ที่สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ร่วมกับศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) จัดแถลงข่าวขับเคลื่อนสื่อโฆษณาและสื่อรณรงค์สร้างความปลอดภัยทางถนนสำหรับเด็กและเยาวชน เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ ปี 2565 นพ.ธนะพงษ์ จินวงษ์ ผู้จัดการ ศวปถ. กล่าวว่า ช่วงวิกฤติโควิด-19 อัตราการใช้บริการหรือการซื้อขายรถจักรยานยนต์เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน จากข้อมูลการเฝ้าระวังอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 7 วันอันตรายของเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา พบผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นผู้ใช้รถจักรยานยนต์ร้อยละ 82.48 มีสาเหตุหลักคือการใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดคิดเป็น 3 ใน 4 ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งมีค่านิยมมาจากการได้รับสื่อโฆษณาที่มักตอกย้ำเครื่องยนต์ความเร็วสูงสุด (Top-Speed) และภาพลักษณ์ของคนที่ใช้ความเร็วให้รู้สึกถึงความเป็นผู้นำ จึงขอเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแนวทางปฏิบัติในการกำกับ ดูแลสื่อโฆษณา และมีข้อบังคับใช้เกี่ยวกับการสื่อสารโฆษณาของผู้ประกอบการรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน
นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการ ยท. กล่าวว่า ภาคีเครือข่ายผู้ทำงานด้านเด็กและเยาวชนมีข้อเสนอต่อกระทรวงวัฒนธรรม และคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ 3 ข้อ ได้แก่ 1.ขอให้คณะกรรมการภาพยนตรฯ มีแนวทางปฏิบัติการผลิตสื่อโฆษณาไปยังผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์ เพื่อให้ลดการใช้เนื้อหาที่มุ่งเน้นสร้างการรับรู้เกี่ยวกับความแรงของเครื่องยนต์หรือความเร็ว 2.ขอให้มีการกำกับและตรวจสอบการผลิตสื่อโฆษณา สื่อภาพยนตร์ หรือสื่ออื่นๆ ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะเนื้อหาที่นำเสนอการใช้รถจักรยานยนต์ของตัวละคร ต้องมีการใช้อุปกรณ์นิรภัยทุกครั้ง และ 3.ขอให้กระทรวงวัฒนธรรม กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และคณะกรรมการภาพยนตร์ฯ มีแนวทางขับเคลื่อนเรื่องวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนปลูกฝังวินัยจราจร วินัยสำหรับการใช้รถใช้ถนน ผ่านสื่อโฆษณาและสื่อประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานในสังกัด
...
ด้านนายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผช.รมต.วัฒนธรรม กล่าวว่า จะนำข้อเสนอทั้ง 3 ข้อ ของภาคีเครือข่าย เสนอต่อ รมว.วัฒนธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าวต่อไป.