สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับกรณีของหนุ่มไรเดอร์บุกเข้าไปในร้านอาหารใช้มีดแทงเจ้าของร้าน และภรรยาของเจ้าของร้านจนได้รับบาดเจ็บสาหัส สาเหตุเกิดจากไม่พอใจที่เจ้าของร้านไม่เอาอาหารออกมาส่งให้ ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันโรคระบาดของนิติบุคคลอาคารชุด และมีการโต้เถียงกัน จนเจ้าของร้านรายงานไปยังนายจ้างของไรเดอร์ เพื่อขอให้เปลี่ยนไรเดอร์คนใหม่ ก่อนไรเดอร์จะออกไปจากร้านยังทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า จะกลับมาฆ่าทิ้งให้หมด
วันต่อมาหนุ่มไรเดอร์ถือมีดมาในร้านเดิม และใช้มีดแทงเจ้าของร้านและภรรยาของเจ้าของร้านจนได้รับบาดเจ็บสาหัส เจ้าของร้านถูกคมมีดบาดที่นิ้วมือลึกถึงกระดูก และจากภาพกล้องวงจรปิดยังเห็นด้วยว่า หนุ่มไรเดอร์พยายามใช้มีดปาดบริเวณคอของเจ้าของร้าน ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวน
ต่อมามีข่าวการให้สัมภาษณ์บิดาของหนุ่มไรเดอร์รายนี้ว่า หนุ่มไรเดอร์มีอาการทางด้านจิตเวช เนื่องจากเคยใช้ยาเสพติด จึงทำให้มีข้อสงสัยว่าหนุ่มไรเดอร์รายนี้จะต้องรับโทษสถานใด และข้ออ้างว่ามีอาการป่วยจิตเวชจะหลุดคดีหรือไม่
การทำร้ายร่างกายผู้อื่น ถือเป็นความผิดทางอาญา แต่จะรับโทษสถานใดนั้น ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ความร้ายแรงในการกระทำความผิด อาวุธที่ใช้ และบาดแผล ซึ่งเป็นผลจากการกระทำเป็นหลัก โดยแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าบาดแผลที่เกิดขึ้นกับผู้เสียหาย ซึ่งคำวินิจฉัยของแพทย์จะเป็นส่วนหนึ่งของการตั้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหา
กรณีบาดแผลไม่เป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำความผิดก็จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 391 หรือบาดแผลเป็นอันตรายแก่กายและจิตใจ ผู้กระทำความผิดก็จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 หรือบาดแผลเป็นอันตรายแก่กายและจิตใจสาหัส ผู้กระทำความผิดก็จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297 แล้วแต่กรณี
...
ทั้งนี้ หากพิจารณาจากพฤติการณ์ของหนุ่มไรเดอร์รายนี้จะเห็นได้ว่ามีการตระเตรียมการ และมีการวางแผนที่จะมาทำร้ายเจ้าของร้านและภรรยา โดยการเตรียมมีดมาเพื่อทำร้ายเจ้าของร้านและภรรยาของเจ้าของร้านโดยตรง การกระทำของหนุ่มไรเดอร์จึงเข้าข่ายทำร้ายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289 (4) หนุ่มไรเดอร์จะต้องรับโทษหนักยิ่งขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 296 หรือมาตรา 298 แล้วแต่กรณี
ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 296 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ถ้าความผิดนั้นมีลักษณะประการหนึ่งประการใดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 289 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 298 ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 297 ถ้าความผิดนั้นมีลักษณะประการหนึ่งประการใดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 289 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท
มีพฤติการณ์ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ การที่ใช้มีดจ่อไปที่บริเวณคอของเจ้าของร้าน รวมไปถึงการพยายามใช้มีดแทงบริเวณอกของภรรยาของเจ้าของร้านนั้น พนักงานสอบสวนจะตั้งข้อกล่าวหาพยายามฆ่าหรือไม่ ต้องติดตามต่อไปครับ
ในส่วนของข้ออ้างว่า เป็นผู้ป่วยด้านจิตเวช เนื่องจากเสพยาเสพติดเข้าไปนั้น เป็นสิทธิ์ของผู้ต้องหาในคดีอาญาที่สามารถจะอ้างเหตุผลประกอบการกระทำความผิดอย่างไรก็ได้ เพื่อให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิด หรือรับโทษน้อยลง แต่ถ้าเป็นเพียงการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีหลักฐานการรับการรักษาด้านจิตเวช พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการก็มีสิทธิ์ที่จะสั่งฟ้องต่อไปได้ โดยพนักงานสอบสวนก็อาจจะส่งตัวผู้ต้องหาไปให้แพทย์ด้านจิตเวชประเมินว่า ผู้ต้องหามีอาการถึงขั้นวิกลจริตจนไม่สามารถรู้รับผิดชอบชั่วดีหรือไม่ หากแพทย์ยืนยันว่าไม่มีอาการป่วย หรือป่วยแต่ยังพอรู้รับผิดชอบชั่วดีอยู่บ้าง พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการก็จะต้องสั่งฟ้องไปตามขั้นตอน เพื่อให้ศาลพิพากษาลงโทษต่อไป
สุดท้ายนี้ ขอฝากไว้เป็นอุทาหรณ์ครับ การใช้ความรุนแรงในการตัดสินปัญหา ไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด และสร้างความเดือดร้อนให้กับตัวท่านเอง รวมถึงครอบครัว คนรอบข้าง ก็ต้องได้รับความเดือดร้อนตามไปด้วย
สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ หรือ Facebook: ทนายเจมส์ LK หรือ Instagram : james.lk