สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีเรื่องที่น่าสนใจ และเป็นประเด็นที่กำลังฟ้องร้องกันอยู่ในศาลเยาวชนและครอบครัว เกี่ยวกับคดีฟ้องชู้ และเรียกค่าทดแทนจำนวน 5 ล้านบาท ซึ่งยังไม่ทราบว่าผลของคดีจะออกมาในรูปแบบใด โดยศาลจะต้องพิจารณาพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยว่า ฝ่ายใดจะมีน้ำหนักมากกว่ากันโดยเฉพาะพยานหลักฐานฝั่งโจทก์ ซึ่งเป็นฝ่ายกล่าวอ้างย่อมมีหน้าที่นำสืบให้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติตามประเด็นข้อกล่าวอ้างในคำฟ้องของตน
หากโจทก์นำสืบไม่ได้ ตามที่ฝ่ายโจทก์กล่าวอ้าง ประกอบกับฝ่ายจำเลยมีพยานหลักฐาน ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่า คดีนี้ศาลก็อาจจะยกฟ้อง แต่ในทางกลับกันหากโจทก์มีพยานหลักฐาน ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่าฝ่ายจำเลย ศาลก็จะพิพากษาให้จำเลยชำระค่าทดแทนให้แก่โจทก์
ทั้งนี้ ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ได้ค่าทดแทนเป็นจำนวนเงินเท่าไร ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานในทางนำสืบของโจทก์ว่า จะนำสืบให้ศาลเห็นถึงมูลค่าความเสียหายหรือค่าทดแทนตามคำฟ้องได้หรือไม่ หากนำสืบไม่ได้ตามฟ้อง ศาลก็จะใช้ดุลพินิจในการกำหนดมูลค่าความเสียหาย หรือค่าทดแทนตามความเหมาะสม โดยจะต้องพิจารณาหลายองค์ประกอบ เช่น ตำแหน่งหน้าที่การงาน การศึกษา หน้าตาทางสังคม ชื่อเสียงวงศ์ตระกูล และจำนวนผู้ที่รับรู้เรื่องราวในเชิงชู้สาวระหว่างสามีโจทก์กับจำเลย เป็นต้น
ส่วนฝ่ายจำเลยยื่นคำให้การสู้คดีว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากเมื่อโจทก์ซึ่งเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายได้ยื่นฟ้องหย่าสามีแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิ์ที่จะฟ้องจำเลยได้ และจำเลยเป็นเพียงหุ้นส่วนทางธุรกิจเท่านั้น
คดีนี้มีประเด็นที่น่าสนใจ และเป็นข้อกฎหมายที่ต้องให้ศาลวินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง โดยคู่ความทั้งสองฝ่ายไม่จำเป็นต้องนำสืบเกี่ยวกับประเด็นนี้ เป็นอำนาจของศาลที่จะวินิจฉัยชี้ขาดเองได้ คือ เมื่อโจทก์ ซึ่งเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายได้ยื่นฟ้องหย่าสามีแล้ว โจทก์ยังมีสิทธิ์ที่จะฟ้องจำเลยหรือไม่
...
เบื้องต้นต้องพิจารณาก่อนว่า ความสิ้นสุดของการสมรสนั้น กฎหมายกำหนดไว้อย่างไร โดยการสิ้นสุดแห่งการสมรส กำหนดไว้ 3 กรณี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1501 การสมรสย่อมสิ้นสุดลงด้วยความตาย การหย่า หรือศาลพิพากษาให้เพิกถอน ดังนั้นเมื่อพิจารณาหลักกฎหมายดังกล่าวแล้วจะเห็นได้ว่า เพียงแต่การยื่นฟ้องหย่า โดยศาลยังมิได้มีคำพิพากษา กรณีนี้จึงยังมิได้ทำให้การสมรสสิ้นสุดลง
เมื่อการสมรสยังไม่สิ้นสุดลง โจทก์จึงมีสิทธิ์โดยชอบที่จะยื่นฟ้องหญิงอื่นที่มาแสดงตนโดยเปิดเผยกับสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของตน เพื่อเรียกค่าทดแทนได้
นอกจากนี้ยังมีคำพิพากษาที่น่าสนใจครับ เป็นกรณีของสามีได้ยื่นฟ้องผู้ที่ล่วงเกินภริยาของตนในทางชู้สาว แต่การฟ้องคดีกลับยื่นฟ้องหลังจากที่มีการจดทะเบียนหย่ากันแล้ว ประเด็นที่น่าสนใจ คือ สิทธิ์ที่จะนำคดีมายื่นฟ้องต่อศาลจะระงับตามไปด้วยเหตุของการหย่าหรือไม่ โดยศาลได้วินิจฉัยว่า ในขณะที่จำเลยได้ล่วงเกินภรรยาของโจทก์ในทางชู้สาวนั้น โจทก์กับภรรยายังคงมีสถานภาพสมรสเป็นสามีและภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้ในภายหลังจะมีการจดทะเบียนหย่าก็ตาม โจทก์ก็ยังมีสิทธิ์ที่จะนำคดีมาฟ้องจำเลยต่อศาลได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2590/2561 บทบัญญัติมาตรา 1523 วรรคสอง แห่ง ป.พ.พ.ให้สามีมีสิทธิ์เรียกค่าทดแทนจากผู้ที่ล่วงเกินภริยาไปในทางชู้สาวได้ แม้ภริยาสมัครใจหรือยินยอมให้ล่วงเกินไปในทำนองชู้สาว สามีก็มีสิทธิ์ฟ้องเรียกค่าทดแทนตามวรรคสองนี้ได้ เพราะการฟ้องเรียกค่าทดแทนตามวรรคสองนี้เป็นสิทธิ์ของสามีโดยเฉพาะ และสิทธิ์ในการฟ้องของสามีย่อมเกิดขึ้นตั้งแต่ขณะที่มีการล่วงเกินไปในทางชู้สาวกัน จำเลยที่ 2 มีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 ทางชู้สาวอันเป็นการล่วงเกินในทางชู้สาวต่อจำเลยที่ 1 ในขณะที่จำเลยที่ 1 ยังเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ สิทธิ์ของโจทก์ตามบทบัญญัติดังกล่าวย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่ขณะที่ยังไม่มีการหย่า แม้ภายหลังมีการจดทะเบียนหย่ากันแล้ว สิทธิ์ในการฟ้องก็หาได้หมดสภาพ หรือถูกลบล้างตามไปด้วยไม่ โจทก์มีสิทธิ์เรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว
สุดท้ายนี้ อยากฝากไว้เป็นข้อคิดสำหรับทุกท่านที่ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตครอบครัว ควรที่จะเคลียร์ตัวเองให้เรียบร้อยก่อนที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาในอนาคตครับ
สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมได้ที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ
Facebook: ทนายเจมส์ LK
Instagram: james.lk
...