เซอร์ไพรส์ทั้งประเทศ “นายกรัฐมนตรี” ประกาศลั่นกลองส่งสัญญาณให้ “คนไทยพร้อมเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัว” ในประเทศเสี่ยงต่ำแล้วต้องเป็นผู้ฉีดวัคซีนครบโดส
เซอร์ไพรส์นี้เริ่มวันที่ 1 พ.ย. ตามด้วย “ปลดล็อกสถานบันเทิง” อนุญาต นั่งดื่มเหล้า เบียร์ ในร้านครบวงจรสอดรับเปิดประเทศในวันที่ 1 ธ.ค. เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ให้ “พี่น้องคนไทย” เริ่มต้นทำมาหากินใหม่หลังธุรกิจเจ๊งเซ่นพิษโควิดฟุบยาวเกือบ 2 ปี
แต่การเปิดประเทศในสถานการณ์ “ยอดผู้ติดเชื้อหลักหมื่น...เสียชีวิตหลักร้อยรายวัน” แล้วศักยภาพระบบตรวจคัดกรองหาเชื้อยังมีข้อจำกัดอีกมาก และการกระจายวัคซีนครบสองเข็มอยู่ที่ร้อยละ 33 ของประชากร ต้องเร่งฉีด ครบโดสครอบคลุมอย่างน้อย 70% ก่อนเปิดประเทศอย่างเป็นทางการในไม่กี่วัน
ทำให้คนไทยกังวลกับความเสี่ยงการแพร่เชื้อจากนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า
...
การเปิดประเทศขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ดีขึ้นแล้ว “ไม่กระทบความมั่นคงด้านสุขภาพของคนไทย” สามารถทำได้โดยยึดหลักมาตรการสากล
4 ประการ คือ ประการแรก... “กระจายวัคซีน” ต้องมีการฉีดครบโดสครอบคลุมทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 90% ด้วยการฉีดวัคซีนเชื้อตายสองเข็มแล้วต้องต่อเข็มสามจากวัคซีนชนิดอื่น
ลักษณะแบบสูตรไขว้ 2 บวก 1 ในระยะไม่เกิน 3-4 เดือน จะสามารถ ครอบคลุมป้องกันเชื้อไวรัสได้ดีระดับหนึ่ง เพราะเมื่อใดก็ตาม “เปิดประเทศ ต้อนรับคนต่างชาติ” ย่อมมีโอกาสความเป็นไปได้เสมอ “เชื้อไวรัสสายพันธุ์ต่างประเทศ” ที่มีความแปรปรวนสูงต่างจากเชื้อไวรัสระบาดในไทยอยู่นี้จะ หลุดรอดเข้ามา
ถ้าว่า “คนไทยไม่มีเกราะป้องกันที่ดี” จากการฉีดวัคซีนย่อมไม่มีสิ่ง ต้านทานได้แน่ ผลที่จะตามมาเชื้อไวรัสสายพันธุ์ต่างประเทศจะเข้าควบรวมผสม สายพันธุ์ในไทย กลายเป็นความผิดเพี้ยนทางรหัสพันธุกรรมใหม่ แล้วก่อให้ เกิดปัจจัยสำคัญต่อ “เชื้อดื้อวัคซีนที่มีใช้อยู่ในไทยได้” ในอนาคตตามมา
ประการที่สอง...“การคัดกรองต้องครอบคลุมทุกพื้นที่ได้เร็ว” ด้วยการตัดขั้นตอนกระบวนการ พิธีรีตองออกทั้งหมด เพื่อการคัดกรองเข้าถึงง่าย ครอบคลุมรวดเร็ว โดยไม่ต้องถามคนนั้นเสี่ยงสูงหรือไม่
เพราะนับแต่ “เปิดรับคนต่างชาติ” แล้วเชื้อไวรัสสายพันธุ์ไม่แสดงอาการ มีโอกาสเข้ามาได้ทุกพื้นที่แน่ๆ ดังนั้น ถ้ามี “การติดเชื้อปะทุพื้นที่ใด” ทุกคนมีความเสี่ยงสูงเท่ากัน “การคัดกรองต้องไม่มีข้อจำกัด” ในส่วน “ชุด ตรวจเชื้อ Antigen test kit (ATK)” ต้องเป็นยี่ห้อมีประสิทธิภาพมากกว่า ที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ด้วย
ประการที่สาม...“ยารักษาผู้ป่วยต้านไวรัส” ต้องมีพร้อมแจกจ่ายให้คนไข้ในนาทีแรกที่ตรวจพบการติดเชื้อได้ทันที เช่น ฟาวิพิราเวียร์ โมโนพิรา เวียร์ เพื่อสร้างแรงกดดันให้เชื้อสายพันธุ์ต่างประเทศที่เข้ามาภายหลังเปิดประเทศนี้ ป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสเกิดการดื้อยาขึ้น...ทั้งต้องส่งเสริมการใช้ “ฟ้าทะลายโจร-กระชายขาว” เข้ามาช่วยให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น รวมถึงการเร่งนำ “ยาฆ่าพยาธิ ไอเวอร์เมคติน” ที่พิสูจน์สามารถได้ผล
...
กรณี “การติดเชื้อโควิดระยะแรก” เข้ามาช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสายพันธุ์ต่างประเทศกระจายออกไปเป็นวงกว้างก่อนก็ได้ อันเป็นการลดปัญหาขาดแคลนยาอยู่นี้
ประการสุดท้าย... “คนไทยต้องรับผิดชอบร่วมกัน” ตั้งแต่ในจังหวัดแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ผู้ประกอบการเกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยว ชุมชน ตลาด ต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะประชาชนต้องช่วยกัน ระแวดระวังป้องกันตนเอง ยึดหลักอนามัยส่วนบุคคลดูแลสุขภาพเข้มงวดสูงสุด
“หากดำเนินการครบตาม 4 ประการ ประเทศไทยจะเปิดเวลาไหนก็ได้ แต่ด้วยตอนนี้ยังขาดองค์ประกอบความพร้อมปัจจัยหลายด้าน แถมมีข้อจำกัดสำคัญอีกมากมาย ดังนั้นการรับนักท่องเที่ยวโดยไม่กักตัวย่อมมีความเสี่ยงสูงเป็นธรรมดาแล้วถามว่าถ้าระบาดซ้ำรุนแรงกว่าเดิมใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ...?”
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ว่า “ด้วยศักยภาพประเทศไทยที่ “ฉีดวัคซีนครบสองเข็ม ยังไม่ครอบคลุม 90%” เพราะปริมาณที่ได้รับเข้ามาค่อนข้างแบบกะปริบ
กะปรอยไม่สม่ำเสมอตามต้องการด้วยซ้ำ เมื่อเป็นเช่นนี้ควร “ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง” ที่ประสิทธิภาพ ได้ผลเทียบเท่า “ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ” ทั้งประหยัดกว่าอย่างน้อย 5 เท่า”
...
แก้ปัญหาวัคซีนมีจำนวนไม่พอได้แล้วยังขยายให้ประชาชนครอบคลุมทุกพื้นที่ได้รวดเร็ว โดยเฉพาะ “ลดการเกิดผลข้างเคียงน้อยลง” ด้วยการใช้กลวิธีฉีดเข้าชั้นผิวหนังปริมาณ 0.1 ซีซี แทนการฉีดเข้ากล้าม 0.5 ซีซี เช่น เนเธอร์แลนด์มีการศึกษากับอาสาสมัคร พบว่า ระดับแอนติบอดีฉีดครบ 2 สัปดาห์ สูงเท่าการฉีดเข้ากล้ามด้วย ทั้งยังมี “คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลา นครินทร์ และ รพ.จุฬาลงกรณ์” ก็ทดลองการฉีดวัคซีนเข้าใต้ผิวหนังได้
ผลดี “ประสิทธิภาพใกล้เคียงกับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ” อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นน้อยลงมาก
มักเป็นอาการบวม แดงเล็กน้อยบริเวณผิวหนังเท่านั้น ส่วนอาการไข้ ปวด เมื่อย สมองอักเสบ และลิ่มเลือดอุดตันไม่ปรากฏใดๆ อีกทั้งเทคนิคฉีดเข้าใต้ผิวหนังใช้มา 37 ปีแล้ว ในวัคซีนพิษสุนัขบ้าแม้แต่ไข้หวัดใหญ่ปัจจุบัน ก็ฉีดด้วยวิธีนี้ที่มีประสิทธิภาพเท่ากันในด้านกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และผลข้างเคียงน้อยกว่าเช่นกัน
สถานการณ์วัคซีนมีจำกัดแล้วต้องเปิดประเทศเร็วๆนี้ เทคนิค “ฉีดใต้ผิวหนัง” น่าจะเป็นอีกทางเลือกได้แล้วการระบาดในไทยยังมีสัดส่วนมากจาก “จำนวนตรวจคัดกรองทำได้น้อยแต่ยอดติดเชื้อคงสูง” มีเพียงแต่ตัวเลขผู้ป่วยอาการหนักเท่านั้นที่ลดลง จนกลายเป็นปัจจัยให้บางคนมั่นใจต่อการเปิดประเทศไม่กักตัวตามมานี้...ประเด็นนี้อาจเป็น “ความคิดคลาดเคลื่อน” ธรรมชาติไวรัสมักแพร่ระบาดตามวงจร เมื่อถึงจุดพีกสูงสุดจะกลายเป็นแพร่ไม่แสดงอาการแล้วถึงจุดหนึ่งก็ยกระดับมาระบาดแบบแสดงอาการอีก
ดั่งเช่นในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา “โควิด-19 ระบาดลักษณะนี้ตลอด” ที่จำเป็นต้องเรียนรู้กระบวนการของโรคจากสิ่งปรากฏมาแล้วด้วย
...
สิ่งที่กังวลต่อไปเมื่อเปิดประเทศในสถานการณ์ “ผู้ติดเชื้อหลักหมื่น และเสียชีวิตหลักร้อยรายวัน” ก็มีโอกาสก่อให้เกิดการระบาดหนักซ้ำรอยเดิม เป็นไปสูง ผลตามมา “ผู้ติดเชื้ออาการหนักเพิ่มสูงขึ้น” แล้วนำมาสู่ “กระบวนการเชื้อไวรัสดื้อวัคซีน” ที่มีผลต่อเนื่องไปถึง “ดื้อยา” ตามมาอีกมากมาย
อันเกิดจาก “ขาดมาตรการป้องกันรับมือขั้นพื้นฐาน 4 ประการ” ในการ ตอบโต้กรณีการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ผสมที่จะมี “ชั้นเชิงเก่งกล้าแพรวพราวกว่าเชื้อทั่วไป” โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตาระบาดใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งข้อสงสัยว่าเชื้อไวรัสระบาดนั้นอาจเป็นมากกว่าสายพันธุ์เดลตาทั่วไป
ย้อนมาดู “โควิดระบาดทั่วโลก” ในหลายประเทศฉีดวัคซีนครบสองเข็ม กลับมีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงขึ้น เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ที่ฉีดครบโดสครอบคลุมประชากรราว 5 เดือน ก็เริ่มปรากฏพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก ดังนั้น
“การฉีดวัคซีนประสิทธิภาพสูงที่มีอยู่ตอนนี้ครบสองเข็มปลอดภัยไม่ติดเชื้อ” อาจไม่จริงเสมอไปแล้ว
เรื่องเป็นปัจจัยให้ “เชื้อจากต่างประเทศ” มีโอกาสเล็ดลอดเข้ามาได้ ไม่มากก็น้อยเช่นเดิม โดยเฉพาะการติดเชื้อระยะแรกไม่เกิน 2 วัน ก่อนเดินทางเข้ามาในไทยมักตรวจหาเชื้อได้ยากพลาดพลั้งได้ง่าย
ย้ำด้วย “สถานการณ์ในไทย” ก็ไม่น่าไว้วางใจอยู่แล้วจากยอดผู้ติดเชื้อใหม่กำกวมไม่มีใครบอกได้ว่า “จำนวนการตรวจเท่าใดนำมาสู่ตัวเลขติดเชื้อหมื่นคน” ทำให้ประเมินการระบาดไม่ได้ ทั้งยังมีข่าวลือด้วยว่า “ผู้ติดเชื้อ โควิดต้องการตรวจ RT–PCR สถานพยาบาลไม่รับ” เพราะกลัวตัวเลขการติดเชื้อในพื้นที่สูงขึ้น...ต้องเข้าใจว่า การตรวจ RT-PCR เป็นระบบคัดกรอง โรคมาตรฐานที่เป็นสิ่งจำเป็นในกลไกรับมือยามระบาดหนัก หากศักยภาพการตรวจจำกัด เข้าถึงได้ยาก ไม่ทั่วถึงเพียงพอแล้วเกิดวิกฤติจะจัดการควบคุมลำบาก
สุดท้ายนี้...“การเปิดประเทศกระตุ้นเศรษฐกิจ” เป็นเรื่องน่ายินดี “นักท่องเที่ยวต่างชาติก็พร้อมเดินทางมาในไทย” เมื่อมาแล้ว “ต้องไม่ติดไม่แพร่เชื้อ” เพราะจะเกิดผลกระทบเชิงลบมหาศาล เหตุนี้การป้องกันโรคระบาดจำเป็นต้องประเมินสถานการณ์อันเลวร้ายที่สุดไว้ เพื่อให้มีมาตรการป้องกันรัดกุมสูงสุด
พูดภาษาดอกไม้...“เมืองไทยไม่พร้อมจาก 4 ปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น” แต่สามารถเปิดประเทศได้ ถ้ารู้จุดอ่อนแล้วแก้ไขกันไปทีละจุด เพื่อเสริม ความเข้มแข็งความมั่นคงในอนาคตก็ไม่สาย.