สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีเรื่องน่าสนใจและสังคมวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก เกี่ยวกับกรณีของนายจ้างทารุณกรรมลูกจ้าง เป็นระยะเวลายาวนานกว่า 10 ปีและยังบังคับให้กินอุจจาระของสุนัข เมื่อถูกทำร้ายร่างกายหลายครั้งติดต่อกันเป็นระยะเวลานานส่งผลให้มีบาดแผลทั่วร่างกาย มีใบหน้า ปาก บิดเบี้ยว ตาใกล้จะบอด และ อวัยวะเพศติดเชื้อ ส่วนนายจ้างปฏิเสธข้อกล่าวหา แต่ยอมรับว่ามีตีบ้าง เพราะลูกจ้างดื้อ ชอบลักทรัพย์ในบ้าน มีพฤติกรรมในทำนองชู้สาว จึงต้องลงโทษ เพื่อให้หลาบจำจะได้ไม่ทำอีก ขณะนี้อยู่ในระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินคดีกับนายจ้างรายนี้

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ การกระทำในลักษณะนี้จะได้รับโทษสถานใด จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามข่าว กรณีทำร้ายร่างกายและบังคับให้กินอุจจาระสุนัขดังกล่าว เบื้องต้นพนักงานสอบสวนน่าจะตั้งข้อกล่าวหาทำร้ายร่างกาย และความผิดต่อเสรีภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 และ/หรือ มาตรา 295 และ/หรือ 297 ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับลักษณะบาดแผล ระยะเวลาของการรักษาบาดแผล และคำวินิจฉัยของแพทย์เป็นสำคัญ

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 391 ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 295 ผู้ใดทำร้ายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 297 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
อันตรายสาหัสนั้น คือ

...

(1) ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด หรือเสียฆานประสาท
(2) เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถสืบพันธุ์
(3) เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้วหรืออวัยวะอื่นใด
(4) หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว
(5) แท้งลูก
(6) จิตพิการอย่างติดตัว
(7) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต
(8) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน

ในกรณีที่การกระทำของนายจ้างเข้าข่ายทำร้ายโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289 (5) นายจ้างจะต้องรับโทษหนักยิ่งขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 296 หรือมาตรา 298 แล้วแต่กรณี

มาตรา 296 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ถ้าความผิดนั้น มีลักษณะประการหนึ่งประการใดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 289 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 298 ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 297 ถ้าความผิดนั้นมีลักษณะประการหนึ่งประการใดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 289 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท

ในส่วนการที่นายจ้างบังคับให้ลูกจ้างกินอุจจาระของสุนัข หากมีพฤติการณ์ในลักษณะที่ทำให้ลูกจ้างกลัวว่า จะเกิดอันตรายแก่ชีวิตร่างกายเสรีภาพชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของลูกจ้าง จนลูกจ้างยอมทำตาม นายจ้างก็จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

หากพิจารณาจากเนื้อหาที่อยู่ในข่าว มีข้อมูลว่า มีการกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน นายจ้างก็ต้องรับผิดทุกกรรมเรียงกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 91 เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนดดังต่อไปนี้

(1) สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี
(2) ยี่สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี
(3) ห้าสิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต

นอกจากนี้ หากมีความเสียหายเกิดขึ้นกับลูกจ้าง ลูกจ้างมีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งจากนายจ้างได้อีกด้วย แต่มูลค่าความเสียหายจะมากน้อยเพียงใด ลูกจ้างจะต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ข้อเท็จจริง หากพิสูจน์มูลค่าความเสียหายไม่ได้ ศาลอาจจะใช้ดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายตามความเหมาะสมของพฤติการณ์และความร้ายแรงของการกระทำความผิด

สุดท้าย นายจ้างจะต้องรับโทษหรือไม่ รับโทษสถานใด ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานในสำนวนคดีเป็นหลัก ศาลไม่สามารถที่จะนำข้อเท็จจริงที่อยู่นอกสำนวนมาพิจารณา เพื่อลงโทษจำเลยได้ จากข่าวนี้เป็นอุทาหรณ์ให้บรรดานายจ้างเป็นอย่างดี หากเห็นว่าลูกจ้างกระทำความผิดทางอาญา หรือปฏิบัติผิดระเบียบของนายจ้าง หรือคำสั่งของนายจ้าง อย่างร้ายแรง นายจ้างมีสิทธิ์ที่จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฏหมาย แต่ไม่มีสิทธิ์ที่จะลงมือทำร้ายลูกจ้างได้ครับ

...

สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ หรือ Facebook: ทนายเจมส์ LK หรือ Instagram : james.lk