หากพูดถึงการลงทุนใน “โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่” เพื่อพัฒนาประเทศแล้ว ความคืบหน้าของการก่อสร้าง “ระบบขนส่งทางราง” ทั้งรถไฟฟ้าในเมือง รถไฟฟ้าในหัวเมืองต่างจังหวัด รถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง เป็นหนึ่งสิ่งที่คนไทยกำลังติดตามและเฝ้าคอยกันมานาน

และในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แม้ประเทศไทยจะอยู่ในสถานการณ์โควิด-19 แต่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้ให้นโยบายชัดเจนที่จะเร่งพัฒนาและเชื่อมโยงระบบรางของประเทศอย่างต่อเนื่อง เพราะมองว่า นอกจากประโยชน์ในการขนส่งมวลชนแล้ว ในอนาคตจะเป็นระบบสำคัญที่จะเชื่อมการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวระหว่างประเทศ และเป็นช่องทางกระจายรายได้ให้คนไทยในชุมชนทุกระดับ

“ทีมเศรษฐกิจ” จึงถือโอกาสมาอัปเดตความคืบหน้าของแต่ละโครงการทั้งหมดทั่วประเทศ ทั้งที่กำลังก่อสร้าง ใกล้แล้วเสร็จ เสร็จพร้อมให้บริการ รวมทั้งโครงการที่กำลังศึกษาในอนาคต มาให้ติดตามกันแบบครบวงจรกันเลย

อัปเดต “รถไฟฟ้าเมืองหลวง”

เริ่มต้นจากแผนการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อช่วยให้การเดินทางของผู้คนในเมืองสะดวกและปลอดภัยมากขึ้น แก้ปัญหาการจราจรติดขัด ลดอุบัติเหตุและมลพิษบนท้องถนน ตามแผนมี 14 เส้นทาง ระยะทางรวม 554 กม. แต่ปัจจุบันเปิดใช้แล้ว 11 เส้นทาง 211.94 กม. ประกอบด้วย

สายสีเขียว 4 เส้นทาง คือ ช่วงหมอชิต-สมุทรปราการ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ และสนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า สายสีน้ำเงิน 2 เส้นทาง ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง หัวลำโพง-บางแค สายแอร์พอร์ตลิงก์ 1 เส้นทาง พญาไท-สุวรรณภูมิ สายสีม่วง 1 เส้นทาง บางใหญ่-เตาปูน สายสีทอง 1 เส้นทาง ช่วงกรุงธนบุรี-คลองสาน และ สายสีแดง 2 เส้นทาง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และล่าสุดบางซื่อ-ตลิ่งชัน ที่เปิดให้บริการ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา

...

รู้ก่อนใคร! อัปเดตระบบขนส่งทางรางทั่วไทย

ขณะที่โครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและการเตรียมการในการเปิดประมูล 6 เส้นทาง โดย 2 เส้นทางแรกจะพร้อมเปิดให้บริการบางช่วงปี 65 และเต็มรูปแบบในปี 66 คือ สายสีชมพู 2 ช่วง แคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.50 กม. ปัจจุบันงานโยธามีความก้าวหน้า 84.45% งานระบบไฟฟ้าและเดินรถก้าวหน้า 80.62%

ขณะที่ ส่วนต่อขยายช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ก็พร้อมแล้วเช่นกัน สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.40 กม. งานโยธามีความก้าวหน้าร้อยละ 89.51 งานระบบไฟฟ้าและเดินรถมีความก้าวหน้าร้อยละ 84.91

สำหรับอีก 2 เส้นทาง ที่กำลังก่อสร้างและทยอยเสร็จตามมา ได้แก่ สายสีส้ม ช่วงศูนย์ วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี 22.50 กม. งานโยธามีความก้าวหน้าร้อยละ 88.46 เร็วกว่าแผน โดยคาดว่าจะเสร็จเดือน ธ.ค.68 ส่วน แอร์พอร์ตลิงก์ ช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 21.80 กม. ไปรวมอยู่ในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะเปิดให้บริการปี 70

ส่วน 2 เส้นทางสุดท้าย ได้แก่ สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.60 กม. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำลังพิจารณารายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนฯ ก่อนดำเนินการเปิดประมูล ซึ่งคาดว่าจะสร้างเสร็จปลายปี 70 และ สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย–บางขุนนนท์ ระยะทาง 13.40 กม. อยู่ระหว่างพิจารณารูปแบบการลงทุน โดยคาดว่าจะสร้างเสร็จในปี 71

ขณะที่แผนในอนาคตจะมีโครงการร่วมลงทุนกับเอกชนทำอีก 6 เส้นทาง 71.49 กม. ได้แก่ สายสีแดง (เหนือ) ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 8.84 กม. คาดจะเสร็จปี 69 สายสีแดง (ใต้) ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง 5.76 กม. เสร็จปี 71 สายสีแดง (ตะวันตก) ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา 14.80 กม. เสร็จปี 66 และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช 5.70 กม. เสร็จปี 69 สายสีแดง (ตะวันออก) ช่วงบางซื่อ-มักกะสัน-หัวหมาก (Missing Link) 20.14 กม. เสร็จปี 71 และสายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ 16.25 กม. กำลังทำอีไอเอ คาดเปิดใช้ได้ปี 72

นอกจากนั้น ยังมี ส่วนต่อขยายเพิ่มเติม ที่ยังไม่กำหนดระยะเวลาเสร็จสิ้นอีก 9 เส้นทาง ได้แก่ สีเขียว (สุขุมวิท) ช่วงสมุทรปราการ-บางปู สีเขียว ช่วงคูคต-ลำลูกกา สีน้ำเงิน ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 สีแดง (ใต้) ช่วงหัวลำโพง-มหาชัย สีเทา ช่วงพระโขนง-ท่าพระ สีฟ้า ช่วงดินแดง-สาธร สีทอง ช่วงคลองสาน-ประชาธิปก สายสีเหลืองส่วนต่อขยายช่วงแยกรัชดา-ลาดพร้าว-แยกรัชโยธิน และสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย - ลำสาลี (บึงกุ่ม)


ต่างจังหวัดเตรียมใช้ “รถไฟฟ้า”

ทั้งนี้ นอกจากรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯและปริมณฑลแล้ว ปัจจุบัน รฟม. และหน่วยงานท้องถิ่นยังมีแผนสร้างรถไฟฟ้าในส่วนภูมิภาคตามต่างจังหวัดเช่นกัน ภายใต้ชื่อ “โครงการระบบขนส่งมวลชนในภูมิภาคใน 7 จังหวัด 7 เส้นทาง” ซึ่งทีมเศรษฐกิจ ไทยรัฐก็ไม่พลาดจะมาอัปเดตให้พี่น้องที่อยู่ต่างจังหวัดให้ติดตามเช่นกัน เริ่มต้นที่ ระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ ก่อสร้างเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี ระยะทาง 15.8 กม. 16 สถานี ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษา ออกแบบ จัดเตรียมเอกสารประกวดราคา จัดทำรายงานอีไอเอและพีพีพี คาดเริ่มก่อสร้างได้ปี 68 ได้ใช้บริการเดือน ธ.ค.71

...

รู้ก่อนใคร! อัปเดตระบบขนส่งทางรางทั่วไทย

ต่อมาเป็น ระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดภูเก็ต ช่วงท่าอากาศยานฯ- ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 42 กม. 21 สถานี ซึ่งอยู่ระหว่างจัดเตรียมข้อมูลด้านก่อสร้าง คาดเริ่มก่อสร้างได้ต้นปี 69 เปิดใช้บริการเดือน มิ.ย.71 ส่วน ระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดขอนแก่น สร้างเป็นรถไฟฟ้ารางเบา นำร่องสายสีแดง (สำราญ-ท่าพระ) 26 กม. 20 สถานี ปัจจุบันกำลังดำเนินงานโดยบริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด ของเทศบาลทั้ง 5 แห่ง เริ่มก่อสร้างปี 64 ใช้เวลาสร้างประมาณ 3 ปี

ระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สร้างเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบาเช่นกัน นำร่องสายสีเขียว ช่วงตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ระยะทาง 11.15 กม. 21 สถานี ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษา จัดเตรียมเอกสารประกวดราคาแบบพีพีพี และทำรายงานอีไอเอ คาดเริ่มก่อสร้างได้ปี 68 ได้นั่งใช้บริการปี 71

ขณะที่ ยังมีโครงการที่เตรียมศึกษาในอนาคตมี 3 จังหวัด ได้แก่ ระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดพิษณุโลก รูปแบบรถรางล้อยาง โครงสร้างทางวิ่งระดับดิน นำร่องสายสีแดง ช่วงมหาวิทยาลัยพิษณุโลก-ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพิษณุโลก 12.6 กม. มี 15 สถานี ระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดอุดรธานี รูปแบบรถโดยสารไฟฟ้า ระยะทาง 20.6 กม. ยังไม่กำหนดเส้นทาง และสุดท้าย ระบบขนส่งสาธารณะอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ดำเนินการโดย อบจ.สงขลา ในรูปแบบโมโนเรล เส้นทางคลองหวะ-สถานีรถตู้ ระยะทาง 12.54 กม. มี 12 สถานี ปัจจุบัน กระทรวงมหาดไทยอนุมัติหลักการแล้ว กำลังอยู่ขั้นตอนพิจารณาพีพีพี และอีไอเอ คาดเริ่มก่อสร้างได้ปี 65 ได้ใช้บริการในปี 68

...

รถไฟทางคู่ 2,900 กม. ทั่วไทย

จากระบบรถไฟฟ้าเพื่อขนส่งมวลชน การพัฒนาระบบรางของประเทศมีเป้าหมายต่อเนื่องในการกระจายรายได้สู่คนไทยทั่วประเทศ และการลดต้นทุนโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นภาระหนักทางการค้า โดยแผนลงทุนพัฒนารถไฟทางคู่ในโครงข่ายทางรถไฟปัจจุบัน มีมากถึง 17 โครงการ ระยะทาง 2,932 กม.

แบ่งเป็นแผนระยะเร่งด่วน 7 โครงการ ก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 โครงการและอยู่ระหว่างก่อสร้าง 5 โครงการ โดยเส้นทางที่เสร็จแล้ว ได้แก่ ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย 106 กม. และชุมทางจิระ-ขอนแก่น 187 กม. ซึ่งปัจจุบันทั้ง 2 เส้นทางเริ่มทดลองเปิดใช้กันบ้างแล้ว ส่วนอีก 5 เส้นทางที่กำลังก่อสร้างอยู่ ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร 167 กม. ลพบุรี-ปากน้ำโพ 148 กม. มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ 132 กม. และนครปฐม-หัวหิน 169 กม. คาดจะเสร็จใกล้เคียงกันปี 2565 ส่วนหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ 84 กม. จะเสร็จก่อนเล็กน้อย

รู้ก่อนใคร! อัปเดตระบบขนส่งทางรางทั่วไทย

ขณะที่มีแผนก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะกลางอีก 8 โครงการ รวม 1,549 กม. วงเงินกว่า 280,466 ล้านบาท ได้แก่ ปากน้ำโพ-เด่นชัย 285 กม. วงเงิน 62,859 ล้านบาท ขอนแก่น-หนองคาย 167 กม. วงเงิน 26,663.36 ล้านบาท ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี 308 กม. วงเงิน 37,527.10 ล้านบาท ชุมพร-สุราษฎร์ธานี 168 กม. วงเงิน 24,294.36 ล้านบาท สุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา 321 กม. วงเงิน 57,375.43 ล้านบาท ชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ 45 กม. วงเงิน 6,661.37 ล้านบาท ชุมทางศรีราชา-มาบตาพุด 70 กม. วงเงิน 8,247 ล้านบาท และเด่นชัย-เชียงใหม่ 189 กม. วงเงิน 56,837.78 ล้านบาท ส่วนแผนระยะยาว จะสร้างชุมทางคลองสิบเก้า-อรัญประเทศ 174 และชุมทางหาดใหญ่-สุไหงโก-ลก 216 กม. วงเงินรวมกว่า 57,373 ล้านบาท

...

นอกจากนี้ ยังจะมีการสร้างทางรถไฟสายใหม่อีก 14 โครงการ ซึ่งโครงการที่จะเกิดแน่ๆ กำลังประกวดราคาแล้ว 2 เส้นทาง ได้แก่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ 323 กม. วงเงิน 85,345 ล้านบาท บ้านไผ่-นครพนม 355 กม. 67,965.33 ล้านบาท ส่วนสุราษฎร์ธานี-ท่านุ่น 163 กม.วงเงิน 44,218.80 ล้านบาท อยู่ระหว่างเตรียมขั้นตอนการลงทุน

ขณะที่มีแผนระยะกลาง ที่อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียดและพิจารณาอีไอเออีก 642 กม. ได้แก่ นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-แม่สอด 256 กม. กาญจนบุรี-บ้านภาชี (เชื่อมแหลมฉบัง) 221 กม. สงขลา-ปากบารา 142 กม. และชุมทางบ้านภาชี-อ.นครหลวง 23 กม. และมีแผนระยะยาวอีก 7 โครงการ วงเงิน 1.6 แสนล้านบาท ได้แก่ มาบตาพุด-ระยอง-จันทบุรี-ตราด 197 กม. อุบลราชธานี-ช่องเม็ก 87 กม. กาญจนบุรี-บ้านพุน้ำร้อน 36 กม. นครสวรรค์-บ้านไผ่ 291 กม. ทับปุด-กระบี่ 68 กม. สุราษฎร์ธานี-ดอนสัก 79 กม. ชุมพร-ระนอง 109 กม.

“ไฮสปีดเทรน” เร็วแรงทั่วประเทศ

สุดท้ายไปดูโครงการที่ถูกจับตามองอย่างมาก คือแผนพัฒนาทางรถไฟขนาดทางมาตรฐาน หรือรถไฟความเร็วสูง ซึ่งมีมากถึง 8 โครงการ ระยะทาง 2,506 กม. วงเงินลงทุนกว่า 1.62 ล้านล้านบาท ซึ่งนอกจากจะช่วยตอบโจทย์ด้านการค้า ยังจะช่วยพัฒนาการท่องเที่ยวในชุมชนเพิ่มขึ้นด้วย ปัจจุบันมีแผนระยะเร่งด่วน 4 โครงการ มีก่อสร้างแล้ว 1 เส้นทาง โครงการกรุงเทพฯ-นครราชสีมา 253 กม. คาดจะแล้วเสร็จปี 69

รู้ก่อนใคร! อัปเดตระบบขนส่งทางรางทั่วไทย

ขณะที่โครงการที่กำลังเตรียมก่อสร้าง ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. ที่เป็นการร่วมทุนกับเอกชน ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้างคาดจะเสร็จปี 71 ส่วนช่วงอู่ตะเภา-ระยอง 40 กม. กำลังจัดทำรายงานพีพีพีและผลกระทบอีไอเอ

และไม่ใช่มีแค่ 2 สายนี้เท่านั้น เรายังมีแผนก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงอีกหลายเส้นทาง ทั้งกรุงเทพฯ-พิษณุโลก 380 กม. ที่กำลังถกหาข้อสรุปรูปแบบการลงทุน นครราชสีมา-หนองคาย 355 กม. กำลังออกแบบรายละเอียดอยู่ และยังมีแผนรถไฟความเร็วสูงระยะกลางอีก 499 กม. ประกอบด้วย เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน 211 กม. กำลังของบปี 65 เพื่อทบทวนผลการศึกษาเดิม เช่นเดียวกับเส้น พิษณุโลก-เชียงใหม่ 288 กม. ก็กำลังหาข้อสรุปรูปแบบการลงทุน ขณะที่ 2 สายสุดท้าย ซึ่งเป็นแผนระยะยาว 759 กม. หัวหิน-สุราษฎร์ธานี 424 กม. สุราษฎร์ธานี-ปาดังเบซาร์ 335 กม. อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสม เบื้องต้นยังไม่กำหนดจะเริ่มสร้างและเสร็จเมื่อไร

เหล่านี้ก็ถือเป็นการรวบรวมอัปเดต โครงการเมกะโปรเจคท์ระบบรางของทั้งประเทศ ว่ามีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว ซึ่งต้องบอกว่าในช่วง 10 ปีข้างหน้านี้ หากทำสำเร็จได้จริงตามแผนจะช่วยพลิกโฉมหน้าการเดินทางของประเทศ ให้คนไทยเดินทางได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากขึ้นอย่างแท้จริง.

ทีมเศรษฐกิจ