เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว “ฝุ่นพีเอ็ม 2.5” หวนกลับมาปกคลุมเต็มท้องฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ ภาคเหนือ อีสาน อีกเช่นเดิม ที่ปรากฏค่าตรวจวัดเกินมาตรฐานเป็นปัญหาให้ “คนไทย” ต้องเผชิญหน้ากับมลพิษทางอากาศสูดดมเข้าร่างกายเป็นอันตรายไม่เว้นแต่ละปี

แม้ว่าก่อนหน้านี้ “ครม.” มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองไว้ 3 ด้าน คือ 1.เพิ่มความเข้มงวดจัดการเชิงพื้นที่ 2.ลดการเกิดมลพิษแหล่งกำเนิด 3.เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการมลพิษ แต่ค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ในหลายพื้นที่ก็มีปริมาณสูงเป็นอันตรายต่อสุขภาพอยู่เช่นเดิม

สถานการณ์ค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ในปีนี้ รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเกษตร ให้ข้อมูลว่า ในปี 2564 ประเทศไทยเจอ“ปรากฏการณ์ลานีญา” มีฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ส่งผลให้ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ในรอบนี้มาช้ากว่าทุกครั้ง

แนวโน้ม “ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล” น่าจะพีกสูงสุดเดือน ม.ค.2565 เพราะมีการเผาภาคเกษตรแถบภาคกลาง และภาคตะวันตก โดยเฉพาะการเผานาข้าว เผาอ้อย ตามดาวเทียมวัดค่าความร้อนกระจุกตัวในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา...กระแสลมก็นำพาฝุ่นพิษทั้งหลายมาในกรุงเทพฯและปริมณฑลนี้

...

แล้วมาเจอ “โรงงานอุตสาหกรรม” ปล่อยมลพิษประจำในช่วงนี้ “รถบรรทุกน้ำมันดีเซลยูโร 3” ก็ยังวิ่งปล่อยควันดำเกลื่อนเมือง ทำให้ฝุ่นพีเอ็ม2.5 สะสมเพิ่มมากขึ้นด้วยพื้นที่กรุงเทพฯถูกล้อมรอบตึกสูง ในฤดูหนาวมักมี “ปรากฏการณ์ฝาชีครอบต่ำ” ลมนิ่งอากาศถ่ายเทไม่ดี มีพื้นที่สีเขียวน้อยไม่มีตัวช่วยดูดซับมลพิษ

กลายเป็นแหล่งสะสมกักเก็บฝุ่นพีเอ็ม 2.5 อย่างดี ฉะนั้น “ปัญหามลพิษอากาศในกรุงเทพฯ” มักมีตัวแปรต้องพึ่งพากระแสลมเข้ามาช่วยคลี่คลายสถานการณ์เป็นหลัก ด้วยเหตุเพราะ “ภาครัฐมัวแต่เกรงใจภาคเอกชน”ไม่กล้าดำเนินตามมาตรการเด็ดขาดกับ “โรงงานอุตสาหกรรม” ที่ปล่อยมลพิษสู่อากาศนั้น

รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช
รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช

อีกทั้งยังเกรงใจ “กลุ่มรถบรรทุกเก่าเครื่องดีเซลยูโร 1-ยูโร 3” เพราะห่วงกลัวเสียขีดความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจจนต้อง “อนุโลมปล่อยวิ่งกันเกลื่อนเมือง” ทั้งที่จริงรถบรรทุกเก่าต้องปลดระวางกันแล้ว...แม้แต่การกำหนดมาตรฐานรถยนต์น้ำมันดีเซลยูโร 4 ต้องปรับใช้ยูโร 5 ในปี 2564 ก็ถูกเลื่อนออกไปจนถึงปี 2567 เพราะภาคเอกชนร้องขอให้ชะลอเพื่อลดต้นทุนการขนส่งนี้ “ยิ่งว่านั้นภาษีรถเก่ายิ่งเก็บถูกมาก”

ทำให้กลายเป็นปัญหาการจราจรติดขัดนำไปสู่การปลดปล่อยมลพิษจำนวนมากอยู่ตลอด

สะท้อนว่า “ภาครัฐให้ความสำคัญในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ” ที่เร่งเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันมากกว่าด้านสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนเป็นวงกว้างนี้มักได้รับการแก้ไขภายหลังเสมอ...ถัดมารอบปีนี้ “ภาคเหนือ” จะเริ่มมีมลพิษทางอากาศไต่ระดับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆจนสถานการณ์น่ากังวลในเดือน ก.พ.-เม.ย.2565 ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นพื้นที่แอ่งกระทะภูเขาสูงล้อมรอบแล้วเจอ “การเผาป่า และพืชเกษตร” ก็จะมีควันไฟถูกกระแสลมพัดมาจมกองรวมกันอยู่พื้นที่ที่แอ่งกระทะเป็นหลักแน่ๆ

แล้วด้วยการแก้ปัญหาในพื้นที่ค่อนข้างซับซ้อน อย่างกรณี “ปลูกข้าวโพดพืชการเกษตร” ถ้าปลูกที่ราบลุ่มมีการเผาแล้ว “ก.เกษตรและสหกรณ์” ต้องดำเนินการ แต่หากปลูกในป่า “ก.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” รับผิดชอบแก้ปัญหาเอง สะท้อนว่าหน่วยงานรัฐต่างคนต่างทำ ไม่บูรณาการแก้ปัญหาร่วมกัน

ถ้าลงไป “ภาคใต้” ปัญหาฝุ่นมักมีในพื้นที่ตอนล่างเดือน ส.ค.-ก.ย.ทุกปี สาเหตุจากไฟป่าในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ปีนี้ไม่น่ามีปัญหามากจาก “ลานีญา” ทำให้มีฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติที่จะเข้ามาช่วยลดไฟป่าลงได้...ไม่เว้นแต่ “ภาคอีสาน” ก็เจอปัญหาฝุ่นเกินมาตรฐานเกือบทุกจังหวัดเช่นกัน ที่เกิดการเผาอ้อย เผาฟางข้าว แล้วทั้งภูมิภาคกับสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ 2-3 แห่ง จนที่ผ่านมาไม่เคยมีตัวเลขค่ามลพิษปรากฏขึ้น

...

ภาพรวมในปี 2565 “ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 จะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ”เพราะลานีญายังเพิ่มกำลังสูงสุดเดือน ม.ค. ที่จะค่อยอ่อนกำลังลงเฟสกลางเดือนพ.ค.ปริมาณฝนยังมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติเกือบทุกพื้นที่ประเทศ ในการช่วยลดการเผาป่า เผาพืชเกษตรในประเทศ...ประเทศเพื่อนบ้าน อันเป็นต้นตอมลพิษทางอากาศ

จริงๆแล้ว “ปัญหาฝุ่นพิษ” ไม่ควรฝากความหวังไว้ “ฝนฟ้าธรรมชาติ” แต่ต้องถาม “นโยบายภาครัฐ” กำหนดแก้ปัญหานี้เป็นวาระแห่งชาติ แต่กลับยังไม่สามารถลงลึกถึงรากเหง้าต้นเหตุมลพิษได้จริง

ตามข้อมูล “ธนาคารโลก” คำนวณสถานการณ์มลพิษทางอากาศของไทยเทียบกับต่างประเทศ พบว่าปัญหาความรุนแรงของระดับฝุ่นพิษพีเอ็ม 2.5 ถูกจัดอยู่ในอันดับ 88 จาก 180 ประเทศ มลพิษจากโอโซนบนภาคพื้นดินอยู่อันดับ 102 มีการสูญเสียไปจากการเจ็บป่วย พิการ 6.5 หมื่นคนต่อปี ถูกจัดอยู่อันดับที่ 11

ทั้งการสูญเสียชีวิต 2.5 หมื่นคนต่อปี อยู่อันดับที่ 22 มูลค่าความเสียหายจากมลพิษทางอากาศ 45,334 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ (PPP) (3.89%ของ GDP) อยู่อันดับที่ 20 จาก 180 ประเทศ

...

ผลกระทบจาก “มลพิษทางอากาศ” ไม่ใช่มีเพียงแค่ผลกระทบต่อสุขภาพเท่านั้น แต่ยังมี “ความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจ” ตามมามากมายอีกด้วย อย่างเช่น สูญเสียค่าใช้จ่ายจากการรักษาอาการป่วย สูญเสียโอกาสในการทำงาน ลาป่วย ดูแลคนในครอบครัวป่วย สูญเสียร่างกายแข็งแรงจากการสะสมมลพิษ

หนำซ้ำยังสูญเสียค่าใช้จ่ายซื้อหน้ากากอนามัย สูญเสียค่าใช้จ่ายซื้อเครื่องฟอกอากาศ...ไส้กรองที่บ้าน ที่รถ ที่ออฟฟิศ สูญเสียความสุข อดทำกิจกรรมนอกบ้าน เด็กๆอดเล่นต้องทนอึดอัดใส่หน้ากากตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้เป็นความเสียหายทางต้นทุนมักเกิดเป็นระยะ ทำให้ไม่สามารถประเมินตีเป็นมูลค่าเงินตราได้ชัดเจน

“มลพิษทางอากาศถูกจัดเป็นสิ่งสร้างความเสียหายมากที่สุดในบรรดามลพิษทั้งหลายทั้งปวง ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศมากมาย อันนำมาซึ่งการสูญเสียทางชีวภาพหลากหลาย แต่กลับไม่ถูกเหลียวแลแก้ไขจริงจัง เพราะถูกมองเป็นเรื่องไกลตัวยังไม่ใช่ปัญหาจำเป็นเร่งด่วนต้องแก้ไขเดี๋ยวนี้” รศ.ดร.วิษณุ ว่า

...

ตอกย้ำแก้ปัญหาระยะยาว “ภาครัฐ” ต้องปรับโครงสร้างการเก็บภาษีรถเก่าสูงขึ้นเพราะเป็นจุดต้นกำเนิดก่อมลพิษให้วิ่งบนถนนน้อยที่สุดแล้ว “เสริมมาตรการแก้การจราจรติดขัด...เข้มงวดตรวจจับสภาพรถยนต์ตลอดปี” เพื่อให้รถยนต์ปล่อยควันดำมีโอกาสถูกจับสูงขึ้นจะนำสู่การปฏิบัติตามกฎหมายเคร่งครัดตามมา

เรื่องสำคัญ “การเพิ่มงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่านี้” เมื่อเทียบกับขนาดปัญหามลพิษทางอากาศเกิดขึ้นมากมาย เพราะการแก้ปัญหามลพิษพูดปากเปล่าไม่ได้ แต่ต้องมีเงินสนับสนุน

ดังคำว่า “เงินมางานเดิน” ในการพัฒนาคุณภาพอากาศให้ดีขึ้นแล้วต้องมี “หน่วยงานเฉพาะ” ที่สามารถแก้ไขปัญหาต่อเนื่องตลอดได้

เบื้องต้นตอนนี้ “เครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย” มีการรวมตัวของกลุ่มนักวิชาการ ภาคประชาชน ศึกษาค้นคว้าทำความเข้าใจในปัญหามลพิษทางอากาศหาสาเหตุต้นตอในเรื่องนี้แล้ว ร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาด เพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ....เพื่อปิดช่องโหว่หลายเรื่องในกฎหมายเดิม

กฎหมายฉบับนี้ถูกร่างออกมาโดย “ภาคประชาชนแท้จริง” เพื่อนำเสนอให้จัด “ตั้งหน่วยงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อม” ที่จะมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการดูแลการจัดการอากาศสะอาดโครงสร้างทั้งระบบ คาดว่าหลังปีใหม่ 2565 จะมีการออกมาเคลื่อนไหวผลักดันร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯที่ต้องติดตามกัน

อนาคตถ้า “ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด” ถูกตราออกเป็นกฎหมายบังคับใช้แล้วจะเป็นดาบคอยทิ่มแทงผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย “ชอบก่อมลพิษสิ่งแวดล้อมเกิดอันตรายต่อสุขภาพประชาชน” ที่จะไม่ใช่เสือกระดาษอย่างทุกวันนี้อีกต่อไป...