สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีเรื่องที่น่าสนใจ และสังคมออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์กันเป็นจำนวนมาก
เกี่ยวกับกรณีของแม่ค้าออนไลน์คนหนึ่ง ซื้อกระเป๋ายี่ห้อดังมาจากผู้ขาย เมื่อได้รับกระเป๋าแล้ว แม่ค้าออนไลน์เห็นว่า กระเป๋าดังกล่าวปลอม จึงไลฟ์สด และใช้ปากกาเขียนบนกระเป๋าว่า “ปลอม” ทำให้กระเป๋าได้รับความเสียหาย

รวมถึงยังได้ให้คำมั่นกับผู้ขายว่า หากกระเป๋าใบดังกล่าวเป็นของแท้จะให้เงินสองล้านบาท

ต่อมาผู้ขายได้ติดต่อขอกระเป๋าคืน เพื่อจะนำไปตรวจพิสูจน์กับสถาบันชื่อดัง แต่แม่ค้าออนไลน์ก็มีการบ่ายเบี่ยง จนกระทั่งผู้ขายไปแจ้งความ เพื่อให้แม่ค้ารายนี้ส่งมอบกระเป๋าคืน และเมื่อตรวจสอบแล้ว ผลปรากฏว่า กระเป๋าใบดังกล่าวนั้น เป็นของแท้

เมื่อผลตรวจพิสูจน์กระเป๋าใบดังกล่าวเป็นของแท้ ผลที่ตามมาจากการกระทำของแม่ค้าออนไลน์รายนี้ จะเป็นอย่างไรบ้าง

ประเด็นที่หนึ่ง การใช้ปากกาเขียนบนกระเป๋าว่าปลอมจะเป็นความผิดในข้อหาทำให้เสียทรัพย์หรือไม่

เบื้องต้นจะต้องให้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติก่อนว่า กรรมสิทธิ์ในกระเป๋าดังกล่าวนั้น ยังเป็นของผู้ขาย หรือกรรมสิทธิ์ได้โอนไปยังผู้ซื้อแล้ว พิจารณาได้จากข้อตกลงในการซื้อขายสินค้า หากมีข้อตกลงในการซื้อขาย หรือมีเงื่อนไขบังคับ กรรมสิทธิ์ในกระเป๋าก็จะยังคงเป็นของผู้ขายอยู่ จนกว่าเงื่อนไขบังคับตามข้อตกลงจะสำเร็จ เป็นผลให้คำเสนอกับคำสนองถูกต้องตรงกัน สัญญาซื้อขายเกิด กรรมสิทธิ์ในกระเป๋าจะโอนไปยังผู้ซื้อทันที แม้จะยังไม่ได้ชำระเงินก็ตาม

ดังนั้น หากกรรมสิทธิ์เป็นของผู้ขาย ผู้ซื้อไม่มีสิทธิ์ที่จะทำลายกระเป๋าหรือเขียนคำว่าปลอม แต่หากกรรมสิทธิ์เป็นของผู้ซื้อ ผู้ซื้อจะเขียนหรือจะทำให้กระเป๋าเสียหายอย่างไรก็ได้

...

กรณีที่กรรมสิทธิ์ยังเป็นของผู้ขาย การที่ผู้ซื้อเขียนคำว่า “ปลอม” บนกระเป๋า ทำให้กระเป๋าเสียหาย ย่อมเป็นความผิดในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น หรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน สามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ประเด็นที่สอง การบ่ายเบี่ยงที่จะคืนกระเป๋าจะเป็นความผิดข้อหายักยอกทรัพย์หรือไม่

เบื้องต้นจะต้องพิจารณา เรื่องของกรรมสิทธิ์เช่นเดียวกับประเด็นที่หนึ่ง หากกรรมสิทธิ์ยังเป็นของผู้ขาย ผู้ซื้อไม่มีสิทธิ์ที่จะยึดหน่วงทรัพย์สินของผู้อื่นไว้ โดยปราศจากเหตุอันจะอ้างตามกฎหมาย แต่หากกรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้ซื้อแล้ว ก็เป็นเรื่องของการผิดสัญญาทางแพ่ง ที่จะต้องไปฟ้องร้องบังคับให้เป็นไปตามสัญญาซื้อขาย เพื่อให้ผู้ซื้อชำระเงินค่าสินค้าตามสัญญา

กรณีที่ผู้ซื้อยึดถือทรัพย์สินของผู้อื่นไว้ และเมื่อผู้ขายได้ขอทรัพย์สินคืนแล้ว แต่ผู้ซื้อบ่ายเบี่ยง โดยไม่มีเหตุอันจะอ้างตามกฎหมายได้ ถือได้ว่าเป็นการเบียดบังทรัพย์ของผู้อื่นเป็นของตน โดยทุจริต มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ประเด็นที่สาม แม่ค้าออนไลน์จะต้องจ่ายเงินสองล้านบาทให้แก่ผู้ขายหรือไม่

คำมั่น หมายถึง การแสดงเจตนาฝ่ายเดียวของผู้ให้คำมั่น และมีผลผูกพันผู้ให้คำมั่น เมื่อมีผู้แสดงเจตนารับรู้ที่สอดคล้องกับคำมั่น อันเป็นความผูกพันก่อนเกิดสัญญาที่มุ่งประสงค์จะทำระหว่างกัน ดังนั้น เมื่อแม่ค้าออนไลน์ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้เงินสองล้านบาทหากกระเป๋าดังกล่าวเป็นของแท้ คำมั่นจึงผูกพันแม่ค้าออนไลน์ทันที แม่ค้าออนไลน์จึงต้องจ่ายเงินสองล้านบาทให้แก่ผู้ขายตามที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้

จากอุทาหรณ์ที่ได้จากข่าวนี้ การซื้อสินค้าออนไลน์มาแล้วไม่ตรงปก หรือไม่แท้ หรือไม่เป็นไปตามโฆษณาของผู้ขาย ผู้ซื้อย่อมมีสิทธิ์ปฏิเสธที่จะรับสินค้านั้น และขอให้ผู้ขายคืนเงินเต็มจำนวนได้ แต่ไม่ควรที่จะทำลายสินค้านั้น หรือปล่อยระยะเวลาไว้เนิ่นนานเกินไป เนื่องจากอาจจะเกิดข้อพิพาทหรือข้อโต้แย้งได้ ซึ่งเป็นผลให้เป็นข้ออ้างของผู้ขายที่จะขอคืนเงินไม่เต็มจำนวนครับ

สุดท้ายนี้ ขอชี้แจงนะครับว่า การให้ความเห็นครั้งนี้ เป็นการให้ความเห็นในเชิงของกฎหมาย เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผมในฐานะทนายความเท่านั้น โดยได้วิเคราะห์จากเนื้อหาของข่าวเท่านั้น ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และพยานหลักฐานที่ทั้งสองฝ่ายมีอยู่ในครอบครอง อาจจะมีมากกว่านี้ก็ได้ ซึ่งอาจจะมีผลให้คำพิพากษาของศาลแตกต่างออกไปจากความเห็นของผมครับ

สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ หรือ

หรือ Instagram : james.lk