- ศธ.ย้ำ 1 พ.ย.นี้ เปิดเรียนพร้อมกัน ตามแผน 5 รูป สอน "On-Site" ต้องพร้อม ห่วงโควิดปะทุ จี้ระดมฉีดวัคซีนนักเรียนตามเป้า โรงเรียนต้องมีแผนเผชิญเหตุรับมือ
- ผวา "เปิดประเทศ" ทำโควิดปะทุ ห่วง 17 จว.ท่องเที่ยว การ์ดตก-นักท่องเที่ยวไม่ปฏิบัติตามมาตรการ สธ. จับตา ศบค.ชุดใหญ่ เตรียมถกแผนรองรับการเปิด ปท.-การระบาดโควิดในปี 2565
- ศบค.ชุดใหญ่ เตรียมถกแผนรองรับการเปิดประเทศ-การระบาดโควิด-19 ในปี 2565 คนในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 17 จังหวัด กังวลคนการ์ดตก ศธ.ย้ำเปิดเรียนเทอม 2 พร้อมกัน ระดมฉีดวัคซีนนักเรียนต่อเนื่องตามเป้า-ครู 2 โดส 85%
1 พ.ย.2564 นี้ นอกจากจะเป็นวัน "เปิดประเทศ" รับนักท่องเที่ยว 46 ชาติ โดยไม่ต้องกักตัวแล้ว ยังเป็น "วันเปิดเทอม" ในภาคเรียนที่ 2 ของปีการศึกษา 2564 หลังโรงเรียนต้องปิดตัวลง หยุดการเรียนการสอนแบบ On-site มานานกว่า 1 ปี จากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ขณะนี้โรงเรียนทั่วประเทศต่างกำลังเตรียมความพร้อม และประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยในพื้นที่ เพื่อต้อนรับการเปิดภาคเรียนในต้นสัปดาห์หน้า แต่ยังพบว่ามีอีกหลายโรงเรียนยังไม่สามารถเปิดการเรียนการสอนได้ทันตามกำหนด
นอกจากนี้ ต้องจับตาการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ 29 ต.ค.นี้ โดยในวงประชุมจะมีการพิจารณาแนวทางที่ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน ด้านการแพทย์และสาธารณสุข เตรียมเสนอแผนการให้บริการวัคซีนโควิด การปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยทั่วประเทศ การปรับมาตรการป้องกันควบคุมโควิดแบบบูรณาการ รวมถึงการพิจารณาความก้าวหน้าแผนรองรับการเปิดประเทศ และการระบาดโควิดฯในปีหน้าด้วย
...
ศธ.ยันเปิดเรียนเทอม 2 พร้อมกันตามกำหนด
น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 2 วันที่ 1 พ.ย.ว่า ศธ.จะเปิดเรียนภายใต้มาตรการความปลอดภัยด้านสุขภาพ ซึ่งจะมีมาตรการในการเปิดเรียนเป็นแนวปฏิบัติอย่างเป็นทางการ เนื่องจากขณะนี้เรายังมีความซับซ้อนของพื้นที่ตามข้อกำหนดของ ศบค. ที่แบ่งโซนสีตามความรุนแรงการแพร่ระบาดของโรค ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการการเปิดเรียนเสนอให้ ศบค.พิจารณาร่วมด้วย แต่สิ่งที่แน่นอนที่สุดของการเปิดเรียน คือ ครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน จะต้องรับวัคซีนให้ถึงเป้าที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ ศธ.ได้จัดทำตัวเลขโรงเรียนที่สามารถเปิดเรียนได้แล้วว่า มีอยู่จำนวนกี่แห่งบ้าง ยืนยันวันที่ 1 พ.ย.มีการเปิดเรียนแน่นอน แต่เปิดรูปแบบ On-Site ได้กี่เปอร์เซ็นต์นั้น จะมีมาตรการกำหนดชัดเจน
1 พ.ย.เปิดเรียน 5 รูปแบบ "On-site" ต้องทำแบบประเมินความพร้อม
ด้าน ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ศธ.จะประกาศเปิดเรียนในวันที่ 1 พ.ย.นี้ 5 รูปแบบ ได้แก่
- 1) การเรียนแบบ On-site เป็นการเดินทางมาเรียนที่โรงเรียน ซึ่งเหมาะสำหรับโรงเรียนที่มีปริมาณนักเรียนน้อย จัดพื้นที่แบบเว้นระยะห่าง และเข้มงวดการสวมหน้ากากอนามัยตามมาตรการด้านสาธารณสุข
- 2) การเรียนแบบ On-Air ผ่านระบบมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม หรือ DLTV
- 3) การเรียนแบบ On-Line ครูผู้สอนทำการสอนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
- 4) การเรียนแบบ On-demand ผ่านระบบแอปพลิเคชัน
- 5) การเรียนแบบ On-hand ครูผู้สอนเดินทางไปแจกเอกสารใบงานให้นักเรียนที่บ้าน
ทั้งนี้หากโรงเรียนใดต้องการเปิดเรียนในรูปแบบ On-site จะต้องทำแบบประเมินความพร้อมโรงเรียน 44 ข้อของ Thai Stop Covid โซนพื้นที่การแพร่ระบาดของโรค และปริมาณการฉีดวัคซีนของครูและนักเรียน จากนั้นโรงเรียนต้องทำเรื่องเสนอคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด ส่วนโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะเปิดเรียนในรูปแบบปกติได้กี่แห่งนั้น ได้ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) สำรวจและส่งข้อมูลให้คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาแล้ว
...
เร่งฉีดวัคซีน "นักเรียน" ให้ได้ตามเป้า "ครู" อย่างน้อย 85%
พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผอ.ศูนย์สำนักสื่อสารความเสี่ยง กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยรองโฆษก ศบค. กล่าวถึงสถานการณ์โควิดฯ ในไทยว่า การฉีดวัคซีนให้นักเรียนตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค.2564 ฉีดไปแล้ว 1.9 ล้านคน จากที่แสดงความประสงค์ 4.5 ล้านคน ต้องระดมฉีดต่อเนื่อง พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด ต้องฉีดวัคซีนให้ครูและบุคลากรการศึกษาครบ 2 โดส อย่างน้อย 85% จึงจะเปิดการสอนที่โรงเรียนได้ จากการสำรวจพบบุคลากรการศึกษาต้องมาฉีดเพิ่มอีก 131,238 คน ขณะที่ความครอบคลุมการได้รับวัคซีนในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ จังหวัดที่มีความครอบคลุมเข็มที่ 1 เกิน 50% ได้แก่ สงขลาและยะลา ขณะที่ จ.นราธิวาส 43.9% จ.ปัตตานี 45.7% ส่วนความครอบคลุมกลุ่มผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ ค่าเฉลี่ย 4 จังหวัดในผู้สูงอายุ 59.4% ผู้มีโรคประจำตัว 57.9% หากใครมาฉีดไม่ได้ให้แจ้งผู้นำชุมชน เพื่อให้หน่วยบริการมาฉีดได้ที่บ้าน
4 จว.ชายแดนใต้ ยังน่าห่วง จี้ฉีดวัคซีน-จำกัดวงแพร่ระบาด
พญ.สุมนี ยังกล่าวต่อว่า ส่วนสถานการณ์โควิด-19 ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แนวโน้มผู้ติดเชื้อเริ่มทรงตัวและค่อยๆ ลดลง กระทรวงสาธารณสุขติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ทุกวัน มีการเร่งรัด 2 เรื่องคือ 1. เร่งรัดให้ครอบคลุมการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นในกลุ่มประชาชนทั่วไป กลุ่มเสี่ยง 608 กลุ่ม นักเรียน นักศึกษา และแรงงานในพื้นที่ 2. การจำกัดวงไม่ให้แพร่ระบาดเป็นวงกว้าง มีหน่วยงานสนับสนุนลงไปสอบสวนโรค 382 ทีม ตรวจคัดกรองไว แยกกัก รักษา ให้บริการฉีดวัคซีน ผู้เสียชีวิตในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ อายุมากกว่า 60 ปี กลุ่มผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค และกว่า 90% ของกลุ่มผู้เสียชีวิตไม่ได้รับวัคซีน
...
ให้สื่อช่วยประชาสัมพันธ์ชวนคนฉีดวัคซีน
พญ.สุมนี กล่าวอีกว่า ดังนั้นเป้าหมายหลักในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ การระดมเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยงได้มากที่สุด ขอความร่วมมือสื่อมวลชนในท้องถิ่น ขอให้ช่วยประชาสัมพันธ์การระดมฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว และขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ หากมีบุคคลที่รู้จักญาติสนิท เพื่อนบ้าน หรือผู้มีโรคประจำตัว ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี หรือหญิงตั้งครรภ์ช่วยแจ้งหรือสนับสนุนให้มาฉีดวัคซีนให้มากขึ้น เพื่อลดการป่วยหนักและการเสียชีวิต ส่วนการใช้แพลตฟอร์มไทยแลนด์พลัส หลังวันที่ 1 พ.ย. ศบค.ประกาศข้อกำหนดฉบับที่ 35 ปรับระบบการลงทะเบียนผู้เดินทางจากต่างประเทศ จากระบบ COE ที่ใช้อยู่เดิมมาเป็นไทยแลนด์พลัส กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงรายละเอียดดังกล่าวแล้วและประชาสัมพันธ์ในเว็บไซต์ต่างๆ ไปทุกสถานทูตที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ผู้เดินทางเข้าประเทศไทยตามเงื่อนไขให้สอบถามรายละเอียดได้จากสถานทูตในประเทศนั้นๆ
โรงเรียนต้องมีแผนเผชิญเหตุ
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ยังกล่าวถึงการเปิดสถานศึกษาในวันที่ 1 พ.ย.ว่า กรมอนามัยร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการอย่างใกล้ชิด ในการจัดทำเกณฑ์ประเมินความพร้อมของสถานศึกษาในการเปิดภาคเรียน ปัจจัยหลัก คือ จำนวนครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้รับวัคซีนที่ขณะนี้ได้รับไปมากกว่าร้อยละ 85 สำหรับนักเรียนเป็นเรื่องน่ายินดี ที่มีผู้แสดงความประสงค์มาฉีดวัคซีนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะพบอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์น้อย ที่สำคัญทุกโรงเรียนโดยเฉพาะในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ต้องมีแผนเผชิญเหตุ อยากให้พ่อแม่ผู้ปกครองดูกลุ่ม 608 ในบ้านว่า ได้รับวัคซีนครบแล้วหรือไม่ เพราะเมื่อเปิดเรียนโอกาสที่เด็กจะติดเชื้อโควิดยังมี แม้จะรับวัคซีนแล้ว แต่เด็กจะมีอาการไม่มากหรือไม่แสดงอาการ แต่อาจนำเชื้อมาแพร่ที่บ้านให้กับกลุ่ม 608 ได้
...
รอ "ไฟเซอร์" ขอปรับฉีดเด็กเล็ก "ซิโนฟาร์ม" รอข้อมูลเพิ่มเติม
ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงความคืบหน้าการฉีดวัคซีนในเด็กว่า ขณะนี้ อย.อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ฉีดในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปเท่านั้น ล่าสุดทราบข้อมูลมาว่า คณะที่ปรึกษาในองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา ให้การยอมรับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กอายุ 5-11 ปีแล้ว ขณะนี้รอให้มีการอนุมัติ ส่วนไทยคาดว่าบริษัทไฟเซอร์ ประเทศไทย จะนำข้อมูลมาเพื่อขอปรับทะเบียนการฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปีต่อไป สำหรับวัคซีนซิโนฟาร์มที่ได้ขอขึ้นทะเบียนฉีดในเด็ก 3 ปีขึ้นไปนั้น อย.ยังรอข้อมูลความปลอดภัยเพิ่มเติม จากบริษัทผู้ผลิตอยู่ หากได้มาครบแล้วจะพิจารณาทันที
จับตา ศบค.ชุดใหญ่จ่อถกแผนเปิดประเทศ
วันที่ 29 ต.ค.นี้ ศบค.ชุดใหญ่จะจัดประชุมโดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. เป็นประธาน เพื่อพิจารณาแนวทางที่ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข เตรียมเสนอแผนการให้บริการวัคซีนโควิด-19 การปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยทั่วราชอาณาจักร การปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 แบบบูรณาการ รวมถึงพิจารณาความก้าวหน้าแผนรองรับการเปิดประเทศ และการแพร่ระบาดโควิดฯ ปี 2565
คนพื้นที่นำร่อง 17 จว.กังวลโควิดฯ ระบาดหลังเปิดเมือง
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า กรมได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ความกังวลกับการเปิดเมือง เปิดประเทศ เริ่ม 1 พ.ย.2564” ระหว่างวันที่ 14-25 ต.ค. ในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวใน 17 จังหวัด พบว่าประชาชนมีความกังวล โดยเรื่องที่กังวลมากที่สุดคือ การเกิดระบาดระลอกใหม่ ประชาชนการ์ดตกและไม่ป้องกันตนเอง สถานประกอบการ สถานที่ท่องเที่ยวไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด สำหรับสถานประกอบการที่น่ากังวลมากที่สุดว่าจะเป็นคลัสเตอร์ใหม่หลังเปิดเมือง คือ สถานบันเทิง ผับ บาร์ ตามด้วยขนส่งสาธารณะและสถานที่ท่องเที่ยว
เร่งฉีดวัคซีนพื้นที่ท่องเที่ยว ครอบคลุมทุกจังหวัด
นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการที่ประชาชนเห็นว่าควรเพิ่มเพื่อทำให้เชื่อมั่นว่าเปิดเมือง เปิดประเทศแล้วจะปลอดภัย 5 อันดับแรก ได้แก่ เร่งฉีดวัคซีนให้ทุกคนครบ 2 เข็ม ครอบคลุมทุกจังหวัด ร้อยละ 70 ขึ้นไป คุมเข้มการลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายตามแนวชายแดน กำกับติดตามการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคของสถานประกอบการและประชาชนอย่างเคร่งครัด เร่งฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยวครบ 2 เข็ม ครอบคลุมร้อยละ 70 ขึ้นไป และสนับสนุนชุดตรวจ ATK ให้ทุกคนในพื้นที่ท่องเที่ยวเพื่อเฝ้าระวังการติดเชื้อ กรมได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 17 จังหวัด จัดให้ผู้มารับบริการประเมินสถานประกอบการว่าทำตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่ อย่างน้อยวันละ 5 คนต่อ 1 ร้าน หากมีการร้องเรียนสถานประกอบการใดก็ตาม เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองต้องไปตรวจสอบทุกกรณี
ผู้เขียน : หงเหมิน
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun