ททท.แกะริบบิ้นเสนอจุดขายใหม่ประเทศไทยในปี 2565 ปั้นพื้นที่ชะอำ-หัวหิน เป็นพื้นที่ใหม่ของโลกด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health and Wellness Tourism) ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่ไทยต้องยกระดับสู่การท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพ
นายนิธี สีแพร รองผู้ว่าการด้านดิจิทัล วิจัย และพัฒนา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในฐานะกำกับดูแลการเปิดพื้นที่ชะอำ-หัวหิน รับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564 ที่รัฐบาลได้มีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาใน 2 พื้นที่นี้ยังเข้ามาไม่มากนัก ด้วยสถานการณ์และมาตรการต่างๆ ที่ยังไม่เอื้ออำนวยอยู่บ้าง โดยนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในพื้นที่นี้จะมีแบบผ่านการ Test&Go คือ ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR และรอผลตรวจในโรงแรมพื้นที่กรุงเทพฯ ภายใน 24 ชั่วโมง และเดินทางมาท่องเที่ยวต่อในพื้นที่ชะอำ-หัวหิน เนื่องจากรูปแบบ Test&Go จะต้องเดินทางจากสนามบินตรงไปพื้นที่ในช่วงเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง และมีรูปแบบแซนด์บ็อกซ์ สามารถเดินทางจากสนามบินตรงไปในพื้นที่ชะอำ-หัวหิน และเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากนั้นต้องอยู่ให้ครบ 7 วันจึงจะออกไปพื้นที่อื่นได้
ขณะเดียวกัน ได้มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามาประเทศไทยก่อนหน้านี้ ทั้งจากกรุงเทพฯ ภูเก็ต และกลุ่มคนสูงวัยและวัยเกษียณ รวมทั้งชาวต่างชาติที่พำนักระยะยาว หรือลองสเตย์ ได้มีการกระจายตัวมาท่องเที่ยวในพื้นที่ชะอำ-หัวหินเรื่อยๆ ทำให้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.-2 ธ.ค.2564 พื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ มียอดนักท่องเที่ยวสะสม จำนวน 2,320 คน โดย 3 อันดับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าพื้นที่ ได้แก่ รัสเซีย ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร ส่วนพื้นที่ จ.เพชรบุรี ตั้งแต่วันที่ 1-30 พ.ย. 2564 มียอดสะสม 192 คน นำโดยนักท่องเที่ยวชาวเยอรมนี ญี่ปุ่น และจีน
“ตั้งแต่กลางเดือน ธ.ค.เป็นต้นไป ยอดจองห้องพักในพื้นที่มีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากนักท่องเที่ยวจะหนีหนาวจากทางยุโรป มาฉลองเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ที่ประเทศไทย ซึ่งเป็นกลุ่มที่เคยมาไทยแล้ว และในเดือน ม.ค. 2565 พบว่ามียอดการจองห้องพักล่วงหน้าที่สูงเพิ่มขึ้นอีก”
นายนิธี กล่าวต่อว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในพื้นที่ชะอำ-หัวหิน ไม่ถือว่าน้อยมาก เพราะถ้าดูจากตัวเลขของปี 2562 ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาประเทศไทยเกือบ 40 ล้านคน มีกระจายตัวมาในพื้นที่ของชะอำ-หัวหิน เกือบ 2 ล้านคน คิดเป็น 5% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด ขณะที่ในปี 2564 ก็คงอยู่ในระดับ 5% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาประเทศไทยทั้งหมด และจากนี้ไปต้องมองไปในปี 2565 พยายามรักษาส่วนแบ่งการตลาดของนักท่องเที่ยวต่างชาติในพื้นที่นี้ให้ได้ และเน้นการเพิ่มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ทั้งกลุ่มดูแลสุขภาพ กลุ่มนักกอล์ฟ และกลุ่มวัยเกษียณ
นอกจากนี้ ได้หารือกับนายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ ททท. ที่จะนำเครื่องบินเช่าเหมาลำ (Charter Flight) ของสายการบินแอร์เอเชียจากมาเลเซีย มาลงที่ท่าอากาศยานหัวหิน หรือสนามบินบ่อฝ้าย และจากเดิมที่มีชาร์เตอร์ไฟล์ทนำกลุ่มนักกอล์ฟชาวเกาหลีมาลงที่เชียงใหม่ ก็จะเจาะกลุ่มนี้โดยขยายเส้นทางมาลงที่สนามบินบ่อฝ้ายด้วย เพราะหัวหินก็มีความพร้อมของสนามกอล์ฟที่รองรับได้
ส่วน จ.เพชรบุรี ที่เพิ่งได้รับการประกาศจากยูเนสโก ให้เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร ประจำปี 2564 (City of Gastronomy) ดังนั้น ในปี 2565 ททท.จะประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วโลกรู้จัก จ.เพชรบุรี ในด้านนี้มากขึ้นด้วย
นายกรด โรจนเสถียร นายกสมาคมสปาไทย ในฐานะประธานภาคเอกชนของโครงการ หัวหิน รีชาร์จ เปิดเผยว่า การเปิดพื้นที่ชะอำ-หัวหิน เพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตอนนี้ ต้องมองข้ามไปปี 2565 โดยจากการหารือร่วมกับนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่า ททท. และนายนิธี พร้อมคณะของ ททท. ล่าสุดต้องการผลักดันพื้นที่ชะอำ-หัวหิน ให้เป็นพื้นที่ใหม่ของโลกด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health and Wellness Tourism) เพื่อเดินหน้าสู่การท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไปจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเน้นในเชิงดูแล ป้องกัน และรักษาสุขภาพ ขณะที่พื้นที่นี้มีความพร้อมหลายๆ ด้านจึงเล็งเห็นศักยภาพที่จะมุ่งไปสู่การสร้างจุดขายใหม่ที่เป็นเมกะเทรนด์ของโลก ที่มนุษย์กำลังแสวงหาพื้นที่ใหม่ของโลก
“วันนี้ผู้นำประเทศได้เห็นตรงนี้แล้ว และมีดีมานด์หรือความต้องการของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ทางผู้ว่า ททท. จึงจุดไอเดียให้พื้นที่กำหนดกิจกรรมและมาตรฐานในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโดยเฉพาะ ซึ่งจากนี้ไปทางเทศบาลเมืองหัวหิน ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี รวมทั้งภาคเอกชนในพื้นที่ ต้องไปเตรียมตัวต่อว่า ซัพพลาย ไซด์ หรือในพื้นที่จะต้องทำอะไรบ้าง เช่น การหากิจกรรมและสร้างจุดขายเพื่อทำให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในพื้นที่ ได้ประสบการณ์ในเรื่องของการใช้ชีวิตในรูปแบบของการกินดี อยู่ดี ออกกำลังกายดี และสามารถแบ่งปันสิ่งดีๆ เพราะรัฐบาลช่วยผลักดันส่งเสริมทำให้การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวของพื้นที่นี้มีความน่าสนใจมากขึ้น โดย ททท. จะนำนโยบายและแผนในเรื่องนี้เสนอต่อที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ หรือ ศบศ. พิจารณา เพื่อจะทำเป็นไฮไลต์ของการท่องเที่ยวไทยในปี 2565”