ภาพ F-35A Hill AFB. เครดิต U.S. Air Force โดย Tech.Sgt.Jerilyn Quintanilla

หลัง "บิ๊กป้อง" ผบ.ทอ.คนล่าสุด เผยว่า สนใจ เอฟ-35 มาแทนเอฟ-16 พร้อมให้เหตุผลว่าเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด และราคาเอื้อมถึงแล้ว หากเป็นจริงไทยจะมีเครื่องบินเทคโนโลยีสเตลธ์ใช้ในอีก 10 ปีข้างหน้า

-เอฟ-35 ตัวเลือกเครื่องบินขับไล่ที่ใช่ ผบ.ทอ.บอกเป็นเดอะเบสต์ของโลก
-ราคาค่าตัวเอฟ-35 ไม่แพงอย่างในอดีต ส่วนราคาลำละ 82 ล้านเหรียญสหรัฐ
-เครื่องบินขับไล่ยุคที่ 5 ที่มีเทคโนโลยีสเตลธ์ ที่หลายชาติเลือกมาทดแทนเอฟ-16

หลังจากเป็นข่าวโด่งดังรับปีใหม่ 2565 เมื่อแม่ทัพฟ้า "บิ๊กป้อง" พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อเปิดใจเกี่ยวกับความเป็นไปได้ และความตั้งใจที่จะจัดหา เครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูงแบบ ล็อกฮีด มาร์ติน เอฟ-35 เอ ไลท์นิ่ง ทู มาประจำการ โดยได้ชี้แจงและชี้เหตุผลความจำเป็นว่า ตอนนี้เครื่องบินเอฟ-35 ไลท์นิ่ง ทู ของสหรัฐอเมริกา เป็นเครื่องบินที่มีสมรรถนะดีเลิศ ประเทศต่างๆ ล้วนมีความต้องการซื้อหามาใช้งาน หากเรามีโอกาสใช้งานเอฟ-35 ก็จะเป็นการยกระดับ ให้กับ ทอ.ว่าเรามีของดีใช้ แล้วยังเราไปร่วมเป็นชุมชนผู้ใช้ใหญ่ การซื้อเครื่องบินมันต้องเป็นแบบเวิล์ดวายด์ เพื่อให้อะไหล่การส่งกำลังบำรุงพร้อมที่สุด

เมื่อมีคนถามผมก็ตอบว่าสนใจจริงๆ ถ้าเรามีเอฟ-35 ใช้งานในกองทัพมันก็จะทดแทนเครื่องบินเก่าๆ ได้เยอะแยะ สามารถจะปลดเครื่องบินเก่าได้อย่างวางใจ แต่ถ้าหากเราเลือกเครื่องบินที่มีสมรรถนะต่ำกว่าที่เรามี เราก็ไม่อาจจะปลดเครื่องบินเก่าได้แบบวางใจได้ เพราะเราไม่ไว้ใจ เพราะมันทดแทนไม่ได้

...

U.S. Air Force photo by Airman 1st Class Dwane R. Young
U.S. Air Force photo by Airman 1st Class Dwane R. Young

มีแล้วมันต้องทำให้สะพรึงกลัว ชนะการรบในอากาศได้

ผบ.ทอ.อธิบายไว้ว่า ขณะนี้ การรบสมัยใหม่กำลังทางอากาศมีความสำคัญที่สุด ในโลกนี้กำลังทางอากาศจะแพ้ไม่ได้หากแพ้ข้างล่างแหลกลาญ โดยมี 3 ปัจจัยที่จะทำให้กองทัพอากาศไม่แพ้ใคร ได้แก่
1. อาวุธต้องมีคุณภาพ ต้องเป็น The Best ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ มีของเก่าก็ต้องเปลี่ยนเป็นของใหม่ เพราะมันแพ้ไม่ได้
2. ต้องมีความน่าสะพรึงกลัว คือ กำลังทางอากาศที่มีแค่ได้ยินก็ขวัญฝ่อ เมื่อไหร่ก็ตามที่เรามีของดีอยู่ในมือ แค่มีก็ถือว่าได้ใช้งานแล้ว บางคนอาจมองว่า จะซื้อทำไมไม่ได้ใช้งาน เขาอาจไม่เข้าใจแค่มีอยู่ก็ได้ใช้งานแล้วในแบบนามธรรม เพราะฉะนั้นมันต้องน่าสะพรึงกลัว เพราะความน่าสะพรึงกลัวนี่แหละ จะเป็นตัวบ่งบอกว่าอย่ามายุ่งกับเรา
3. กองทัพอากาศจะต้องมีขีดความสามารถร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับเพื่อนได้ ความเคารพ เป็นมิตร ความสนิทชิดเชื้อ ให้เขารู้ว่าเราเป็นมิตรกันใครมันจะกล้ารังแก

เอฟ-35 ตอบโจทย์การรบยุคใหม่ ทำงานร่วมกับยูเอวีได้

สำหรับ เอฟ-35 มี ลอยัล วิงแมน (Loyal Wingman) มันคือ เครื่องบินไร้คนขับที่ติดอาวุธได้ มีสมรรถนะสูง สามารถเป็นเครื่องลูกหมู่ของเอฟ-35  ได้ กองทัพอากาศออสเตรเลียได้สร้างโครงการรอยัล วิงแมน ขึ้นมา ร่วมกับโบอิ้ง เพื่อให้ เอฟ/เอ-18 อี/เอฟ ซูเปอร์ฮอร์เน็ต ของ ทอ.ออสเตรเลีย มีลอยัล วิงแมน แล้วเครื่องนี้มันบินไปล่วงหน้าได้เป็น 100 ไมล์ เขาไปลุยก่อนแบบไม่มีนักบิน โดยที่เครื่องบินควบคุมหลักยังอยู่ในแนวหลัง เพราะฉะนั้น มันก็จะปลอดภัย

Kratos XQ-58 Valkyrie โดย Air Force Research Laboratory Public Affairs
Kratos XQ-58 Valkyrie โดย Air Force Research Laboratory Public Affairs

แต่ แนวคิดลอยัล วิงแมน (Loyal Wingman) ของโบอิ้งและ ทอ.ออสเตรเลีย ก็เกิดขึ้นมาทีหลังทางล็อกฮีด มาร์ติน ผู้ผลิต เอฟ-35 ที่เรียกว่า วัลคีรี หรือ โครงการ Kratos XQ-58 Valkyrie โดยวัลคีรี เป็นเหมือนเครื่องบินรบอีกคเรื่อง ที่บินรบโดยที่มีเอฟ-35 ควบคุม ซึ่งถือว่า น่าสนใจในระดับ Force Multiplier นั่นจึงทำให้เอฟ-35 เราไม่ต้องมีเต็มฝูง 20 เครื่องหรือ 18 เครื่อง แต่มีเอฟ-35 แค่ครึ่งฝูง 12 หรือ 8 เครื่อง แล้วที่เหลือทดแทนด้วย UAV เหล่านี้ เพื่อเป็นเครื่องลูกหมู่บินประกอบฝูงบินไป คิดดูว่ามันจะประหยัดได้ขนาดไหน

...

ราคาของเอฟ-35 รอรุ่นเด่นราคาดิ่ง

สำหรับราคาขายของเอฟ-35 ขณะที่ออกมาใหม่อยู่ที่ 142 ล้านเหรียญ เป็นราคาเครื่องเปล่า ไม่รวบอุปกรณ์สนับสนุน เราก็เฝ้ามองมาโดยตลอด ก็เห็นว่าราคาลงมาอย่างต่อเนื่องจนมาอยู่ที่ 82 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อเครื่อง (2.7 พันล้านบาท) ขณะที่เครื่องบิน JAS-39 E/F กริพเพน Gripen Next Gen รุ่นใหม่ราคาสูงถึง 85 ล้านเหรียญ/เครื่อง ดังนั้น เอฟ-35 จึงไม่ใช่เครื่องบินที่เราเอื้อมไม่ถึง อยู่ที่การต่อรองราคากับบริษัทให้ได้ราคาต่ำสุด ซึ่งเป็นไปได้ว่าเราจะได้ในราคาราว 75-76 ล้านเหรียญฯ ขึ้นไปหากเจรจาได้มันก็จะดีมากเลย เท่ากับเราได้ซื้อของครึ่งราคา เพราะตลาดเครื่องบินรบรายอื่นแทบขายไม่ออก

ทีนี้เมื่อมาพิจารณาจากข้อมูลล่าสุดของล็อกฮีดมาร์ติน เครื่องบินเอฟ-35 รุ่นเอ ที่เป็นรุ่นสำหรับกองทัพอากาศ ขึ้น-ลง บนสนามบินปกติในราคาของเครื่องบินจากสายการผลิต ลอต 14 จะอยู่ที่ 77.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากลอต 11 ก่อนหน้านี้ 12.8% 

U.S. Air Force photo by Senior Airman Anthony Pham
U.S. Air Force photo by Senior Airman Anthony Pham

...

ผบ.ทอ.ไม่กลัวทัวร์ลง หากอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ

บิ๊กป้อง ระบุว่า เป็นไปได้ว่าอาจจะมีการตั้งคณะกรรมการศึกษาฯ ควบคู่ไปด้วยในช่วง 5 ปีนี้ เพราะการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการบินเดินหน้าไปเร็วมาก ซึ่งคำว่าศึกษาก็เหมือนเป็นการเดินเครื่อง ถ้าเราไปพูดคำว่าซื้อเลย เดี๋ยวจะโดนทัวร์ลง แต่ผมเชื่อยังว่าทัวร์จะไม่ลง เพราะผู้ที่เข้าใจจะสนับสนุนทันที เพราะ ทอ.ไม่ได้ซื้ออาวุธแต่ซื้อเครื่องมือเพื่อความปลอดภัยของประชาชน เราก็เป็นประชาชนคนหนึ่งที่เสี่ยงชีวิตใช้เครื่องมือเพื่อปกป้องท่าน ถ้าเข้าใจสิ่งนี้ประชาชนก็จะสนับสนุน ยืนยันว่าเรารักเครื่องบินเหมือนลูก ไม่ได้ทิ้งขว้าง ถนอมกล่อมเกลี้ยงเหมือนลูก เช็ดถู อาบน้ำทุกวัน ถ้าประชาชนมาเห็นการดูแลเครื่องไม้เครื่องมือของเราก็จะชอบ ที่สำคัญไม่ได้ซื้ออาวุธมาเข่นฆ่าใคร ซื้อมาเป็นเครื่องมือให้ประชาชน แต่เราเป็นคนใช้แทน

U.S. Air Force photo Todd Cromar
U.S. Air Force photo Todd Cromar

...

เมื่อมาพิจารณาเครื่องบิน เอฟ-16 ที่กองทัพอากาศประจำการอยู่ ได้แก่ เอฟ-16 เอ/บี ฝูงบิน 103 และ เอฟ-16 เอดีเอฟ (รุ่นป้องกันภัยทางอากาศ มีความสามารถใช้อาวุธปล่อยนำวิถีนอกระยะสายตา) เอฟ-16 เอเอ็ม/บีเอ็ม ฝูง 403 (ที่ปรับปรุงใหม่ให้ขีดความสามารถเทียบเท่าเอฟ-16 ซี/ดี บล็อก 52 ที่ ทอ.สหรัฐฯ ใช้) ผบ.ทอ.บอกว่า ของที่มีก็ดีพอใช้ แต่เมื่อเก่าทรุดโทรมคุณภาพย่อมสู้ของใหม่ไม่ได้ และยังมีปัญหาเรื่องส่งกำลังบำรุง โดยเฉพาะอะไหล่ ที่ต้องใช้เวลานานในการจัดหามาทดแทน จึงต้องไปกว้านหาซื้อในตลาดมืด อนาคตข้างหน้าหากติดขัดและส่งกำลังบำรุงไม่ได้เพราะไม่มีอะไหล่ หรือเครื่องยนต์ บริษัทหยุดสายการผลิตเครื่องบินก็ทำการบินไม่ได้ กองทัพอากาศจึงได้มองอย่างรอบด้าน ทั้งการโมดิฟายด์เครื่องเก่า และเครื่องกลางเก่ากลางใหม่อย่าง เอฟ-5 ทีเอช ซูเปอร์ไทกริส และ อัลฟาเจ็ต ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น พร้อมกับมองหาเครื่องบินใหม่อย่างการซื้อ เครื่องบินฝึกขับไล่ ที-50 ทีเอช โกลเด้นอีเกิล และ เครื่องบินโจมตีเบา เอที-6 ทีเอช วูลฟเวอรีน ซึ่งเมื่อเรามีเงินน้อยก็ต้องเลือกสรรอย่างดี และต้องใช้งานได้นาน เหมือนที่เราใช้ เอฟ-16 มาถึง 35-40 ปี

พล.อ.อ.นภาเดช กล่าวอธิบายเปรียบเทียบว่า เหมือนกับคนที่ใช้รถยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งมาตลอดแล้วใช้ดี ไม่มีเรื่องจุกจิกเลย ไม่ค่อยเสียหาย เราจึงเกิดความเชื่อมั่นเชื่อใจ ก็ไม่อยากเสี่ยงเปลี่ยนไปใช้ยี่ห้ออื่น เพราะเราเงินน้อยก็ต้องซื้อรถที่มั่นใจ จากบริษัทที่เรามั่นใจ แน่นอนว่าที่ผ่านมาเรามั่นใจในค่ายของอเมริกา ก็ต้องค่อยๆ ดูว่าเครื่องบินใดของอเมริกาที่ดีและมีเงินที่จะซื้อหาได้หรือไม่ ซึ่งเราก็พบว่าในปัจจุบันนี้เครื่องบินเอฟ-35 ค่ายของอเมริกามีสมรรถนะดีเลิศ ประเทศต่างๆ ล้วนต้องการซื้อมาใช้งาน หากมีโอกาสได้ใช้งานเครื่องบินเอฟ-35 ก็จะเป็นการยกระดับเข้าไปอยู่ในประเทศที่มีของดีใช้ ถือเป็นแถวหน้า เอฟ-35 ก็ตอบโจทย์เกือบทั้งหมด

U.S. Air Force photo by Staff Sgt. Alexander Cook
U.S. Air Force photo by Staff Sgt. Alexander Cook

จุดเริ่มต้นของแนวคิดการจัดหา เอฟ-35

บิ๊กป้อง เปิดเผยแนวคิดการจัดซื้อเครื่องบินรบรุ่นใหม่ของกองทัพอากาศไทยที่จะเข้ามาทดแทน เอฟ-16 เมื่อช่วงเดือน ต.ค. 2564 ว่า มีความสนใจ เอฟ-35 เนื่องจาก ตัวเองมาเป็น ผบ.ทอ.ได้เพียง 1 ปี คงจะไม่มีโอกาสได้เห็น เอฟ-35 ในกองทัพอากาศช่วงที่ดำรงตำแหน่ง แต่ก็อยากเป็นคนที่เริ่มต้นศึกษาไว้ก่อน เพื่อให้โครงการนี้มีคนรับช่วงต่อไป จนต่อมาได้มีการเปิดใจกับสื่อมวลชนถึง ความตั้งใจที่จะจัดซื้อเอฟ-35 อย่างเป็นทางการ โดยแนวคิดการจัดหาเครื่องบินรบรุ่นใหม่ เพื่อยกระดับกองทัพอากาศ เคยเกิดมาในสมัย พล.อ.อ.ประพันธ์ ธูปะเตมีย์ ผบ.ทอ.คนที่ 10 และเป็นบิดาของบิ๊กป้อง โดยในสมัยที่ดำรงตำแหน่งนั้น เป็นผบ.ทอ.ที่เสนอโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ เอฟ-16 เข้ามาประจำการในกองทัพอากาศ และถือเป็นการจัดซื้อที่ทำให้ ทอ.ไทย มีเอฟ-16 ใช้งานมากว่า 30 ปี

โอกาสที่จะจัดซื้อในปีงบประมาณ 2566 กระชั้นชิด

หากพิจารณาโครงการจัดซื้อ เอฟ-35 ด้วยมูลค่าลำละ 80 ล้านเหรียญฯ ของเครื่องบินจำนวน 8 กว่า 640 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่นี้เป็นเพียงราคาเครื่องเปล่า ยังไม่นับรวม ค่าใช้จ่ายอื่นๆ อาทิ เครื่องยนต์ไอพ่น ระบบเรดาร์ ระบบเซนเซอร์ตรวจจับ ระบบเชื่อมโยงข้อมูล ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้ง การที่ต้องจัดซื้อ อุปกรณ์สนับสนุนภาคพื้น โรงเก็บเครื่องบิน อะไหล่ อาวุธที่รวมแล้วก็มีอีกหลายร้อยล้านเหรียญ กับสถานการณ์ที่ประเทศไทย ยังมีปัญหาจากโรคโควิด-19 ปัญหาทางเศรษฐกิจ ส่วนตัวผู้เขียนยังมองว่า ในปีงบประมาณ 2566 แทบจะไม่มีโอกาสให้เอฟ-35 เกิดได้ แม้ว่าจะมีการเสนอซื้อแบ่งเป็นลอต

แต่โดยส่วนตัวผู้เขียนมองว่าหาก สถานการณ์ดีขึ้น สภาพเศรษฐกิจดีขึ้น ไม่มีปัญหาโควิดรุนแรง อีก 3-5 ปี โครงการจัดซื้อเครื่องบินเอฟ-35 อาจจะถูกนำมาเสนอเข้าแผนงบประมาณได้อีกครั้ง แต่โดยรวมเมื่อ ผบ.ทอ.แสดงเจตนารมณ์อันแรงกล้าและชัดเจนว่าเครื่องบินรุ่นต่อไปที่จะมาอยู่ในกองทัพอากาศ คือ เอฟ-35 ก็ไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินฝันมากนัก และถ้าโครงการจัดซื้อเอฟ-35 ถูกผลักดันจนผ่านการเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรก็มีความเป็นไปได้ ที่ ทอ.ไทยจะสั่งซื้อเอฟ-35 ลอตแรก 4 ลำในช่วงที่ราคาต่อเครื่องลงมาอยู่ในระดับที่ต้องการ เพียงแต่มองแล้วอาจจะยังไม่พร้อมหากต้องซื้อในเวลานี้ และอาจจะโดนทัวร์ลงจริงๆ เพราะด้วยการที่ประชาชนมองว่า สภาพเศรษฐกิจ ปากท้อง และปัญหาโควิดยังไม่คลี่คลาย 

U.S. Air Force photos by Todd Cromar
U.S. Air Force photos by Todd Cromar

สถานการณ์ตลาดของเอฟ-35 ในตลาดทั่วโลกและสายการผลิต

จากข้อมูลล่าสุดที่ทางล็อกฮีดมาร์ติน เปิดเผยมา มีเอฟ-35 ประจำการในกองทัพต่างๆ ทั่วโลกรวมแล้วมากกว่า 750 ลำในทุกรุ่นการใช้งาน และในปี 2022 ก็ได้เริ่มเดินสายการผลิตเต็มรูปแบบ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในด้านต้นทุนการผลิตลดลง อย่างต่อเนื่อง โดยล็อกฮีดมาร์ตินตั้งเป้าส่งมอบ เอฟ-35 ในปี 2022 อยู่ที่ 153 ลำ และจะพีกที่สุดในกำลังการผลิตที่ 155 ลำในปี 2023

ปัจจุบัน เอฟ-35 ถูกจำหน่ายให้กับประเทศอื่นที่ไม่ได้ร่วมในโครงการพัฒนา ตามโครงการ FMS นอกจากสหรัฐฯ รวม 6 ชาติ จำนวน 60 ลำ ได้แก่ อิสราเอล ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เบลเยียม โปแลนด์ สิงคโปร์ และล่าสุดที่เพิ่งประกาศซื้อ คือ ฟินแลนด์ โดยหากไทยตัดสินใจวางคำสั่งซื้อก็คาดว่า น่าจะได้รับเครื่องลอตแรกในอีก 3-5 ปีนับจากนี้

U.S. Air Force photo by R. Nial Bradshaw
U.S. Air Force photo by R. Nial Bradshaw

ส่องสเปก เอฟ-35 เอ ต้องดีแบบไหนถึงเป็นหนึ่งเดียวในใจ ผบ.ทอ.

เอฟ-35 เอ เป็นเครื่องบินขับไล่โจมตี 1 ที่นั่ง 1 เครื่องยนต์ เป็นผลิตผลจากโครงการเครื่องบินขับไล่โจมตีร่วม หรือ เจเอสเอฟ (Joint Strike Fighter : JSF) มันถูกออกแบบมาให้มี 3 รุ่น ได้แก่ รุ่นเอ สำหรับกองทัพอากาศ ติดตั้งปืนกลอากาศจีเอยู-22/เอ สี่ลำกล้องหมุนขนาด 25 มม. พร้อมกระสุน 180 นัดในลำตัว รุ่นบี เป็นรุ่นที่ออกแบบมา ให้มีขีดความสามารถในการบินขึ้นโดยใช้ทางวิ่งระยะสั้นและลงจอดแบบทางดิ่ง หรือ STOVL สามารถติดตั้งอาวุธในลำตัว เหมือนกับ รุ่น เอ บีและซี แต่ไม่มีปืนติดในลำตัว สำหรับ นาวิกโยธิน และกองทัพเรือใช้งาน และ รุ่น ซี เป็นรุ่นสำหรับใช้งานบนเรือบรรทุกเครื่องบิน ที่มีขนาดปีกใหญ่ที่สุด มีการออกแบบให้ฐานล้อแข็งแรง และติดตะขอเกี่ยวลงจอดบนเรือบรรทุกเครื่องบิน และตะขอยึดเครื่องดีดส่งเครื่องบินที่ฐานล้อหน้า ติดอาวุธในลำตัวได้ ไม่มีปืนติดตั้งในลำตัว 

เอฟ-35 ออกแบบมาให้ใช้เครื่องยนต์เทอร์โบแฟน แพรตแอนด์วิทนีย์ F135-PW100 ให้ความเร็วสูงสุด 1.6 มัค เมื่อโหลดอาวุธในลำตัว และใส่น้ำมันเต็มถังในลำตัว มีระยะปฏิบัติการ 1,093 กิโลเมตร บินได้ไกลสุด 2,200 กิโลเมตร (บินจากเหนือสุด-ใต้สุดได้) ช่องเก็บอาวุธใต้ลำตัว ติดตั้ง อาวุธปล่อย เอไอเอ็ม-120 ซี-7 แอมแรมได้ 2 ลูก และระเบิดนำวิถีด้วยดาวเทียม จีบียู-31 เจแดม 2 ลูก และหากเป็น Beast Mode ที่มีการติดอาวุธใต้ปีกด้วย ก็จะสามารถติดอาวุธไปได้เพิ่มขึ้น แต่จะเสียคุณสมบัติสเตลธ์ไป นอกจากนี้ด้วยโครงสร้างที่แข็งแรง ทำให้เอฟ-35 สามารถรองรับแรงจีได้ถึง 9 จี เทียบเท่าเอฟ-16 เมื่อต้องเลี้ยววงแคบในการรบทางอากาศ

U.S. Air Force photo by Staff Sgt. Alexander Cook
U.S. Air Force photo by Staff Sgt. Alexander Cook

แต่สิ่งที่เหนือกว่าเครื่องบินรบในท้องตลาดด้วยการเป็นเครื่องบินรบยุคที่ 5 นั้น คือ ระบบการตรวจจับและเซนเซอร์ต่างๆ เริ่มต้นจากหมวกนักบินที่ติดตั้งจอภาพ ที่ให้ข้อมูลต่างๆ แก่นักบินทำให้ไม่ต้องก้มมองแผงควบคุม และยังสามารถเล็งอาวุธได้จากหมวกนักบินได้ด้วย ระบบเรดาร์ที่ติดกับเอฟ-35 เป็นเทคโนโลยี เรดาร์ AESA ระบบตรวจจับที่ทำให้นักบินหยั่งรู้สถานการณ์การรบ กล้องอิเล็กโทรออปติคอล สำหรับตรวจจับด้วยอินฟราเรดและติดตามเป้าหมายด้วยเลเซอร์ ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์สุดล้ำ ที่สามารถเอาตัวรอดจากภัยคุกคามจากระบบต่อต้านอากาศยาน และ อาวุธปล่อยต่อต้านอากาศยาน ทั้งระบบแจมรบกวนเรดาร์ และ เป้าลวงอาวุธปล่อยนำวิถีความร้อนและเรดาร์ ที่สำคัญยังมีระบบเน็ตเวิร์กเชื่อมโยงข้อมูลกับเครื่องบินฝ่ายเดียวกัน รวมทั้งกำลังภาคพื้นดินและเรือรบ ทำให้สามารถปฏิบัติการร่วมกับทุกฝ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ทั้งหมดนี้ คือ ภาพรวมของ เอฟ-35 เครื่องบินขับไล่ยุคที่ 5 ที่ทันสมัยที่สุด ที่กองทัพอากาศไทยหมายตามอง ทั้งนี้ทั้งนั้น การจัดซื้ออาวุธของกองทัพอากาศ ยังต้องผ่านอีกหลายขั้นตอนนับจากนี้ เพราะตรงนี้เป็นแค่การเริ่มต้นศึกษาความเป็นไปได้ ยังมีอีกหลายขั้นตอนที่ต้องดำเนินการ ทั้งการทดสอบประเมินค่า ที่มีคณะกรรมการจัดหาที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณาเทคโนโลยีเทคนิคต่างๆ ความเหมาะสม อีกทั้งยังต้องจัดการโครงการให้สอดคล้องกับงบประมาณที่ได้รับ โดยคาดว่าใช้เวลาอีกหลายปี รวมทั้งเวลาการสั่งซื้อและผลิตเครื่องบินออกมาก็น่าจะกินเวลาราวๆ 10 ปี นั่นแปลว่าหากทุกอย่างผ่านขั้นตอนหมดก็อีก 10 ปีจึงจะได้เห็น สายฟ้าฟาดที่แพนหางเครื่องบินเอฟ-35 ของกองทัพอากาศไทย แต่ระหว่างทาง 10 ปี อะไรก็เกิดขึ้นได้หมดเช่นกัน.

U.S. Air Force file photo by Staff Sgt. Andrew Lee
U.S. Air Force file photo by Staff Sgt. Andrew Lee



ผู้เขียน     : จุลดิส รัตนคำแปง

ข้อมูลจาก : ล็อกฮีด มาร์ติน เอฟ-35, วิกิพีเดีย, ยูทูบช่อง WassanaNanuam