื่อมล้ำกันมาก หวังหนุนคนเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น 

ก่อนจะไปรู้จักยนต์พลังงานไฟฟ้า รู้หรือไม่ว่า รถยนต์เครื่องสันดาปภายใน หรือรถยนต์ที่เราใช้กันมานานทำงานอย่างไร สำหรับเครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal combustion engine : ICE) จะใช้พลังงานจากน้ำมัน หลักๆ แล้วมี 2 ประเภท ได้แก่เครื่องยนต์เบนซิน และ เครื่องยนต์ดีเซล เป็นเครื่องยนต์ทำงานเป็น 4 จังหวะเหมือนกันคือ ดูด อัด ระเบิด คาย แต่มีความต่างกันคือ เครื่องเบนซินจะใช้กระแสไฟจากหัวเทียนช่วยจุดระเบิด ส่วนเครื่องดีเซลจะใช้แรงอัดภายในจนเกิดความร้อนสูงในการจุดระเบิด ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า การเผาไหม้ของเครื่องยนต์นั้น เป็นสาเหตุของมลพิษทางอากาศ

ซึ่งในปัจจุบันหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ และเอกชน ได้พยายามผลักดันปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นหัวข้อสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข จึงมีการหาพลังงานทางเลือก เช่น รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ที่หลายประเทศในโลกมีการผลักดันกันอย่างจริงจัง ค่ายรถยนต์เองก็เร่ิมผลิตและพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าออกมาสู่ตลาดมากกันขึ้น ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้ามีอยู่หลายประเภท ดังนี้

...


รู้จัก EV คืออะไร มีกี่ประเภท ทำงานต่างกันอย่างไร


1. รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle, HEV)

รถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ กับ มอเตอร์ไฟฟ้า ทำงานร่วมกันในการขับเคลื่อนรถยนต์ มีการเปลี่ยนพลังงานจากเบรกมาเป็นพลังงานไฟฟ้าเก็บมาไว้ในแบตเตอรี่และสามารถนำพลังงานไฟฟ้าออกมาใช้ได้ ทำให้ประหยัดน้ำมัน ซึ่งแต่ละยี่ห้อจะมีการทำงานที่แตกต่างกันบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะแบ่งเป็น 3 โหมด ได้แก่

  • โหมดขับขี่ด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า (EV Drive Mode) รถยนต์จะขับเคลื่อนด้วยพลังงานจากแบตเตอรี่ และในขณะที่มีการปล่อยคันเร่ง หรือเหยียบเบรกจะเปลี่ยนพลังงานที่เกิดจากการลดความเร็วให้กลับไปเป็นพลังงานไฟฟ้าเข้าไปเก็บในแบตเตอรี่ เรียกว่า Regenerative Braking System ในโหมดนี้มักจะใช้ในช่วงความเร็วต่ำที่ไม่ต้องการอัตราเร่ง แต่หากพลังงานในแบตเตอรี่มีมากพอ ก็สามารถใช้วิ่งในช่วงความเร็วปานกลาง หรือความเร็วสูงคงที่ได้เช่นกัน แต่จะใช้วิ่งได้ไม่ไกลก็ต้องสลับไปโหมดอื่น เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดมีแบตเตอรี่ค่อนข้างเล็ก
  • โหมดการขับขี่ด้วยเครื่องยนต์ (Engine Drive Mode) จะใช้พลังงานจากเครื่องยนต์ ส่งกำลังไปที่ล้อโดยตรง เหมาะสำหรับการขับขี่ด้วยความเร็วสูงคงที่
  • โหมดการขับขี่ด้วยระบบไฮบริด (Hybrid Drive Mode) ในโหมดนี้เครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าจะทำงานร่วมกันเพื่อให้ได้อัตราเร่งสูงสุด มักจะใช้ในช่วงที่ต้องการอัตราเร่งอย่างรวดเร็ว

ในบ้านเรามีรถยนต์ไฮบริดหลากหลายยี่ห้อ ซึ่งคนจะคุ้นตากันมากคือ Toyota เช่น PRIUS, Corolla ALTIS Hybrid, C-HR Hybrid, Corolla CROSS Hybrid, CAMRY Hybrid, ALPHARD Hybrid

ส่วนฝั่ง Honda ก็มี เช่น Jazz Hybrid, Civic Hybrid, City Hybrid e:HEV ขณะที่ทาง Nissan เคยมี X-Trail Hybrid แต่ปัจจุบันไม่ได้จำหน่ายแล้ว


2. รถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Vehicle, PHEV)

รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดที่สามารถเสียบปลั๊กชาร์จแบตได้โดยตรง และเพิ่มขนาดของแบตเตอรี่ ทำให้ขับเคลื่นด้วยโหมด EV ได้ไกลขึ้น ทำให้ประหยัดน้ำมันมากขึ้นนั้นเอง

สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด หรือ PHEV ในประเทศไทยก็มีหลายยี่ห้อเช่นเดียวกัน ได้แก่ MG HS Plug in Hybrid, Mitsubishi Outlander PHEV, BMW : X5 xDrive45e M Sport, Mercedes-Benz : GLC 300 e 4MATIC AMG Dynamic, GLE 350 de 4MATIC Exclusive, Volvo XC40 Recharge T5

ทั้งนี้ รถปลั๊กอินไฮบริด เหมาะสำหรับคนที่อาจจะยังไม่สะดวกในการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ มีข้อดีคือ ไม่จำเป็นต้องชาร์จไฟเป็นประจำ เนื่องจากเครื่องยนต์ยังคงเป็นกำลังหลัก และไม่ต้องหาที่แวะชาร์จในเวลาขับ ไปได้ทุกที่ ไม่ต้องกังวล


3. รถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle, FCEV)

รถยนต์ประเภทเซลล์เชื้อเพลิง รถยนต์จะใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อน 100% โดยใช้พลังงานไฟฟ้าจาก Fuel Cell Stack และแบตเตอรี่ ซึ่ง Fuel Cell Stack จะผลิตไฟฟ้าโดยปล่อยก๊าซไฮโดรเจนจากในถังเก็บและออกซิเจนในอากาศเข้าไปใน Fuel Cell เกิดปฏิกิริยาในทางเคมี จะได้พลังงานไฟฟ้าและไอน้ำ โดยไฟฟ้าที่ได้จะถูกส่งไปที่มอเตอร์ไฟฟ้าโดยตรง ซึ่งแบตเตอรี่จะปล่อยพลังงานไฟฟ้าออกมาในช่วงที่ต้องการอัตราเร่งอย่างเฉียบพลัน โดยแบตเตอรี่จะรับพลังงานจากไฟฟ้าส่วนเกินที่ผลิตจาก Fuel Cell Stack และ Regenerative Braking System

...

สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า FCEV ได้แก่ Toyota Mirai, Honda Clarity Fuel Cell, Hyundai Nexo ซึ่งยังไม่มีการนำเข้ามาในประเทศไทย


4. รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle, BEV)

รถยนต์ไฟฟ้าที่มีแค่มอเตอร์ไฟฟ้า ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ในการขับเคลื่อน 100% โดยตัวแบตเตอรี่จะได้รับพลังงานจากการเสียบชาร์ตโดยตรง และจาก Regenerative Braking System (ผ่อนคันเร่งหรือเหยียบเบรก) เท่านั้น ทำให้แบตเตอรี่ของรถยนต์ BEV มีขนาดค่อนข้างใหญ่เพื่อเก็บหลังงานในการขับเคลื่อน นิยมวางแบตเตอรี่ในตำแหน่งพื้นใต้ห้องโดยสาร เนื่องจากมีพื้นที่ค่อนข้างมาก และมีข้อดีคือจะทำให้จุดศูนย์ถ่วงของรถต่ำลง ทำให้รถทรงตัวดีขึ้น

สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเต็มรูปแบบที่หลายคนรู้จักดีก็คือ Tesla จากทางฝั่งอเมริกา นอกจากนี้ยังมีอีกหลายหลายยี่ห้อ เช่น MG รุ่น ZS EV, Nissan Leaf, Lexus UX300e, Honda e

ส่วนทางฝั่งยุโรปจะมี Porsche Taycan, Audi e-tron, BMW i3 / i4 / ix3/ ix, Mini Cooper SE เป็นต้น

เทียบความต่าง รถน้ำมัน กับ รถไฟฟ้า

...

ในปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากต่างประเทศเป็นหลัก แม้จะสามารถผลิตในประเทศได้แต่ก็เป็นรถคันเล็ก ความจุแบตเตอรี่ไม่มาก ทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าเมื่อเข้ามาในประเทศไทยแล้วมีราคาสูงขึ้น และภาษีขาเข้าในแต่ละประเทศก็ไม่เท่ากัน เช่น ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-จีน ทำให้การนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าเหลือ 0% ส่วนรถยนต์จากญี่ปุ่นภาษีนำเข้า 20% รถยนต์จากยุโรป 80% และเกาหลี 40% ดังนั้น หากไทยยังต้องการเป็นศูนย์การผลิตรถยนต์และรถยนต์ไฟฟ้า ก็ต้องปรับโครงสร้างภาษีใหม่ให้เหมาะสม ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลกระทบกับการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ได้

นอกจากภาษีขาเข้าแล้ว เมื่อรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามายังประเทศไทยยังมีภาษีอื่นๆ เช่น ภาษีสรรพสามิตร ภาษีเพื่อมหาดไทย ภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมไปถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าประกันสินค้าระหว่างขนส่ง ค่าขนส่ง เป็นต้น

...

ทั้งนี้ นายสันติ พรัอมพัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมศุลกากรเร่งศึกษารายละเอียดการปรับโครงสร้างภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าทั้งระบบ เนื่องจากภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าของแต่ละประเทศยังมีความแตกต่างกันอยู่มาก ส่วนมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่ยังไม่เสนอเข้า ครม.ช่วงนี้ เนื่องจากต้องรอคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) พิจารณาออกมาเป็นแพ็กเกจโดยรวม ซึ่งนอกจากเรื่องภาษีแล้ว ยังมีมาตรการด้านการลงทุน มาตรการของกระทรวงพลังงานและกระทรวงมหาดไทย ที่ดูแลภาษีท้องถิ่นเข้ามาร่วมพิจารณาด้วย

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมแนวโน้มภาษีรถยนต์ไฟฟ้าน่าจะลดลง เพื่อต้องการส่งเสริมให้คนไทยหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น แต่การปรับอาจเป็นแบบขั้นบันได และภาษีรถยนต์ขนาดเล็ก น่าจะมีอัตราต่ำกว่ารถขนาดใหญ่ โดยคิดตามอัตรากำลังไฟฟ้าที่ใช้.

ผู้เขียน : J. Mashare

อินโฟกราฟฟิก : Theerapong Chaiyatep

กราฟฟิก : Anon Chantanant