ประสิทธิภาพและคุณลักษณะที่ตอบโจทย์ กองทัพอากาศไทย จุดเด่นที่ประหยัดคุ้มค่า AT-6TH วูล์ฟเวอรีน จึงเป็นตัวเลือกหนึ่งเดียวเหนือเครื่องบินแบบเดียวกัน เข้ามาเป็นเขี้ยวเล็บใหม่ของ ทอ.ไทย

เรียกได้ว่าเป็นข่าวฮือฮาไปทั่วโลกสำหรับข่าวการสั่งซื้อเครื่องบินโจมตีเบา เอที-6 ทีเอช วูล์ฟเวอรีน (AT-6 TH Wolverine) จำนวน 8 ลำของกองทัพอากาศไทยในงานดูไบ แอร์โชว์ 2021 โดยกองทัพอากาศได้ลงนามในสัญญาจัดซื้อแล้ว เมื่อ 24 ส.ค. 2564 จากบริษัท Textron Aviation Defense LLC สหรัฐอเมริกา กลายเป็นลูกค้าต่างชาติรายแรกสำหรับ เอที-6 วูล์ฟเวอรีน โดยในการจัดซื้อครั้งนี้ มีมูลค่าวงเงินงบประมาณกว่า 4,600 ล้านบาท (143,396,000 USD) ซึ่งเป็นโครงการผูกพันงบประมาณ 5 ปี ระหว่างปี 64-68 เป็นการจัดหาเครื่องบินโจมตีแบบเบา (AT-6) จำนวน 8 เครื่อง พร้อมอุปกรณ์อะไหล่ ระบบสนับสนุนการฝึกอบรม และอุปกรณ์อื่นๆ

ทำไมต้องเป็น เครื่องบินโจมตีเบา เอที-6 วูล์ฟเวอรีน

กองทัพอากาศไทยได้ชี้แจงว่า การจัดหา เครื่องบินโจมตีเบา เอที-6 วูล์ฟเวอรีน มาเพื่อทดแทนเครื่องบินฝึกขับไล่ไอพ่นแบบ L-39 ZA/ART อัลบาทรอส ที่มีอายุการใช้งานนานกว่า 25 ปี และได้ปลดประจำการแล้ว โดยแอล-39 ประจำการในช่วงสุดท้ายก่อนปลดประจำการที่ กองบิน 41 จ.เชียงใหม่ โดย แอล-39 กองทัพอากาศจัดหามาเพื่อใช้ ฝึกนักบินขับไล่ไอพ่นก่อนที่จะไปบินกับเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูงกว่า เช่น เอฟ-5TH ซุปเปอร์ไทกริส หรือ เอฟ-16 เอ/บี ไฟท์ติ้งฟัลคอน รวมทั้งสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องบินขับไล่เบา และสนับสนุนการโจมตีภาคพื้นดิน ด้วยอาวุธจรวดและระเบิด ที่มีใช้ในกองทัพอากาศได้

ต้องดีแบบไหน เอที-6 วูล์ฟเวอรีน เครื่องบินโจมตีเขี้ยวเล็บใหม่ ทอ.ไทย

...

เอที-6 วูล์ฟเวอรีน ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับภารกิจการโจมตีทางอากาศ ซึ่งตรงกับความต้องการของกองทัพอากาศ นอกจากนี้ ยังสามารถสนับสนุนการค้นหาและช่วยชีวิตในพื้นที่การรบ ในการบินคุ้มกันเฮลิคอปเตอร์กู้ภัยเพื่อช่วยชีวิตนักบินที่ถูกยิงตก หรือค้นหาผู้ประสบภัยด้วยตัวเองจากกล้องมองภาพในเวลากลางคืนที่ติดมากับเครื่องบินได้

มันอยู่ที่ความคุ้มค่า ในการซ่อมบำรุง และค่าใช้จ่ายปฏิบัติงาน

เหตุผลที่กองทัพอากาศไทยเลือกยังคำนึงถึงปัจจัยอีกหลายอย่างที่สำคัญ นั่นคือ ความประหยัด ในการส่งกำลังและซ่อมบำรุงจากการใช้อะไหล่ร่วมกันได้กับอากาศยานที่มีอยู่ก่อนแล้ว นั่นเป็นเพราะ ทอ.ไทย ได้สั่งซื้อญาติมันอย่างเครื่องบินฝึก บีชคราฟท์ ที-6ซี เท็กซ์ซานทู มาก่อนหน้านี้ 12 ลำ เพื่อทดแทนเครื่องบินฝึกขั้นสูง ปิลาตุส พีซี-9 เอ็ม ที่ใช้งานมาอย่างยาวนาน และเป็นเครื่องบินครู ของนักบินกองทัพอากาศไทยมากว่า 20 ปี โดยจะนำมาประจำการที่โรงเรียนการบินกำแพงแสน การที่มีเครื่องบินแบบแผนเดียวกัน จึงสามารถบริหารจัดการชิ้นส่วนอะไหล่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะแทบทุกส่วน 85% สามารถใช้ร่วมกันได้ รวมทั้งอุปกรณ์ภาคพื้นดิน และซ่อมบำรุงจะประหยัดได้ต่ำกว่า 1,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อชั่วโมง

ต้องดีแบบไหน เอที-6 วูล์ฟเวอรีน เครื่องบินโจมตีเขี้ยวเล็บใหม่ ทอ.ไทย

ระยะเวลาในการฝึกที่ลดลงเนื่องจากเป็นอากาศยานในตระกูลเดียวกับที่ใช้ฝึก แต่เพิ่มขีดความสามารถให้สูงขึ้น เนื่องจากการฝึกนักบินหลังจากนี้จะใช้ ที-6 ซี ฝึกบิน จึงทำให้เมื่อมาบินกับ เอที-6 ระยะเวลาในการฝึกก็จะลดลงเพราะเป็นเครื่องบินตระกูลเดียวกัน จากศิษย์การบิน มาเป็นนักบินพร้อมรบ ก็จะใช้เวลาลดลงนั่นเอง

พัฒนาจากเครื่องบินฝึก มาเป็นเครื่องบินโจมตีเบาตัวแสบ

ด้วยความต้องการเครื่องบินมีความเหมาะสมกับการปฏิบัติภารกิจบริเวณแนวชายแดน ในการลาดตระเวนติดอาวุธ เครื่องบินโจมตีเบา จึงมีความเหมาะสมกับการปฏิบัติการในยุคปัจจุบันมากขึ้น เนื่องด้วยภัยคุกคามหลัก ไม่ได้มีแต่การรบเต็มรูปแบบ แต่การเผชิญกับภัยจากยาเสพติด และกลุ่มติดอาวุธก่อการร้าย เป็นภัยคุกคามต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เครื่องบินที่นำมาใช้จึงไม่จำเป็นต้องเป็นเครื่องบินขับไล่ความเร็วเหนือเสียงที่ค่าใช้จ่ายสูง แต่ต้องการเครื่องบินที่อยู่บนฟ้าได้นานๆ ความเร็วไม่สูงมาก และติดอาวุธได้เพียงพอต่อการโจมตีภาคพื้นดิน ทำให้ เอที-6 วูล์ฟเวอรีน ที่เป็นเครื่องบินไบพัดเทอร์โบพร็อบ ที่ค่าใช้จ่ายในการบินต่ำกว่า ค่าเชื้อเพลิงประหยัดได้มากกว่า จึงเป็นตัวเลือกที่คุ้มค่า และเหมาะสมมากกว่า

ข้อมูลจำเพาะของ เอที-6 วูล์ฟเวอรีน

เอที-6 วูล์ฟเวอรีน พัฒนามาจากแบบแผนของเครื่องบินฝึก ที-6 เอ/บี เท็กซ์ซานทู ที่มีใช้ในกองทัพอากาศและกองทัพเรือสหรัฐฯ รวมทั้งกองทัพอากาศไทยในการฝึกนักบิน โดยคุณลักษณะของเครื่อง เอที-6 ใช้เครื่องยนต์ใบพัดเทอร์โบพร็อบ 1 เครื่อง ให้กำลัง 1,600 แรงม้า ทำความเร็วได้สูงสุด 0.67 มัค สามารถบรรทุกอาวุธได้หนักถึง 4,110 ปอนด์ หรือ 1,864 กก.และยังสามารถลงจอดได้ด้วยน้ำหนักสูงสุด ระยะปฏิบัติการ 1,563 ไมล์ เมื่อติดถังเชื้อเพลิงสำรอง 4 ถังและมีกล้องมองภาพด้วยอินฟราเรด MX-15D ใต้ลำตัว สามารถติดอาวุธได้ 6 จุด (ใต้ปีกข้างละ 3 จุด) นอกจากนี้ยังมีระบบอวิโอนิกส์ที่ทันสมัยเพื่อช่วยในการบิน ทั้งระบบนำทางจีพีเอส ระบบนำทางด้วยจีพีเอส ระบบบริหารการบิน FMS ระบบข้อมูลภูมิประเทศแบบดิจิทัล กล้องบันทึกวิดีโอ ระบบเชื่อมข้อมูล LINK16 เป็นต้น

...

ต้องดีแบบไหน เอที-6 วูล์ฟเวอรีน เครื่องบินโจมตีเขี้ยวเล็บใหม่ ทอ.ไทย

ในส่วนของห้องนักบิน แม้จะเป็นเครื่องบินใบพัด แต่ก็มาพร้อมกับกลาสค็อกพิต จอภาพสีมัลติฟังก์ชันดิสเพลย์ 2 จอ แบบ CMC ระบบคอมพิวเตอร์ภารกิจ เป็นสถาปัตยกรรมแบบเดียวกับเครื่องบินโจมตีแบบ เอ-10 ซี ทันเทอร์โบลต์ ทู (A-10C Thunderbolt II) เครื่องโจมตีสนับสนุนใกล้ชิดทางอากาศที่ถูกปรับปรุงให้ทันสมัย และประสิทธิภาพดีที่สุดในการโจมตีของกองทัพอากาศสหรัฐฯ

ในส่วนจอภาพตรงหน้าที่นั่งนักบิน เป็นแบบ SparrowHawk HUD ที่สามารถแสดงข้อมูลการเดินทางอากาศ นำทางและระบบอาวุธ คันบังคับ HOTAS เหมือนกับที่ใช้ใน เอฟ-16 เก้าอี้ดีดตัวแบบ มาร์ติน เบเกอร์ ML16A Zero/Zero สามารถดีดได้ทุกความสูงและความเร็ว ระบบภาพในเวลากลางคืน และไฟในค็อกพิตและภายนอก รองรับการทำงานของหมวกนักบินแบบแสดงการเล็งอาวุธ GENTEX Scorpion Helmet-Mounted Cueing System ระบบวิทยุสื่อสารรองรับคลื่นความถี่ UHF/VHF/SATCOM
นักวิเคราะห์ต่างประเทศมองว่า ในส่วนกลาสค็อกพิตและระบบคอมพิวเตอร์ภารกิจที่ใช้พื้นฐานเดียวกับ เอ-10 ซี ถือว่า เอที-6 มีประสิทธิภาพเหนือกว่าเครื่องบินโจมตีเบาที่อยู่ในท้องตลาดเวลานี้

...

เขียวเล็บสำคัญของเจ้า เอที-6 วูลฟ์เวอรีน

ด้วยตำแหน่งติดอาวุธรวม 7 จุดใต้ปีกข้างละ 3 จุด ใต้ลำตัว 1 จุด ทำให้สามารถนำอาวุธไปทำภารกิจได้อย่างเพียงพอ และสามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม ทั้งกระเปาะปืนกล .50 คาลิเบอร์ หรือปืนใหญ่อากาศขนาด  20 มม. จรวดไม่นำวิถีขนาด 2.75 นิ้ว ไฮดรา จรวดนำวิถีด้วยเลเซอร์ APKWS อาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่พื้นแบบ เอจีเอ็ม-142 เฮลไฟร์ ระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์ GBU 12 Paveway I, GBU-58 Paveway II, GBU-49 และ GBU-59 enhanced Paveway II ระเบิดไม่นำวิถี MK 81 ขนาด 250 ปอนด์ และ MK 82 ขนาด 500 ปอนด์ 

ต้องดีแบบไหน เอที-6 วูล์ฟเวอรีน เครื่องบินโจมตีเขี้ยวเล็บใหม่ ทอ.ไทย

ทำให้เอที-6 เป็นเครื่องบินปีกตรึงแบบแรกที่สามารถยิงจรวดนำวิถีด้วยเลเซอร์ได้ รวมทั้งยังมีระบบป้องกันตัวจากอาวุธปล่อยนำวิถี ด้วยเซนเซอร์ตรวจจับการล็อกเป้าที่ปลายปีก 2 ข้าง และระบบปล่อยเป้าลวง อาวุธนำวิถีด้วยเรดาร์ (แชฟท์) และพลุลวงความร้อน (แฟลร์)

ซื้อมาไม่ได้แต่ตัวเครื่องบิน แต่ยังได้ประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการบินของไทย

กองทัพอากาศไทยจะกำหนดชื่อรุ่นว่า AT-6TH เพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมกองทัพ และความร่วมมือในด้านการป้องกันประเทศระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทย สัญญานี้ยังส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินของไทยที่ระบุไว้ใน แผน Purchase and Development ระยะเวลา 10 ปีของกองทัพอากาศ ทำให้กำลังพลของกองทัพอากาศไทยมีความได้เปรียบทางเทคโนโลยี ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศตามยุทธศาสตร์ S-Curve ที่ 11

...

AT-6TH จะเป็นสัญญาที่ 2 ที่สนับสนุนยุทธศาสตร์ S-Curve ที่ 11  โดยสัญญาแรก คือ โครงการจัดหาเครื่องบินฝึก T-6TH Texan II ในปี 2563 จำนวน 12 เครื่อง เพื่อทดแทนเครื่องบินฝึกขึ้นสูง พีซี-9 ที่ใช้งานมาอย่างยาวนาน โดยการฝึกช่างเทคนิคของกองทัพอากาศไทยจะเริ่มต้นในปี 2566 ในประเทศไทย การฝึกนักบินจะเริ่มต้นในปี 2567 ในเมือง Wichita ประเทศสหรัฐอเมริกา และกองทัพอากาศไทยจะรับมอบ AT-6TH ในปี 2567

ต้องดีแบบไหน เอที-6 วูล์ฟเวอรีน เครื่องบินโจมตีเขี้ยวเล็บใหม่ ทอ.ไทย

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย ยังโพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นต่อการจัดซื้อครั้งนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า "ในฐานะผู้แทนราษฎรที่เป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย และอดีตผู้บังคับฝูงบิน F-16 ของกองทัพอากาศ ที่มีโอกาสได้ทราบและตระหนักรู้ถึงปัญหาการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพ ผมต้องขอแสดงความยกย่องและชื่นชมผู้บังคับบัญชาและข้าราชการทุกท่าน โดยเฉพาะคณะกรรมการกำหนด TOR และคณะกรรมการจัดซื้อฯ ของกองทัพอากาศ ที่ใช้แนวทางการจัดหาแบบ Purchase and Development ในการจัดหาเครื่องบินโจมตีฝูงใหม่ในครั้งนี้ โดยคำนึงถึงการพึ่งพาตนเองและการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ภายใต้นโยบาย S Curve ตัวที่ 11 ตามที่กองทัพอากาศได้เคยมาชี้แจงกับสภาผู้แทนราษฎร และกราบขอบคุณในหัวใจของทุกท่าน ที่ต้องการปลดแอกและไม่ยอมตกเป็นทาสของต่างชาติ ที่กดทับการพัฒนาและการพึ่งพาตนเองของกองทัพอากาศมาโดยตลอด

แม้โครงการนี้ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินสูงถึง 143 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่เงินส่วนหนึ่งจะคืนกลับมาสู่การจ้างงานในประเทศ ตามสัญญาการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการร่วมมือของอุตสาหกรรมในประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด หรือ TAI รัฐวิสาหกิจของกองทัพอากาศจะทำหน้าที่ประกอบชิ้นส่วนเครื่องบิน ส่วนการพัฒนาระบบอวิโอนิกส์ การบูรณาการระบบอาวุธ และการผลิตชิ้นส่วนบางส่วนจะดำเนินการโดยบริษัท R V Connex จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนสัญชาติไทยแท้ๆ

การจัดหาแบบ Purchase and Development ของกองทัพอากาศ จะทำให้การใช้จ่ายงบประมาณการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ ที่เดิมต้องจ่ายเงินทั้งหมดให้ต่างชาติ เปลี่ยนไปเป็นจ่ายแค่บางส่วนเท่านั้น ส่วนที่เหลือจะถูกใช้จ่ายหมุนเวียนอยู่ในประเทศ เป็นทั้งการใช้จ่ายเพื่อซื้อวัตถุดิบ การจ้างแรงงาน ซึ่งจะทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ที่สำคัญก็คืองบประมาณส่วนนี้ จะถูกใช้ต่อยอดขีดความสามารถของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ที่จะเดินไปสู่การพึ่งพาตนเองได้อย่างสมบูรณ์แบบในอนาคต"

ต้องดีแบบไหน เอที-6 วูล์ฟเวอรีน เครื่องบินโจมตีเขี้ยวเล็บใหม่ ทอ.ไทย

เครื่องบินโจมตีรุ่นใหม่ ทายาทตำนานในอดีตของ ทอ.ไทย

เครื่องบินโจมตีเบา เอที-6 วูลฟ์เวอรีน ถือเป็นทายาทสืบทอดต่อมาจากเครื่องบินฝึกโจมตีเบาในตำนานของกองทัพอากาศไทยในอดีตอย่าง นอร์ท อเมริกัน ที-6 เอ/บี/ซี เท็กซ์ซาน หรือ บฝ.8 เป็นเครื่องบินฝึก 2 ที่นั่งเรียงกัน เครื่องยนต์ลูกสูบดาวใบพัด 1 เครื่องยนต์ ประจำการในกองทัพอากาศช่วง พ.ศ. 2491-2517 และมีปริมาณมากเป็นร้อยลำในอดีต เคยมีบทบาททั้งการฝึกนักบิน และการเป็นเครื่องติดอาวุธต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายตามแนวชายแดนมาแล้วอย่างโชกโชน.

ผู้เขียนโดย                : จุลดิส รัตนคำแปง
ที่มาของภาพและข้อมูล : Textron Aviationarmy-technology.comthaiarmedforce.com, วิกิพีเดีย T-6 Texan