คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการ “ป้ายทะเบียนพิเศษแบบใหม่” เพื่อเพิ่มสีสันให้วงการทะเบียนรถยนต์ โดยให้ใช้ป้ายทะเบียนแบบพิเศษ ที่มีทั้งตัวอักษร รวมสระ และวรรณยุกต์ ตามท้ายด้วยหมายเลขทะเบียนรถ ลงไปในป้ายทะเบียนรถยนต์ได้

ความเคลื่อนไหวนี้กลายเป็นกระแสในโลกโซเชียลอยู่ไม่น้อย ชาวเน็ตต่างก็ยินดีและแชร์ข่าวไปเป็นจำนวนมาก บ้างก็ตีความไปเองว่า อนาคตคงใช้ชื่อตัวเอง เช่น อมรเทพ แล้วตามด้วยเลขที่ชอบเช่น 99 ได้

หรือกำหนดชื่อเล่น ชื่อที่ชอบต่างๆได้เอง เช่น อ๊อบ 96 โดเรมอน 9999

แต่...ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นไปเสียทั้งหมด ข้อมูลจาก กรมการขนส่งทางบก อ

ธิบายหลักเกณฑ์ของป้ายทะเบียนพิเศษให้เข้าใจง่ายๆว่า “คำหรือข้อความที่จะมาปรากฏในป้ายทะเบียนนั้นต้องเป็นคำสุภาพ ต้องไม่เป็นชื่อที่ผิดศีลธรรม หรือก่อให้เกิดความขัดแย้ง หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อย”

การกำหนด “คำ” หรือ “ข้อความ” หรือเรียกว่า การกำหนดคำหรือข้อความในหมวดทะเบียนพิเศษขึ้นมานั้น กรมการขนส่งทางบกจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณาชื่อหมวดของทะเบียนพิเศษ พร้อมทั้งสำรวจความคิดเห็นของประชาชนว่าคำไหนมีความนิยมมากน้อยเพียงใด

...

สมมติคำว่า “ทำดี” เป็นหมวดที่ประชาชนชื่นชอบ อยากใช้หมวดนี้เป็นจำนวนมาก เราก็ต้องมากำหนดตัวเลขในหมวด “ทำดี”...ว่าจะมีทะเบียนนี้ได้กี่หมายเลข หรือว่าหมายเลขทะเบียนไหน ที่ประชาชนแสดงความประสงค์ต้องการใช้

หลักการที่คณะรัฐมนตรีให้มาก็คือ ในป้ายทะเบียนแบบพิเศษนั้นจะมีตัวเลขและตัวอักษร รวมสระ ได้ไม่เกิน 7 ตัว

หมวดทำดีนั้น นับตัวอักษรคำว่าทำดี รวมสระไปแล้ว 3 ตัว ก็จะเหลือตัวเลขที่มีบนป้ายได้อีก 4 ตัว นั่นหมายความว่า จะมีตัวเลข 1 ตัว 2 ตัว หรือ 3 ตัว หรือ 4 ตัวก็ได้

หมายเลขที่จะใช้ได้กับหมวดทำดีนั้น ต้องเป็นเลขที่เข้าหลักเกณฑ์ของป้ายประมูล คือ 301 หมายเลข

ยกตัวอย่างเช่น หมายเลขตัวเลขหลักเดียว 1-9 ตัวเลข 2 ตัว 11 22 ไปถึง 99 ตัวเลข 3 ตัว แบบเลขตอง 111 222 ไปถึง 999 หรือตัวเลข 3 ตัว แบบเลขเรียง 123 234 ส่วนตัวเลข 4 ตัว เช่นเลขโฟร์ 1111 4444 หรือตัวเลขแบบ 4 ตัวสลับ 5959 9669 รวมตัวเลขเรียงของเลข 4 ตัว เช่น 1234 ด้วย

ให้รู้อีกว่า...การกำหนดคำหรือข้อความหมวดของทะเบียนพิเศษนั้น ทางกรมการขนส่งทางบกยังเปิดให้ประชาชนสามารถ ตั้งคำหรือข้อความหมวดได้เอง โดยในอนาคตประชาชนสามารถเสนอคำหรือข้อความที่ต้องการที่จะใช้มายังเว็บไซต์กรมการขนส่งทางบก

แต่...ต้องย้ำว่า “คำ” หรือ “ข้อความ” ในหมวดทะเบียนพิเศษที่ประชาชนตั้งขึ้นมานั้น ต้องมาผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองก่อนว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือไม่ และจะได้รับความนิยมจากประชาชนส่วนใหญ่มากน้อยเพียงใด

สมมติว่ามีประชาชนเสนอคำหรือข้อความทะเบียนหมวดพิเศษมา แล้วคณะกรรมการเห็นว่าเป็นชื่อที่ตรงตามหลักเกณฑ์ และได้รับความนิยม เช่น คำว่า “รักชาติ”

ซึ่งหมวดทะเบียนพิเศษ “รักชาติ” นั้น ใช้อักษรรวมสระไปแล้ว 5 ตัว ตามระเบียบให้มีอักษรบนป้ายทะเบียนได้ไม่เกิน 7 ตัว

ดังนั้น หมวดทะเบียนพิเศษ “รักชาติ” ก็จะเหลือพื้นที่ให้ใส่ตัวเลขได้อีก 2 ตัวเท่านั้น เพราะฉะนั้นหมวดรักชาติก็จะมีเลขได้ไม่เกิน 2 นั่นก็คือจะใช้เป็น รักชาติ 1–9 และรักชาติ 11–22–33 ไล่ไปจนถึงรักชาติ 99 เท่านั้น

ส่วนประเด็นที่มีประชาชนถามเข้ามามากว่า สามารถตั้งชื่อตัวเอง ทั้งชื่อจริง และชื่อเล่น ได้หรือไม่ จิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ตอบว่า สามารถเสนอชื่อเข้ามาได้

แต่ก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่มีอยู่ว่า คณะกรรมการจะเห็นสมควรหรือไม่

...

ยกตัวอย่าง หากเสนอชื่อ “มงคล” ให้เป็นหมวดทะเบียนพิเศษ คำว่า “มงคล” คณะกรรมการต้องไปพิจารณาว่า ชื่อหมวด “มงคล” นั้น เป็นไปตามระเบียบที่กำหนดไว้หรือไม่

หากพิจารณาแล้วเห็นว่าชื่อ “มงคล” นี้ มีคนอยากใช่เพียงคนเดียว ไม่ได้รับความนิยมจากประชาชนเลย ชื่อนี้ก็ต้องตกไป

ในทางกลับกัน หากชื่อ “มงคล” ได้รับความนิยม มีคนอยากใช้ ทางกรมการขนส่งทางบกก็ต้องเปิดให้มีการประมูลหมายเลขทะเบียนพิเศษในหมวด “มงคล” ต่อไป

ซึ่งการประมูลนั้นก็มีประชาชนสอบถามมามากว่า ราคาจะเริ่มประมูลที่เท่าไร?

ประเด็นนี้มีคำตอบว่า การประมูลจะตั้งราคาจากฐานข้อมูลเดิมของตัวเลขของการประมูลทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม ในอนาคต ย้ำคำว่า...ในอนาคต หมวดทะเบียนพิเศษนั้นอาจมีการแก้ไขกฎกระทรวงเพิ่มหมายเลขอื่นๆ เป็นหมายเลขออกประมูลเพิ่มเติมจาก 301 หมายเลข

สำหรับหลักเกณฑ์การจองป้าย รวมไปถึงการประมูลป้ายทะเบียนแบบพิเศษนั้น ก็จะใช้วิธีผ่านอินเตอร์เน็ต เหมือนการจองหรือประมูลป้ายแบบในปัจจุบัน แต่คงต้องแยกส่วนออกจากกันให้ชัดเจน

ซึ่งทางกรมการขนส่งกำลังออกแบบหน้าเว็บไซต์ของ...

“ป้ายทะเบียนแบบพิเศษ” อีกไม่นานคงจะเปิดให้ประชาชนได้เข้าชมได้

...

ส่วนชื่อป้ายทะเบียนหมวดพิเศษนั้น ตอนนี้ก็เรียกชื่อนี้เป็นการชั่วคราวไปก่อน อนาคตข้างหน้าอาจตั้งชื่อ “ทะเบียนหมวดพิเศษใหม่” ให้ดูดีกว่านี้

แน่นอนว่า...ความคืบหน้าทั้งหมดของป้ายทะเบียนพิเศษนี้ ประชาชนที่สนใจสามารถเข้ามาติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวได้ที่เว็บไซต์ของกรมการขนส่งทางบก

ตอนนี้คณะทำงานที่กรมการขนส่งทางบกจัดตั้งขึ้นมา มีการทำงานคืบหน้าไปมาก คาดการณ์กันว่า...ไตรมาสแรกของปี 2565 ประชาชนจะเริ่มเห็นป้ายทะเบียนพิเศษออกใช้ตามถนนหนทางต่างๆ

“ป้ายทะเบียนแบบพิเศษ” ไม่ใช่แค่ว่าจะเป็นการสร้างสีสันให้วงการทะเบียนรถยนต์ประเทศไทยเท่านั้น หากแต่ยังสามารถเพิ่มเงินเข้าไปเสริมเติมเต็มใน “กองทุนผู้ประสบภัยในท้องถนน” ให้มีมากขึ้นไปกว่าเดิมอีกด้วย.